มิติหุ้น – โรคมะเร็งปอด … โรคยอดฮิตที่พบได้บ่อยทั้งในผู้ชายและผู้หญิง เกิดจากพฤติกรรมต่าง ๆ ที่คอยทำร้ายสุขภาพ ทั้งแบบรู้ตัวและแบบไม่รู้ตัว อาทิ การสูบบุหรี่ หรือการได้รับมลพิษในสิ่งแวดล้อม เกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อบุผิวของปอดเจริญเติบโตผิดปกติอย่างรวดเร็ว จนไม่สามารถควบคุมได้ และเกิดเป็นก้อนเนื้อร้ายในที่สุด โดยเนื้อร้ายนี้สามารถลุกลามและกระจายไปอวัยวะอื่น ๆ ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการในระยะเริ่มแรก กว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวก็มักจะอยู่ในระยะโรคที่รุนแรงแล้ว
พญ.มัณฑนา สันดุษฎี อายุรแพทย์ด้านโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ และเวชบำบัดวิกฤต ศูนย์โรคปอดและระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลพระรามเก้า เล่าว่า “มะเร็งปอดแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลักๆ ขึ้นกับชนิดของเซลล์ ได้แก่ มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (non-small cell lung cancer) เป็นมะเร็งปอดชนิดที่พบได้บ่อยกว่า สามารถแบ่งเป็นชนิดเซลล์ได้อีกหลายชนิด เช่น adenocarcinoma, squamous cell carcinoma ซึ่งชนิดของเซลล์จะมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกันเล็กน้อย และ มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (small cell lung cancer) เป็นมะเร็งปอดชนิดที่พบได้น้อยกว่า แต่เป็นชนิดที่ตอบสนองได้ดีต่อยาเคมีบำบัดและการฉายแสง ทั้งนี้ สามารถวินิจฉัยได้โดยการเอาชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา โดยมะเร็งปอดแต่ละชนิดจะมีวิธีการรักษาและพยากรณ์โรคที่แตกต่างกันออกไป
ปัจจุบันแม้จะยังไม่สามารถบอกถึงสาเหตุของมะเร็งปอดได้ชัดเจนนัก แต่มีปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอด ได้แก่
1. การสูบบุหรี่ ทั้งผู้ที่สูบบุหรี่เอง และผู้ใกล้ชิดที่ได้รับควันบุหรี่ หรือที่เรียกว่า “ควันบุหรี่มือสอง” การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยหลัก 80-90% เพราะในบุหรี่เต็มไปด้วยสารก่อมะเร็ง เมื่อสูดควันเข้าไปสารเหล่านี้จะเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อในปอดโดยตรงทำให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์ และเกิดเป็นมะเร็งในที่สุด โดยคนที่สูบบุหรี่ 1 ซองต่อวันเป็นเวลา 20 ปี จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 8 – 20 เท่า
2. สารพิษและมลภาวะในสิ่งแวดล้อม เช่น
· สารแอสเบสตอส (asbestos) หรือแร่ใยหิน ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตวัสดุก่อสร้าง (กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องแผ่นเรียบ ฝ้าเพดาน) อุตสาหกรรมการผลิตท่อน้ำซีเมนต์ กระเบื้องยางไวนิลปูพื้น ผ้าเบรก ฉนวนกันความร้อน และ อุตสาหกรรมสิ่งทอ แร่ใยหินเป็นสารที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ โดยผู้ที่ทำงานในโรงงานที่มีการใช้แร่ใยหินจะมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคนปกติถึง 7 เท่า
· ก๊าซเรดอน (radon) เป็นก๊าซสารกัมมันตภาพรังสีที่เกิดจากการสลายตัวของเรเดียมหรือยูเรเนียม พบได้ในอาคารหรือสิ่งก่อสร้างซึ่งมักมีดิน หิน หรือทรายที่มีแร่เรเดียมเจือปนมา
· ฝุ่น PM 2.5 หรือฝุ่นละอองจิ๋วขนาดเล็กที่มีขนาดโมเลกุลเล็กเพียง 2.5 ไมครอน ที่ไม่สามารถมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า โดยฝุ่น PM 2.5 จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดมากขึ้นถึง 1 – 1.4 เท่า โดยเมื่อฝุ่น PM 2.5 เข้าไปในปอดจะทำให้เกิดการอักเสบ และมีการกลายพันธุ์ของสารพันธุกรรม ซึ่งอาจทำให้เกิดมะเร็งปอดขึ้นได้
· สารเคมีอื่นๆ เช่น สารหนู ถ่านหิน ที่ผู้ป่วยมักได้รับจากการประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรม หรือสารพิษจากมลภาวะที่มาจากท่อไอเสียของยานพาหนะ
3. อายุ อายุที่มากขึ้น อวัยวะรวมถึงเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายจะยิ่งทำงานเสื่อมสภาพลง โดยผู้ที่เสี่ยงจะเป็นมะเร็งปอดมากที่สุดจะอยู่ในช่วงอายุประมาณ 55 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่สูบบุหรี่
4. พันธุกรรม ถ้ามีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งปอด จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น
พญ.มัณฑนา กล่าวต่อว่า “มะเร็งปอดส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการในระยะเริ่มแรก แต่จะมีสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเกิดโรคเมื่อมีการเจริญเติบโตของมะเร็งมากขึ้น และอาการจะแตกต่างกันไปแล้วแต่ตำแหน่งของก้อนที่เกิดขึ้น
โดย 6 สัญญาณเตือนของอาการที่พบ ได้แก่
1. ไอเรื้อรัง (พบมากถึง 50-75%) ตลอดจนอาการไอมีเสมหะปนเลือด หรือไอมีเลือดสด (พบ 25-50%)
2. เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก (พบได้ 25%)
3. เจ็บหน้าอก (พบได้ 20%)
4. เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยหาสาเหตุไม่ได้
5. หายใจมีเสียงดังผิดปกติ
6. เสียงแหบ
การวินิจฉัยมะเร็งปอด ต้องยืนยันการวินิจฉัยโดยการตรวจชิ้นเนื้อ ซึ่งการตรวจชิ้นเนื้อจะเกิดขึ้นได้ แพทย์ต้องตรวจพบก้อนเนื้อที่ผิดปกติในปอดให้เจอก่อน ซึ่งหากตรวจตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม การรักษามะเร็งปอดในระยะแรกด้วยการผ่าตัดสามารถหายขาดได้เลย
การตรวจคัดกรองที่แนะนำ คือ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (low-dose CT lung scan) ซึ่งเป็นการตรวจที่ใช้ปริมาณรังสีน้อย และใช้เทคนิคการเก็บภาพแบบ 3 มิติ ที่มีความละเอียดมากกว่าเอกซเรย์ธรรมดามาก ทำให้สามารถตรวจพบความผิดปกติต่างๆ ภายในปอดได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น โดยปัจจุบันประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำให้ใช้วิธีดังกล่าว เป็นมาตรฐานในการคัดกรองโรคมะเร็งปอด ซึ่งจะได้ประโยชน์สูงสุดในกลุ่มคนไข้ที่มีความเสี่ยง นั่นคือ อายุมากกว่า 55 ปี มีประวัติสูบบุหรี่มากกว่า 30 pack years (pack years = จำนวนบุหรี่ที่สูบใน 1 วัน x จำนวนปีที่สูบบุหรี่) และเลิกสูบบุหรี่มาไม่เกิน 15 ปี ถึงแม้ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ หากมีอาการหรือแพทย์สงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งปอด แพทย์อาจพิจารณาการตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (computed tomography scan; CT scan), การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ (positron emission tomography scan; PET scan), การตรวจโดยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging; MRI), การส่องกล้องหลอดลมปอด (bronchoscopy) และ การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจหาชนิดของมะเร็ง (biopsy) ส่วน การตรวจ x-ray ปอด อาจไม่ใช่วิธีการคัดกรองโรคมะเร็งปอดที่ดีนัก เพราะกว่า x-ray ปอดจะตรวจพบความผิดปกติ ก็มักจะเป็นก้อนที่ค่อนข้างใหญ่ หรือลุกลามไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถทำการรักษาโดยการผ่าตัดให้หายขาดได้
สำหรับการรักษาจะขึ้นอยู่กับ ชนิดของมะเร็ง ระยะของมะเร็ง และความแข็งแรงของผู้ป่วย ซึ่งทางเลือกการรักษาในปัจจุบันมีความทันสมัยขึ้นมาก มีทั้งการผ่าตัด การใช้ยาเคมีบำบัด (chemotherapy) การรักษาด้วยการฉายแสง (radiotherapy) และการใช้ยาแบบจำเพาะเจาะจง (targeted therapy) โดยแพทย์จะร่วมตัดสินใจกับคนไข้และครอบครัว เพื่อเลือกการรักษาให้เหมาะสมกับคนไข้แต่ละคน”
ถึงอย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งปอดคือ การสูบบุหรี่ รวมถึงสารพิษและมลภาวะที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ฉะนั้น การป้องกันมะเร็งปอดที่ดีที่สุดคือ การงดสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า หรือหลีกเลี่ยงการรับควันบุหรี่มือสอง และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การตรวจคัดกรองสุขภาพปอดอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี และ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบ low-dose CT lung scan ในคนที่มีความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอด จะช่วยให้สามารถตรวจพบและรักษามะเร็งได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ทำให้ลดอัตราการเสียชีวิตและทำไห้ผู้ป่วยมีโอกาสหายจากโรคมะเร็งปอดได้“มะเร็งปอดสามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้นดังนั้น การตรวจคัดกรองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก”พญ.มัณฑนา กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://demo.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon