ส่องหุ้น THCOM หลังฮุบ ‘ดาวเทียม’

331

มิติหุ้น – คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัด ‘ประมูลข่ายงานดาวเทียม’ โดยจัดประมูลขึ้นเมื่อวันที่ 15 ม.ค.66 เวลา 10.00 น. ที่ผ่านมา ซึ่งมีลำดับการประมูลข่ายงานดาวเทียม ดังนี้ ชุดที่ 4, ชุดที่ 3, ชุดที่ 5, ชุดที่ 2, ชุดที่ 1 ตามที่ได้จับฉลาก และได้สิ้นสุดในวันที่ 15 ม.ค.66 เวลา 11.36 น. โดยใช้เวลาในการประมูล 1 ชั่วโมง 36 นาที (ไม่รวมเวลาหยุดพักการประมูล) ประมูลทั้งสิ้น 3 ชุด (ชุดที่ 2, ชุดที่ 3 และชุดที่ 4) โดยราคาประมูลรวม 806,502,650 บาท

สำหรับวงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ที่นำมาประมูลมีจำนวน 5 Package ได้แก่ ชุดที่ 1 ตำแหน่งวงโคจร 50.5E-51E (องศาตะวันออก) ราคาขั้นต่ำ 374.15 ลบ. ขั้นราคา (ประมูล) 18.70 ลบ., ชุดที่ 2 ตำแหน่งวงโคจร 78.5E (องศาตะวันออก) ราคาขั้นต่ำ 360.01 ลบ. ขั้นราคา (ประมูล) 18 ลบ.

ชุดที่ 3 ตำแหน่งวงโคจร 119.5E-120E (องศาตะวันออก) ราคาขั้นต่ำ 397.53 ลบ. ขั้นราคา (ประมูล) 19.87 ลบ., ชุดที่ 4 ตำแหน่งวงโคจร 126E (องศาตะวันออก) ราคาขั้นต่ำ 8.64 ลบ. ขั้นราคา (ประมูล) 432,200 บ. และชุดที่ 5 ตำแหน่งวงโคจร 142E (องศาตะวันออก) ราคาขั้นต่ำ 189.38 ลบ. ขั้นราคา (ประมูล) 9.46 ลบ.

ลุยต่อ!! หลังศาลไม่รับคำฟ้อง

ส่วนกรณียื่นฟ้องขอคุ้มครองชั่วคราวต่อศาลปกครองกลาง ของทางสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐมนูญไทย ให้ระงับการรับรอง และเซ็นสัญญากับผู้ชนะการประมูลดาวเทียม บริษัทมองว่าไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทมากนัก เนื่องจากศาลปกครองกลางไม่รับคำฟ้องร้อง เพราะทาง กสทช. ยืนยันว่าการที่เอกชนเข้าประมูลไม่ใช้การให้สิทธิเด็ดขาดในวงโคจรดาวเทียม เป็นเพียงการอนุญาตให้เข้าใช้วงโคจรเท่านั้น

รวมถึงมีความจำเป็นที่ประเทศต้องรักษาสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม อันเป็นสมบัติของชาติและสิทธิในการได้รับความคุ้มครองจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องหาเอกชนเข้ามาดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินงานข่ายงานดาวเทียมทั้ง 2 ชุด

สำหรับการประมูลข่ายงานดาวเทียมในครั้งนี้ มีบริษัทเข้าร่วมประมูล ทั้งหมด 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด (บริษัทในเคลือ THCOM), บริษัท โทรคมนาคม แห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และบริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด

โดย ‘บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด (บริษัทในเคลือ THCOM)’ ได้เข้าร่วมประมูล 2 ชุด ได้แก่ ชุดที่ 2 ตำแหน่งวงโคจร 78.5E และชุดที่ 3 ตำแหน่งวงโคจร 119.5E-120E ซึ่งทางบริษัทเคาะราคาประมูลชนะทั้ง 2 ชุด โดยราคาประมูลรวมทั้งสิ้น 797 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินงาน

แนะ “ซื้อ” THCOM เป้า 18.90 บ.

“บล.หยวนต้า (ประเทศไทย)” แนะ “ซื้อ” หุ้น THCOM ราคาเป้า 18.90 บาท หลังจากศาลปกครองกลางยกคำขอคุ้มครองชั่วคราวเรื่อง กสทช. ประมูลดาวเทียมโดยมิชอบ ส่งผลให้ราคาหุ้น THCOM ปรับขึ้นมารับความหวังการยิงดาวเทียมที่ชนะการประมูลมา โดยคาดว่าน่าจะยิงดาวเทียมขนาดกลางตำแหน่งวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก ทดแทนไอพีสตาร์ หรือดาวเทียมไทยคม 4 ที่จะหมดอายุในปี 66 ซึ่งเป็นดาวเทียมที่ตลาดให้ความสนใจ

THCOM ทุ่มงบ!!ชิงดาวเทียม

ขณะที่ “บล.บัวหลวง” แนะ “เก็งกำไร” หุ้น THCOM ราคาเป้า 18.24 บาท หลัง THCOM ชนะการประมูล 2 ชุด (ชุดที่ 2 ของวงโคจรดาวเทียม 78.5E, ชุดที่ 3 ของวงโคจรดาวเทียม 119.5/120E) ส่งผลให้ภาระหนี้รวมของ THCOM เพิ่มขึ้นจาก 5.9 พันล้านบาท ณ สิ้นปี66 ไปเป็น 1.12 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี68 โดยอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อทุนปัจจุบันอยู่ที่ 0.36 เท่า มีแนวโน้มแตะ 1.07 เท่า ณ สิ้นปี68

อย่างไรก็ดีถือว่ายังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเงื่อนไขของสัญญาเงินกู้ หรือ หุ้นกู้ที่ต้องคงไว้ไม่ให้เกิน 2 เท่า คาด IRR ของใบอนุญาตวงโคจรดาวเทียม 119.5/120E และใบอนุญาตวงโคจรดาวเทียม 78.5E ที่ 10.2%, 12.1% ตามลำดับ และระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่ 7 ปี, 6 ปี ตามลำดับ จะเริ่มรับรู้รายได้จากทั้ง 2 ใบอนุญาตวงโคจรดาวเทียมเข้ามาตั้งแต่ปี69 เป็นต้นไป จะสร้างความมั่นคงต่อรายได้ให้กับ THCOM ในระยะยาว

THCOM ผนึกพันธมิตร ลุยดาวเทียม LEO

ส่วน “บล.กรุงศรี”  ประเมินว่า ดาวเทียมแต่ละดวงจะสามารถสร้างรายได้และกำไรได้สูงกว่าสมมติฐานของเราได้แค่ไหน ทั้งนี้เราใช้สมมติฐานว่ารายได้สูงสุดของดาวเทียมดวงใหม่ในวงโคจร 78.5E จะอยู่ที่ 1.5 พันล้านบาท และในวงโคจร 119.5E จะอยู่ที่ 3 พันล้านบาท ดังนั้น จึงเกิดคำถามขึ้นว่า “ดาวเทียมใหม่สองดวงนี้จะสามารถสร้างรายได้เกินกว่าระดับรายได้สูงสุด และเพิ่มมูลค่าให้กับ THCOM เกินกว่าสมมติฐานของบริษัทได้หรือไม่?”

คำตอบคือเป็นไปได้ แต่มีโอกาสน้อยมาก เพราะดาวเทียมดวงใหม่ (ในวงโคจร 119.5E ดาวเทียม) ของ THCOM ต้องแข่งกับดาวเทียม LEO อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในอีก 10 ปี นับจากนี้ บริษัทคาดว่าจะเห็นดาวเทียม LEO เพิ่มเข้ามาในตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจาก LEO ได้เปรียบดาวเทียมแบบดั้งเดิม (traditional) อย่าง iPSTAR ในแง่ของสัญญาณที่แรงกว่า เพราะตั้งอยู่ใกล้ผิวโลกมากกว่า สำหรับวงโคจร 78.5E โดยมองว่าอุปสงค์ของดาวเทียมดวงนี้มีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ เพราะ TV ดาวเทียมได้รับความนิยมลดลง โดยเฉพาะในประเทศไทย

อย่างไรก็ตามในปี 65 THCOM ได้ร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง “บริษัท โกลบอลสตาร์ (Globalstar, lnc.)”  ซึ่งการร่วมมือกันในครั้งนี้จะดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับ “ระบบดาวเทียมวงโคจรระดับต่ำ” หรือ LEO Satellite (Low Earth Orbit Satellite) โดยเป็นดาวเทียมลักษณะ IoT หรือระบบติดตามตัว เพื่อรู้พิกัด ทำให้ประเทศและภูมิภาค มีโอกาสเพิ่มความปลอดภัยต่อนักท่องเที่ยว รวมถึงสามารถพัฒนา IoT Solutions อื่นๆ เพื่อสนับสนุนด้านอุตสาหกรรมทางทะเลได้อีกด้วย โดยคาดว่าในช่วงครึ่งแรกปี 66 จะเริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้น

ขณะที่ ‘บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส’ ได้เข้าร่วมการประมูลในครั้งนี้ และได้เคาะเสนอราคาในชุดที่ 2 แข่งกับบ.สเปซ เทค อินโนเวชั่น ซึ่งไม่ชนะในการเคาะราคาประมูลข่ายงานดาวเทียมชุดที่ 2 ทำให้ บ.พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส ไม่ได้รับข่ายงานดาวเทียมในการประมูลครั้งนี้

NT ซุ่มคว้างานประมูล

ขณะเดียวกัน ‘บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือNT’ ชนะการประมูลข่ายงานดาวเทียมชุดที่ 4 ทำให้ได้รับใบอนุญาต 1 ใบ (วงโคจร 126E) มูลค่าประมูลกว่า 9 ล้านบาท ซึ่งเป็นข่ายงานดาวเทียมนี้ เหมาะสำหรับให้บริการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จีน ญี่ปุ่น แปซิฟิก ออสเตรเลีย แต่ยังไม่พร้อมใช้งาน โดยต้องดำเนินการประสานกับทางไอทียูต่อ คาดว่าต้องใช้เงินลงทุนสร้างดาวเทียม 1,000-3,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ทาง กสทช. จะอนุญาตให้ผู้ชนะประมูลข่ายงานดาวเทียม (THCOM, NT) ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และให้ใบอนุญาตประกอบ กิจการโทรคมนาคมแบบที่สามกับผู้ชนะประมูล โดยมีกำหนดระยะเวลาการอนุญาต 20 ปี อย่างไรก็ตามจะอนุญาตให้กับผู้ชนะประมูล หลังผู้ชนะการคัดเลือกปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนดถูกต้องและครบถ้วน

“พร้อมกันนี้ทาง กสทช. มองเห็นว่าการประมูลในลักษณะนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใส และเป็นธรรมมากที่สุด รวมทั้งรายได้ที่เกิดขึ้นหลังหักค่าใช้จ่ายในการประมูลทาง กสทช. จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินทั้งหมด”

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://demo.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon