Krungsri Talks by โกลบอลมาร์เก็ตส์ : อย่าสู้กับเฟด

189

ช่วงต้นสัปดาห์นี้สหรัฐฯ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมกราคม เพิ่มขึ้น 6.4% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นอัตราการปรับขึ้นที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 หลังจากเพิ่มขึ้น 6.5% ในเดือนธันวาคม แต่ยังสูงกว่าการคาดการณ์ของตลาด โดยเมื่อเทียบรายเดือนดัชนี CPI เดือนมกราคมสูงขึ้น 0.5% หลังจากขยับขึ้น 0.1% ในเดือนธันวาคม ขณะที่ดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานสำหรับเดือนมกราคมปรับขึ้น 5.6% y-o-y นับเป็นอัตราต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 (กราฟด้านล่าง) เทียบกับการเพิ่มขึ้น 5.7% ในเดือนธันวาคม แต่สูงกว่าคาดเช่นกัน และเมื่อเทียบรายเดือน CPI พื้นฐานสูงขึ้น 0.4% ในเดือนมกราคม เท่ากับอัตรา 0.4% ในเดือนธันวาคม

ข้อมูลเงินเฟ้อดังกล่าวสะท้อนว่าแรงกดดันด้านราคาลดลงไม่เร็วพอ ตอกย้ำสัญญาณจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ว่าจะยังต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและมีแนวโน้มที่จะตรึงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงเป็นระยะเวลาหนึ่งหลังจากนั้น ดัชนีดอลลาร์แข็งค่าขึ้นและเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 5 สัปดาห์ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ตลาดสัญญาล่วงหน้าบ่งชี้ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 25bps ในรอบการประชุมวันที่ 21-22 มีนาคม และวันที่ 2-3 พฤษภาคม ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ขึ้นไปแตะจุดสูงสุดของวัฏจักรการคุมเข้มนโยบายนี้ที่ 5.25% ในเดือนกรกฎาคม จาก 4.50-4.75% ในปัจจุบัน

เมื่อพิจารณารายละเอียดของข้อมูล จะพบว่าเงินเฟ้อพื้นฐานรายเดือนค่อนข้างสอดคล้องกับที่ตลาดมองไว้ โดยราคาสินค้าพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่เงินเฟ้อภาคบริการที่ไม่รวมค่าเช่าที่พักอาศัยอยู่ในระดับสูงซึ่งเป็นภาพคล้ายเดิม อย่างไรก็ดี โมเมนตัมของตลาดเปลี่ยนไปตั้งแต่การประกาศตัวเลขการจ้างงานเดือนมกราคมซึ่งแข็งแกร่งอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ตลาดได้ปรับมุมมองเรื่องดอกเบี้ยสอดคล้องกับการประเมินของเฟดมากขึ้น ทั้งนี้ ภาคบริการคิดเป็นราว 2 ใน 3 ของการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคสหรัฐฯ โดยประธานเฟดได้ระบุถึงความกังวลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อในภาคบริการส่วนใหญ่ และเฟดยังคงมีภารกิจที่ต้องทำเพื่อให้มั่นใจว่าเงินเฟ้อจะลดลงในวงกว้างและอย่างยั่งยืน เรามองว่าการที่เฟดมีแนวโน้มคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงเกินคาดและอาจไม่ลดดอกเบี้ยในปีนี้ เป็นปัจจัยกดดันบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงซึ่งเราคาดว่าจะหนุนค่าเงินดอลลาร์ในช่วงที่เหลือของไตรมาสนี้ ก่อนที่เงินดอลลาร์จะกลับมาย่อตัวลงอีกครั้ง

                              

 

โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง
ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

 

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://demo.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon