แพทย์จุฬาฯ ผนึก ทรู ดิจิทัล ดึงเทคโนโลยี AR เสริมประสิทธิภาพด้านการแพทย์ เปิดตัวนวัตกรรมสร้างภาพจำลองฝึกการกู้ชีพพื้นฐาน (CPR)

28

มิติหุ้น – ศ.พญ.บุรณี กาญจนถวัลย์ (ที่ 2 จากขวา) รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ (ที่ 2 จากซ้าย) ประธานกรรมการ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ผศ.นพ.สุชัย สุเทพารักษ์ (ขวา) ประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์ฝึกทักษะการแพทย์เสมือนจริง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.นพ.ตุลชัย อินทรัมพรรย์ (ซ้าย) กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการศูนย์ฝึกทักษะการแพทย์เสมือนจริง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแถลงข่าว Augmented Reality Hololens for CPR  การเปิดตัวนวัตกรรมสร้างภาพจำลองฝึกการกู้ชีพพื้นฐาน  โดยภายในงานมีกิจกรรมการฝึกสอนการกู้ชีพพื้นฐานกับหุ่นจำลองให้แก่ประชาชนทั่วไป เมื่อเวลา 13.00 น. ณ ลานอเนกประสงค์ อาคารอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศ.พญ.บุรณี กาญจนถวัลย์  กล่าวว่า ในอดีตจนถึงปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์คุณธรรมที่มีการพัฒนาต่อยอดในการนำเทคโนโลยีเสมือนจริงมาใช้ในการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้พัฒนานวัตกรรมเพื่อการบริการ การรักษา จัดหาอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุด และบ่อยครั้งที่การพัฒนาทางการแพทย์ต่างๆ เกิดจากความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 กลุ่มทรู ได้ส่งมอบแพลตฟอร์มระบบคัดกรองเบื้องต้น ประเมินความเสี่ยงติดเชื้อโรคโควิด-19 ให้กับทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พร้อมด้วยอุปกรณ์ เทคโนโลยี และระบบสื่อสารเพื่อการแพทย์ เพื่อนำไปใช้เพิ่ม

ประสิทธิภาพบริการทางการแพทย์ในการให้บริการด้านสาธารณสุข ให้ประชาชนเข้าถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจำกัดได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น นอกจากนี้ ยังติดตั้งระบบ VDO Conference เพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญใช้สื่อสารและให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยที่พักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน รวมทั้งใช้ในการเรียนการสอนทางไกลแก่นิสิตแพทย์จุฬาฯ พร้อมกับติดตั้งโครงข่ายทรู 5G เพิ่มประสิทธิภาพให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ติดต่อสื่อสารให้บริการผู้ป่วยในช่วงภาวะวิกฤตอีกด้วย โดยในวันนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ทางองค์กรได้มีความร่วมมือกับกลุ่มทรูอีกครั้ง

นายณัฐวุฒิ  อมรวิวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ทรู ดิจิทัล มุ่งมั่นนำระบบนิเวศดิจิทัลครบวงจรของกลุ่มทรู พร้อมความรู้ความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล ผสานความร่วมมือกับพันธมิตรหลากหลายภาคส่วน เพื่อร่วมยกระดับคุณภาพชีวิต สังคม และเศรษฐกิจของประเทศ โดยความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ ทรู ดิจิทัล มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมพัฒนา โซลูชัน Augmented Reality Hololens for CPR ซึ่งจะช่วยเพิ่มทักษะการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญในการช่วยชีวิตของผู้ป่วยโดยเฉพาะในวิกฤตฉุกเฉิน ด้วยการนำองค์ความรู้ทางการแพทย์ระดับโรงเรียนแพทย์ชั้นนำของประเทศ ผนวกเข้ากับเทคโนโลยีเสริมภาพจำลองบนโลกแห่งความเป็นจริง หรือ AR (Augmented Reality) เพื่อใช้ในการเรียนการสอนทางการแพทย์ให้สมจริงยิ่งขึ้น ซึ่งโซลูชัน Augmented Reality Hololens for CPR สามารถตรวจวัดความแรงและความถี่ของการกู้ชีพพื้นฐาน (CPR) ผ่านอุปกรณ์เซ็นเซอร์ ทั้งยังมีการจัดเก็บข้อมูลการฝึก นำไปวิเคราะห์และประมวลผลเพื่อเพิ่มพูนทักษะของผู้ฝึก พร้อมกันนี้ แว่น AR ยังมีการจำลองสถานการณ์ต่างๆ พร้อมบททดสอบภาคปฏิบัติ ที่ช่วยให้ผู้ฝึกพัฒนาการเรียนรู้และคุ้นเคยกับสถานการณ์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้นจริง เพื่อช่วยลดความตื่นตระหนกและตัดสินใจในภาวะฉุกเฉินได้ดียิ่งขึ้น โดยทรู ดิจิทัล พร้อมเดินหน้าต่อยอดความร่วมมือในการพัฒนาโซลูชันให้มีฟังก์ชันเพิ่มขึ้น และขยายการใช้งานโซลูชันในวงกว้างมากขึ้นต่อไป ซึ่งจะเป็นการยกระดับและมาตรฐานการฝึกกู้ชีพขั้นพื้นฐานที่มีความสําคัญยิ่งต่อการช่วยชีวิตผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นให้มีอัตราการรอดชีวิตเพิ่มสูงขึ้น

ในขณะที่ ผศ.นพ.สุชัย สุเทพารักษ์ เผยว่า ภาวะหัวใจหยุดเต้นยังคงเป็นสาเหตุสําคัญของการเสียชีวิต ทั้งในประเทศไทยและนานาชาติ ในสหรัฐอเมริกามีอัตราอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล 356,000 คน ต่อปี ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในสถานที่พักของผู้ป่วย มีเพียง 9% ที่สามารถรอดชีวิตและสามารถกลับบ้านได้ และมีแค่ 7% เท่านั้นที่สามารถที่กลับบ้านได้โดยที่มีการใช้ชีวิตได้ตามปกติ (good functional status) เนื่องจากพบว่าผู้ที่เริ่มทําการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานโดยการกดหน้าอกเป็นผู้ที่ยังขาดประสบการณ์ในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานถึง 40% และมีผู้ที่ใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติเป็น เพียง 9% เท่านั้น สำหรับประเทศไทยแม้ไม่มี

การศึกษาอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจหยุดเต้นแน่ชัด แต่เคยมีการศึกษาในปี 2013 พบว่า 145 คน ที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล มีเพียง 7.6% เท่านั้นที่สามารถกลับบ้านได้

ดังนั้น การฝึกให้มีทักษะในการช่วยชีวิตพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจึงมีความสําคัญยิ่งต่อการเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย ปัจจุบันแม้จะมีการฝึกการกู้ชีพพื้นฐานมากขึ้นด้วยวิธีต่างๆ รวมถึงมีหุ่นจําลองที่เป็นมาตรฐานในการฝึกฝนทักษะการกดหน้าอกแต่ยังขาดความสมจริงหลายประการ ความสามารถในการช่วยชีวิตของผู้ประสบเหตุ และอัตราการใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจเองนั้นยังถือว่าน้อยมาก โดยอาจเกิดจากการขาดประสบการณ์ อาจจะเป็นผลมาจากการไม่มีความรู้ที่เพียงพอ ขาดทักษะ ขาดความมั่นใจ หรือกลัวการถูกฟ้องร้อง

สำหรับการใช้งานเบื้องต้นของ Augmented Reality Hololens ผศ.นพ.ตุลชัย อินทรัมพรรย์ ได้อธิบายตามขั้นตอนดังนี้ …

  1. สวมแว่นครอบศีรษะ ให้แว่นอยู่ในระดับสายตา ปรับอุปกรณ์ให้กระชับโดยหมุนบริเวณปุ่มด้านหลังศีรษะ
  2. เข้าสู่หน้า Home เลือก Application CPR
  3. สแกน QR code เพื่อตั้งค่าตำแหน่งอ้างอิงของภาพสามมิติคนไข้หมดสติ จะปรากฏการ์ตูน 2 มิติเบื้องหน้าผู้ใช้งาน แสดงสถานการณ์สมมติก่อนเกิดเหตุผู้ป่วยหมดสติขึ้น
  4. ฝึกกดหน้าอกกู้ชีพ โดยจะมี UI แสดงภาพนาฬิกาจับเวลา 2 นาที, แถบวัดความลึกในการกดหน้าอก และอัตราเร็วในการกด ซึ่งเป็นข้อมูลป้อนกลับทันที
  5. เมื่อฝึกครบ 2 นาที หน้าจอจะปรากฎสรุปการฝึกกดหน้าอกกู้ชีพ โดยแสดงผล % ที่สามารถกดหน้าอกได้เหมาะสม แยกเป็นด้านความลึก, อัตราเร็ว และการขัดจังหวะน้อยกว่า 10 วินาที โดยจะผ่านเมื่อทำได้เหมาะสมทั้ง 3 ปัจจัย โดยเกณฑ์การผ่านคือ ทำได้เหมาะสมมากกว่า 75% สำหรับความลึก และอัตราเร็ว
  6. ก่อนสิ้นสุดการฝึกจะปรากฏคำถามเพื่อวัดความรู้พื้นฐานหลังเรียน

ประโยชน์จากเทคโนโลยีเสริมภาพจำลองบนโลกแห่งความเป็นจริง หรือ AR (Augmented Reality) ดังกล่าว      จะช่วยให้ผู้เรียนมีความรู้สึกร่วมเสมือนอยู่ในเหตุการณ์จริง ช่วยให้การฝึกฝนมีความสมจริงมากขึ้น จุดเด่นเหนือการฝึกแบบดั้งเดิมนี้อาจช่วยให้ผู้เรียนมีความสนใจ รวมถึงมีความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการตัดสินใจช่วยเหลือ และเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้ในอนาคต

ปัจจุบันเครื่องมือดังกล่าวผ่านการทดลองใช้ในคณะผู้พัฒนาโครงการ  พบว่าได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจไม่ด้อยกว่าการฝึกแบบดั้งเดิม พร้อมที่จะส่งมอบชิ้นงานเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการฝึกการกู้ชีพพื้นฐาน และพร้อมยื่นจดสิทธิบัตรต่อไปในอนาคต ผู้ที่สนใจเข้าร่วมการใช้ Augmented Reality Hololens for CPR ขณะนี้อยู่ในช่วงทดลองใช้ และพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ในการใช้งานต่อไป ผู้ที่สนใจฝึกการกดหน้าอกกู้ชีพ (CPR) สามารถสอบถามได้ที่ศูนย์ฝึกทักษะการแพทย์เสมือนจริง CHAMPS Center 02 256 4000 ต่อ 81105 หรือ line OA : @481hrgo

 

 

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://demo.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon