มิติหุ้น – เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ (PCE) ผู้นำธุรกิจน้ำมันปาล์มและระบบโลจิติกส์ครบวงจร กางแผนธุรกิจปี 2566 ตั้งเป้ารายได้ไม่ต่ำกว่า 35,000 ล้านบาท ชูกลยุทธ์สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าต่อยอดธุรกิจ สร้างความเชื่อมั่นและขยายฐานลูกค้า พร้อมรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมปาล์มและยกระดับมาตรฐานสู่ความยั่งยืนในอนาคต
นายประกิต ประสิทธิ์ศุภผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (PCE) ผู้นำธุรกิจน้ำมันปาล์มครบวงจร เปิดเผยว่า PCE ถือว่าเป็นผู้นำในธุรกิจน้ำมันปาล์มครบวงจรรายใหญ่ในประเทศไทย ด้วยประสบการณ์การดำเนินธุรกิจเกือบ 40 ปี จากการดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าและให้บริการ ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน พร้อมด้วยระบบการขนส่งทั้งทางบกและทางเรือที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการบริการคลังสินค้าและท่าเทียบเรืออย่างเป็นระบบ ทำให้บริษัทได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง โดย ปี 2566 PCE ตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับองค์กรให้มีมาตรฐานด้านคุณภาพและบริการ เพื่อก้าวสู่ความเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในทุกกลุ่มธุรกิจและบริการ พร้อมทั้งรักษามาตรฐานด้านสินค้าและบริการ เพื่อให้เกิดการยอมรับและสามารถขยายฐานลูกค้าต่อไปในอนาคต ตลอดจนสร้างการเติบโตและความยั่งยืนทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องในอนาคต ควบคู่ไปกับการบริหารงานด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อทำให้การบริหารจัดการต้นทุนมีประสิทธิภาพสูงสุด ประกอบกับการสร้างความมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กรและบุคลากร ด้วยระบบการจัดการภายในให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ภายใต้การบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อสร้างสังคมที่ดีให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้จุดแข็งของ PCE คือสามารถรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมปาล์มได้อย่างครบวงจร ในช่วงระยะเวลา 3-4ปี ข้างหน้า ทั้งการแปรรูปปาล์มสู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ การขนส่งทั้งทางเรือและบก คลังสินค้า ซึ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรองรับผลผลิตปาล์มที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต
“ปี 2566 บริษัทตั้งเป้ารายได้ไม่น้อยกว่า 35,000 ล้านบาท โดยจะเน้นการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ ให้มีมาตรฐานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและขยายฐานลูกค้าในทุกกลุ่มธุรกิจ ด้วยความโดดเด่นด้านการให้บริการที่ครบวงจร ทำให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจสูงสุด นอกจากนี้บริษัทตั้งเป้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งถือเป็นพันธกิจสำคัญ เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำในธุรกิจ และการสร้างความเชื่อมั่นต่อลูกค้าและพันธมิตร ตลอดจนการวางรากฐานของการดำเนินธุรกิจ รวมถึงโครงสร้างทางการเงินให้มีความแข็งแกร่ง เพื่อให้สามารถรองรับการเติบโตในอนาคต” นายประกิตกล่าว
กลุ่มธุรกิจ PCE ประกอบด้วย
- บริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่าย น้ำมันไบโอดีเซล น้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันพืชสำหรับการบริโภค โดยโรงงานรีไฟท์น้ำมันปาล์ม สามารถผลิตได้ 1,800 ตัน/วัน แบ่งเป็นน้ำมันปาล์มสำหรับบริโภคกึ่งสำเร็จรูปและสำเร็จรูปได้วันละ 1,000 ตัน และสำหรับผลิตเป็น B100 เพื่อเป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซลได้อีกวันละ 1.2 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนโรงงานสกัดผลปาล์มที่รับซื้อจากเกษตรกรสามารถผลิตได้อีก 1,800 ตันต่อวัน /หรือปีละไม่ต่ำกว่า 500,000 ตัน โดยคาดว่าปี 2566 จะมีรายได้ 13,200 ล้านบาท
- บริษัท ปาโก้เทรดดิ้ง จำกัด ประกอบธุรกิจซื้อขายน้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันเมล็ดในปาล์ม เมล็ดในปาล์ม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากปาล์ม ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีปริมาณและมูลค่าการซื้อขายและส่งออกเป็นอันดับต้นๆของประเทศ โดยตั้งเป้ารายได้ปี 2566 มากกว่า 20,000 ล้านบาท
- บริษัท เพชรศรีวิชัย จำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าทางบกภายในประเทศซึ่งมีรถให้บริการมากกว่า 150 คัน และขนส่งส่งได้ปีละไม่ต่ำกว่า 800,000 ตัน โดยปีนี้ตั้งป้ารายได้ 380 ล้านบาท
- บริษัท พี.ซี. มารีน (1992) จำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือ ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีขนาดเรือ 2,000 – 2,500 ตัน ซึ่งสามารถขนส่งได้ทั้งของแห้งและของเหลว รวม 15 ลำ โดยขนส่งสินค้าได้ปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน บนเส้นทางสุราษฏร์ธานี-บางปะกง โดยตั้งเป้ารายได้ปี 2566 ที่ 200 ล้านบาท
- บริษัท พี.เค. มารีน เทรดดิ้ง จำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการท่าเทียบเรือ พื้นที่ฝากเก็บสินค้า และเตรียมความพร้อมก่อนขนส่ง โดยมีพื้นที่มากกว่า 40,000 ตร.ม. และมีคลังน้ำมันที่สามารถรองรับได้ 240,000 ตัน โดยมีท่าเทียบเรือในจังหวัดสุราษฏร์ธานีและฉะเชิงเทรา โดยปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ 180 ล้านบาท
นายประกิต กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในประเทศ ยังอยู่ในทิศทางที่ดี ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากความต้องการใช้ทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อประเทศ ทั้งในด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงกันกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งน่าจะยังคงได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากภาครัฐ โดยประเทศไทยมีผลผลิตปาล์มเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยในปี 2565 มีเนื้อที่เพาะปลูกประมาณ 7 ล้านไร่ มีผลผลิต 19 ล้านตัน หรือประมาณ 2,843 ตันต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีเนื้อที่ 6 ล้านไร่ และมีผลผลิตประมาณ 18 ล้านตัน
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://demo.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon