มิติหุ้น – ดร.ศรีหทัย พราหมณี ผู้จัดการด้าน AIS The StartUp กล่าวว่า “การเตรียมตัวให้พร้อมในทุกด้านของ startup สำหรับในช่วงเวลาแห่งการขยายตัว คือหัวใจที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว การจัดกิจกรรม IPO Brotherhood ในรูปแบบของ Exclusive Knowledge Sharing จากเรา เป็นความตั้งใจที่จะตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าว เพราะความโดดเด่นของ startup จะอยู่ที่ขีดความสามารถในการทำธุรกิจที่สามารถแก้ pain point ของลูกค้าได้จากนวัตกรรมต่างๆ แต่ประสบการณ์ในการบริหารจัดการองค์กรใน 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย IT Infrastructure Management หรือการวางโครงสร้างของระบบไอที, ข้อกฎหมายในธุรกิจดิจิทัล และวิธีการจัดการกับการสื่อสารในช่วงวิกฤติ อาจจะยังไม่เชี่ยวชาญ นี่จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น เพื่อช่วยติดอาวุธให้แก่ startup ตามเป้าหมายของเอไอเอส
นายศุภชัย พานิชายุนนท์ รักษาการหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เอไอเอส กล่าวว่า “การทำธุรกิจในยุคนี้ องค์กรไม่ว่าขนาดเล็กขนาดใหญ่ หัวใจสำคัญจะอยู่ที่ การบริหารจัดการโครงสร้างระบบ IT Infrastructure อันเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงแพลตฟอร์ม ที่ต้องเสถียร เชื่อมั่นได้ ปลอดภัย และพร้อมปรับเปลี่ยนได้ทันต่อการแข่งขัน ดังนั้นหากออกแบบหรือบริหารโครงสร้างระบบได้ไม่สมบูรณ์ หรือขาดประสบการณ์ในการตรวจสอบอย่างถูกหลัก อาจทำให้เกิดปัญหา หรือ ความเสี่ยงทางธุรกิจที่ไม่สามารถประเมินค่าได้”
ส่วนความสำคัญขององค์ความรู้ด้านกฎหมายสำหรับ startup นั้น นางมณฑนา วงศ์สว่างศิริ หัวหน้าส่วนงานที่ปรึกษาด้านกฎหมายทั่วไป เอไอเอส กล่าวว่า “จากการที่พระราชกฤษฎีกา การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ออกมาแล้วและจะมีผลใช้บังคับในปี 2566 นี้ กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลต้องแจ้งให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทราบก่อนการให้บริการ เพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและการยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการส่งเสริมให้มีการจัดทำแนวปฏิบัติที่ดี หรือมีกลไกในการกำกับดูแลตนเอง ให้ถูกต้องและมีธรรมาภิบาล และด้วยการทำงานของ startup ที่ต้องใกล้ชิดกับข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ดังนั้นยิ่งต้องพึงระวังและเข้าใจกฎหมายคุ้มครองข้อมูลสิทธิส่วนบุคคล หรือ PDPA ทั้งหมดนี้คือเรื่องสำคัญที่ startup ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ และต้องทำอย่างถูกต้องเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อได้แบบไม่ติดขัด”
นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ เอไอเอส ย้ำว่า “การมีทักษะด้านการสื่อสารในภาวะวิกฤติ ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นในการดูแลภาพลักษณ์ขององค์กร เพราะปัจจุบันวิกฤตสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา และเชื่อมโยงกันระหว่าง O2O เสมอ องค์ความรู้ด้าน Crisis Communication จึงเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารความเสี่ยงองค์กรของ startup ที่ทำธุรกิจอยู่บน Digital Platform 100% โดยเคล็ดลับของการที่จะนำทักษะนี้มาสร้างประโยชน์ได้ ก็คือ การจำลองสถานการณ์และฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ”
นายวิษณุพงษ์ วงศ์วาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอด้าซอฟท์ จำกัด กล่าวว่า “ในช่วงเวลาสร้างการเติบโตของธุรกิจ หลายคนมักจะละเลยการวางรากฐานที่ดี ซึ่งการอบรมในครั้งนี้ถือว่าเนื้อหาเจาะลึกและไม่เคยมีมาก่อน โดยบอกเล่าผ่านประสบการณ์จริงจากผู้เชี่ยวชาญในสายอาชีพนั้นๆ ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้กลุ่ม startup มีรากฐานที่แข็งแรง ลดความเสี่ยงและเพิ่มขีดความสามารถการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ไร้รอยต่อ หรือ Business Continuity Planning (BCP)”
ดร.ศรีหทัย กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า “เราภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือในครั้งนี้แก่กลุ่ม Start Up ที่เป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์คนสำคัญของ AIS เพราะเราเชื่อมาโดยตลอดว่า องค์ความรู้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเส้นทางการเข้าสู่ตลาดทุน และวันนี้ AIS เอง เปรียบเสมือนรุ่นพี่ทางอุตสาหกรรมที่มีประสบการณ์ในตลาดหลักทรัพย์ ไม่หวงความรู้ พร้อมแชร์ให้กับรุ่นน้องเพื่อให้รุ่นน้อง มีรากฐานที่ดี และแข็งแรงพร้อมเติบโตต่อไป” สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของ AIS The StartUp ได้สองช่องทาง คือ ช่องทางเว็บไซต์ https://www.ais.th/thestartup/ และช่องทาง Facebook page AIS The StartUp (https://www.facebook.com/AISTheStartup)
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://demo.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon