THCOM ไทยคมรายงานผลประกอบการปี 2565 ประกาศจ่ายปันผล 0.50 บาทต่อหุ้น และแจ้งแผนการลงทุนในดาวเทียมที่ตำแหน่ง วงโคจร 119.5 องศาตะวันออก

84

มิติหุ้น – กำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit) ปี 2565 จำนวน 527 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 995% YoY พร้อมประกาศแผนลงทุนในดาวเทียมดวงใหม่ตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออก จำนวนรวม 15,203 ล้านบาท

มิติหุ้น – บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) (“ไทยคม” หรือ “บริษัท”)  ผู้ให้บริการดาวเทียมไทย รายงานผลประกอบการประจำปี 2565

ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 อนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับปี 2565 ในอัตราหุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นเงินประมาณ 548 ล้านบาท

บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit หรือ กำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทใหญ่ ไม่รวมกำไร(ขาดทุน) จากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้น (unrealized gain (loss) on exchange rate) ของบริษัทและการร่วมค้า และไม่รวมผลกระทบจากรายการพิเศษ) สำหรับปี 2565 จำนวน 527 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 995.3% เมื่อเทียบกับปี 2564 จำนวน 48 ล้านบาท ทั้งนี้ แม้รายได้จากการขายและการให้บริการดาวเทียมลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าจากการลดลงของลูกค้าบรอดคาสต์ในประเทศโดยเฉพาะลูกค้าราชการ แต่ต้นทุนในการให้บริการก็ลดลงเช่นกันจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างต้นทุนจากการสิ้นสุดลงของสัมปทานดาวเทียม ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

บริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการในปี 2565 จำนวน 2,927 ล้านบาท ลดลง 11.4% จาก 3,303 ล้านบาทในปี 2564 เป็นผลมาจากการลดลงของรายได้จากการให้บริการลูกค้าบรอดคาสต์ในประเทศ รวมถึงการลดลงของรายได้จากการให้บริการลูกค้าบรอดแบนด์ต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ต้นทุนขายและการให้บริการในปี 2565 มีจำนวน 1,500 ล้านบาท ลดลง 36.1% จาก 2,349 ล้านบาทในปี 2564 จากการสิ้นสุดลงของสัมปทานดาวเทียมซึ่งทำให้ต้นทุนค่าเสื่อมราคาดาวเทียมและต้นทุนค่าสัมปทานลดลง

โดยบริษัทมีผลกำไรสุทธิในปี 2565 เป็นจำนวน 42 ล้านบาท คิดเป็นผลกำไรต่อหุ้น 0.04 บาท ลดลง 70.7% เมื่อเทียบกับผลกำไรสุทธิในปี 2564 จำนวน 144 ล้านบาท สาเหตุหลักจาก (1) การบันทึกการด้อยค่าของดาวเทียมเป็นจำนวน 259 ล้านบาทในไตรมาสที่ 3/2565 (2) กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิจำนวน 120 ล้านบาท ลดลง 67.6% จาก 369 ล้านบาทในปี 2564 และ (3) ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทย่อยและการร่วมค้าจำนวน 306 ล้านบาท จากการอ่อนค่าของสกุลเงินกีบเมื่อเทียบกับสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ ทำให้เกิดผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากการปรับปรุงมูลค่าหนี้สินสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยอัตราการอ่อนค่าของสกุลเงินกีบเมื่อเทียบกับสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ มีความผันผวนขึ้นมากในปี 2565 แต่เริ่มมีแนวโน้มที่ทรงตัวขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ต่อเนื่องถึงเดือนมกราคม 2566

ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัท มีมติอนุมัติให้บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด (“STI”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของไทยคม ดำเนินการลงทุนในดาวเทียมของชุดข่ายงานดาวเทียมวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก  โดยมีกรอบวงเงินการลงทุนสูงสุดไม่เกิน 15,203 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) (“การลงทุนในโครงการดาวเทียม”) ซึ่งประกอบด้วย (ก) ค่าธรรมเนียมชุดข่ายงานดาวเทียมวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก และ 120 องศาตะวันออก และค่าธรรมเนียมชุดข่ายงานดาวเทียมวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก จำนวนเงินประมาณ 797 ล้านบาท  และ (ข) การก่อสร้างดาวเทียมของชุดข่ายงานดาวเทียมวงโคจร 119.5 องศาตะวันออกจำนวน 3 ดวง และอื่นๆที่เกี่ยวข้องในวงเงินประมาณ 433.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 14,405 ล้านบาท

ทั้งนี้ การสร้างดาวเทียมเฉพาะของชุดข่ายงานดาวเทียมวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการให้ทันก่อนที่ดาวเทียมไทยคม 4 จะหมดอายุลง เพื่อให้บริษัทสามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการบริษัทจึงอนุมัติให้ STI ดำเนินการลงทุนก่อสร้างดาวเทียมของชุดข่ายงานดาวเทียมวงโคจร 119.5 องศาตะวันออกก่อน  สำหรับวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก STI ต้องมีดาวเทียมเพื่อรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ภายในระยะเวลา 3 ปี ทำให้บริษัทและ STI ยังคงมีเวลาอีกระยะหนึ่งในการพิจารณาการลงทุนโครงการดาวเทียมวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก

การลงทุนในโครงการดาวเทียมในครั้งนี้ ถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ทำให้การดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทมีความต่อเนื่องในการให้บริการลูกค้าสร้างความเชื่อมั่นต่อลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นการรักษาฐานลูกค้าเดิมที่อยู่ภายใต้ดาวเทียมวงโคจร 119.5 องศาตะวันออกในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนและนำมาซึ่งการสร้างมูลค่าเพิ่มและผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทในระยะยาว

สำหรับการลงทุนในโครงการดาวเทียมตามแผนงานข้างต้นนั้น บริษัทและ STI จะใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน โดยเบื้องต้นมีแผนจะเข้ารับการสนับสนุนด้านการเงินในรูปของสัญญาให้สินเชื่อจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ในวงเงินประมาณร้อยละ 65 – 85 ของมูลค่าการลงทุนโดยรวม สำหรับเงินทุนในส่วนที่เหลือ คาดว่าจะมาจากเงินที่ไทยคมจะเพิ่มทุนให้ STI และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ STI โดย ณ สิ้นปี 2565
ไทยคมมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด และเงินลงทุน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,848 ล้านบาท อีกทั้งบริษัท ยังมีวงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้ใช้งาน จำนวนรวมประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อการลงทุนโครงการดาวเทียม

ในส่วนของกลุ่มบริษัทในเครือ บริษัท ลาว เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (แอลทีซี) ในประเทศลาว มีจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ ณ สิ้นปี 2565 รวมทั้งสิ้น 2.33 ล้านราย เพิ่มขึ้นจาก 2.01 ล้านราย ณ สิ้นปี 2564 และยังคงมีส่วนแบ่งในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นอันดับหนึ่ง โดยแอลทีซี มีการฟื้นตัวที่ดีเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า มีการเติบโตของกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นจากการเปิดตัวแบรนด์ T-PLUS และมีกำไรจากการดำเนินงานปกติอย่างต่อเนื่อง

 

 

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://demo.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon