KTB ค่าไฟฟ้าของไทยสูง ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตอย่างไร

158

มิติหุ้น – ค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิต พุ่งสูงขึ้นอย่างมากในปี 2565 และคาดว่ามีทิศทางในขาขึ้นในระยะข้างหน้า โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบจากวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้เกิดการจำกัดการส่งออกก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าในตลาดโลกและไทยอยู่ในระดับสูงกว่าในอดีตที่ผ่านมาและคาดจะอยู่ในระดับที่สูงต่อไป แนวโน้มดังกล่าวย่อมส่งผลลบต่ออุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้ไฟฟ้าอย่างเข้มข้น ซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย สะท้อนได้จากสัดส่วนมูลค่า GDP ของอุตสาหกรรมการผลิตในปี 2564 ที่สูงถึง 27% ของ GDP ทั้งหมด[1] บทความนี้จะวิเคราะห์ถึงแนวโน้มค่าไฟฟ้าของไทยในระยะข้างหน้า และผลกระทบจากแนวโน้มดังกล่าวที่มีต่ออุตสาหกรรรมการผลิตของไทย

I. ทำความรู้จักกับโครงสร้างค่าไฟฟ้าของไทย

ปัจจุบันการคิดค่าไฟฟ้าของไทยมาจาก 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) ค่าไฟฟ้าฐาน และ 2)ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft)2 โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • ค่าไฟฟ้าฐาน เป็นค่าไฟฟ้าที่สะท้อนถึงค่าใช้จ่ายในการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง ระบบจัดจำหน่าย รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของการผลิตพลังงานไฟฟ้าในช่วงเวลาที่กำหนดค่าไฟฟ้าฐาน

ค่าไฟฟ้าฐานจะมีการทบทวนทุก 3-5 ปี  โดยปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 3.79 บาท/หน่วยไฟฟ้า ซึ่งใช้ค่าไฟฟ้าฐานนี้ใช้มาตั้งแต่พฤศจิกายน 2558

2)   ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) เป็นส่วนต่างระหว่างต้นทุนการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในปัจจุบันและค่าไฟฟ้าฐาน ซึ่งมีค่าเป็นทั้งบวกและลบ โดยจะเปลี่ยนแปลงตามแนวโน้มราคาเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า เช่น ก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ในตลาดโลก รวมถึงค่าใช้จ่ายตามนโยบายของภาครัฐในเรื่องของการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนต่างๆ เช่น มาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบ Feed-in-Tariff2

ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) จะมีการปรับเปลี่ยนทุก 4 เดือน โดยปัจจุบันค่า Ft อยู่ที่ 93.43 สตางค์2

ในช่วงที่ผ่านมา ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก -15.30 สตางค์ ในช่วง ก.ย.-ธ.ค. 2564 เป็น 93.43 สตางค์ในช่วง ก.ย.-ธ.ค. 2565 ซึ่งส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปี 2565 ถึงจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.16 บาท/หน่วยไฟฟ้า และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในปี 2566 โดยมีรายละเอียดการวิเคราะห์ในหัวข้อถัดไป

II. แนวโน้มค่าไฟฟ้าของไทยในปี 2566-2567 จะเป็นอย่างไร?

ในช่วงที่ผ่านมา ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของไทยเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 3.60 บาท/หน่วยไฟฟ้าในปี 2564  เป็น 4.16 บาท/หน่วยไฟฟ้าในปี 2565 ตามต้นทุนก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของไทย โดยสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวสูงถึง 53% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2564 โดยราคาก๊าซธรรมชาติโดยเฉลี่ยได้เพิ่มขึ้นจาก 233 บาท/MMBTU ในปี 25644 เป็น 456 บาท/MMBTU ในปี 2565 โดยมีสาเหตุหลัก 2 ประการ ได้แก่

  • ไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (ก๊าซ LNG) จากต่างประเทศ เพื่อใช้สำหรับผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีต้นทุนสูงในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจาก 26% ในปี 2564 เป็น 39% ในปี 2565 เพื่อทดแทนการขาดหายไปของก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย หลังติดปัญหาความล่าช้าในการเข้าพื้นที่ของแหล่งเอราวัณในอ่าวไทย
  • ต้นทุนการนำเข้าก๊าซ LNG จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 334 บาท/MMBTU ในปี 2564 เป็น 793 บาท/MMBTU ในปี 2565 ตามทิศทางราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลก เช่น ราคา LNG ของญี่ปุ่น และราคาก๊าซธรรมชาติของ Henry Hub ซึ่งเป็นผลจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อส่งผลให้อุปทานก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกตึงตัวและราคาที่พุ่งสูงขึ้น

สำหรับปี 2566-67 Krungthai COMPASS คาดว่าค่าไฟฟ้าเฉลี่ยจะมีทิศทางในขาขึ้นต่อไป เนื่องจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีแนวโน้มปรับค่าไฟฟ้าขึ้น ตามต้นทุนก๊าซธรรมชาติของไทย ซึ่งมีแนวทางแบ่งเป็น 3 กรณี ได้แก่ กรณีที่ 1) ค่าไฟฟ้าปรับตามต้นทุนที่เกิดจริง โดยภาครัฐไม่เรียกเก็บเงินเพิ่ม ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในปี 2566-67 อยู่ที่ 4.90 และ 4.43 บาท/หน่วยไฟฟ้า กรณีที่ 2) ภาครัฐจะทยอยเรียกเก็บเงินเพิ่มจากค่าไฟฟ้างวดละ 0.33 บาท/หน่วยไฟฟ้าเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปี 2566-67 อยู่ที่ 5.23 และ 4.76 บาท/หน่วยไฟฟ้า และ กรณีที่ 3) ภาครัฐจะทยอยเรียกเก็บเงินเพิ่มจากค่าไฟฟ้างวดละ 0.67 บาท/หน่วยไฟฟ้า เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปี 2566-67 อยู่ที่ 5.57 และ 4.43 บาท/หน่วยไฟฟ้า โดยมีปัจจัยสนับสนุน 2 ประเด็น ดังนี้

  • ไทยยังคงต้องนำเข้าก๊าซ LNG เพื่อใช้สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากต่างประเทศ ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจาก 39% ในปี 2565 เป็น 41% ในปี 2566 เพื่อทดแทนการลดลงของก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาในปี 2566 จึงทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นเป็น 469 บาท/MMBTU ในปี 2566 จากปี 2565 ที่อยู่ที่ 456 บาท/MMBTU ในปี 2565
  • คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีแนวโน้มปรับค่าไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง หรืออาจจะทยอยเรียกเก็บเงินเพิ่ม เพื่อลดภาระที่ได้ทำการอุดหนุนค่าไฟฟ้าในช่วงก่อนหน้า (ก.ย. 2564-ธ.ค. 2565) โดยการไฟฟ้าการผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งคาดว่าจะสูงถึง 1.68 แสนล้านบาท โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในช่วงที่ผ่านมา กฟผ.ได้ช่วยอุดหนุนค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยที่ 0.20 บาท/หน่วยไฟฟ้า และ 0.65 บาท/หน่วยไฟฟ้าในปี 2564-65 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาจาก 3 แนวทางในการเรียกเก็บเงินเพิ่มจากค่าไฟฟ้าของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) Krungthai COMPASS มองว่า กกพ. มีแนวโน้มปรับค่าไฟฟ้า ตามต้นทุนที่แท้จริง แต่จะไม่เรียกเก็บเงินเพิ่มจากค่าไฟฟ้า จึงทำให้แนวโน้มค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยในช่วงปี 2566-67 เป็นตามกรณีที่ 1 (รูปที่ 2) เพราะกรณีนี้ไม่สร้างภาระเพิ่มเติมแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อีกทั้ง ภาครัฐพยายามหาแนวทางบรรเทาปัญหาที่เกิดจากภาระจากการอุดหนุนค่าไฟฟ้าในช่วงก่อนหน้า (ก.ย. 2564-ธ.ค. 2565) ของ กฟผ. โดยการอนุมัติให้ กฟผ. กู้เงินเพิ่มในวงเงินไม่เกิน 8.5 หมื่นล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว เพื่อใช้ในการอุดหนุนค่าไฟฟ้า รวมทั้งขอความร่วมมือให้ บมจ. ปตท. จัดสรรรายได้จากโรงแยกก๊าซฯเดือนละ 1.5 พันล้านบาทในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 เพื่อใช้ในการลดต้นทุนค่าไฟฟ้า อย่างไรก็ดี ค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นยังคงสร้างแรงกดดันอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการผลิต เนื่องจากภาคส่วนนี้มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 45% ของปริมาณใช้ไฟฟ้าในปี 2564ดังนั้น Krungthai COMPASS จึงมาวิเคราะห์ผลกระทบจากค่าไฟฟ้าต่อกำไรสุทธิของอุตสาหกรรมดังกล่าวในหัวข้อถัดไป

III. ค่าไฟฟ้าสูงจะส่งผลกระทบต่อกำไรของอุตสาหกรรมการผลิตของไทยมากน้อยเพียงใด ?

ค่าไฟฟ้าของไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจนแตะสูงสุดในปี 2566 ย่อมส่งผลลบต่อต้นทุนโดยรวมและกำไรสุทธิของกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมผลิตเคมีภัณฑ์

Krungthai COMPASS ประเมินว่า ทุก 1% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น จะทำให้อัตรากำไรสุทธิของอุตสาหกรรมการผลิตลดลงประมาณ 0.03% ซึ่งหากค่าไฟฟ้าเป็นตามกรณีที่ 1) ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 17.8% (เพิ่มขึ้นจาก 4.16 บาท/หน่วยไฟฟ้าในปี 2565 เป็น 4.90 บาท/หน่วยไฟฟ้าในปี 2566) ส่งผลให้อัตรากำไรลดลงจาก 1.5% เป็น 0.9% กรณีที่ 2)ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 25.7% (เพิ่มขึ้นจาก 4.16 บาท/หน่วยไฟฟ้าในปี 2565  เป็น 5.23 บาท/หน่วยไฟฟ้าในปี 2566) ส่งผลให้อัตรากำไรลดลงจาก 1.5% เป็น 0.7% กรณีที่ 3)ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 33.9% (เพิ่มขึ้นจาก 4.16 บาท/หน่วยไฟฟ้าในปี 2565 เป็น 5.57 บาท/หน่วยไฟฟ้าในปี 2566) ส่งผลให้อัตรากำไรลดลงจาก 1.5% เป็น 0.4% ดังนั้น หากสัดส่วนระหว่างค่าไฟฟ้าและต้นทุนทั้งหมดเฉลี่ยอยู่ที่ 4.0% ในปี 2565 และค่าไฟฟ้าเฉลี่ยมีทิศทางตามกรณีที่ 1 (รูปที่ 2) จะทำให้อัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยของอุตสาหกรรมการผลิตคาดว่าลดลงจาก 1.5% ในปี 2565 เป็น 0.9% ในปี 2566 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.3% ในปี 2567 ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าต้นทุนอื่นๆ นอกเหนือจากค่าไฟฟ้า และรายได้คงที่ในช่วงเวลาดังกล่าว

อัตรากำไรสุทธิของอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้ไฟฟ้าอย่างเข้มข้น มีแนวโน้มลดลงประมาณ 0.04%-0.14% หากค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากค่าไฟฟ้าในขาขึ้นค่อนข้างมาก คือ อุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้าในกระบวนการผลิตอย่างเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมผลิตเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมผลิตโลหะ อุตสาหกรรมผลิตยางและพลาสติก และอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ ดังนั้น หากสัดส่วนระหว่างค่าไฟฟ้าและต้นทุนทั้งหมดของอุตสาหกรรมดังกล่าวอยู่ที่ 4.7%-14.1% ในปี 2565 และค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเป็นตามกรณีที่ 1 (รูปที่ 2) จะทำให้อัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยของอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ลดลงจาก -3.0% ถึง 1.2% ในปี 2565 เป็น -4.4% ถึง 0.1% ในปี 2566 ก่อนที่จะฟื้นตัวเป็น -3.5% ถึง 0.8% ในปี 2567 ซึ่งอยู่ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากค่าไฟฟ้า และยอดขายไม่เปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาดังกล่าว

ค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในปี 2566-2567 ส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมจำเป็นต้องหาแนวทางในการลดการใช้พลังงานความร้อนและไฟฟ้าในกระบวนการผลิต รวมถึงการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพสูงที่สุด เพื่อลดผลกระทบจากค่าไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งจะอธิบายแนวทางดังกล่าวในหัวข้อถัดไป

IV. แนวทางในการประหยัดไฟฟ้าของอุตสาหกรรมการผลิต

อุตสาหกรรมการผลิตเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้าอย่างเข้มข้น จึงทำให้ได้รับผลกระทบอย่างมากจากค่าไฟฟ้าที่คาดว่ายังอยู่ในระดับสูงในอีก 1-2 ปี ข้างหน้า โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากเครื่องจักรที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมนี้ เช่น เครื่องอัดอากาศ (Air compressor) และหม้อแปลงไฟฟ้า ใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างสิ้นเปลือง และมักถูกละเลยในเรื่องการประหยัดพลังงานไฟฟ้าดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานไฟฟ้าของเครื่องจักรดังกล่าว และการปรับตัว เพื่อลดผลกระทบจากค่าไฟฟ้าในระยะข้างหน้า โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้

  • ควรติดตั้ง Capacitor Bank ที่ทำหน้าที่ปรับค่าเพาเวอร์แฟคเตอร์ (PF.) ของระบบจ่ายไฟของหม้อแปลงไฟฟ้าในโรงงาน เพื่อลดความสูญเสียพลังงานความร้อนของระบบจ่ายไฟฟ้า ซึ่งช่วยลดการใช้ไฟฟ้าของหม้อแปลงไฟฟ้าถึง 46% เมื่อเทียบกับก่อนติดตั้ง ทั้งนี้ การติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวจะใช้งบประมาณ 3,300 บาท – 240,000 บาท ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ไฟฟ้าของแต่ละโรงงานอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี มีเพียงผู้ประกอบการขนาดใหญ่เท่านั้นที่คุ้มค่าในการติดตั้ง Capacitor Bank เพราะผลประโยชน์จากประหยัดค่าไฟฟ้าของผู้ประกอบการดังกล่าวสามารถทำให้คุ้มค่าในการลงทุนภายใน 2.2 ปี ซึ่งต่ำกว่าอายุการใช้งานของ Capacitor Bank ที่อยู่ประมาณ 11 ปี (รูปที่ 4)
  • ควรปรับความดันของเครื่องอัดอากาศ (Air compressor) ซึ่งเป็นเครื่องจักรที่ช่วยสร้างลมที่ความดันสูง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม ให้เท่ากับความต้องการของเครื่องจักรต่างๆ ในกระบวนการผลิต โดยการปรับความดันของเครื่องอัดอากาศลงทีละ 0.5 Bar เพื่อทดสอบหาความดันที่เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งนี้ วิธีดังกล่าวจะช่วยประหยัดการใช้ไฟฟ้าของเครื่องอัดอากาศถึง 19% โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม12
  • ควรเปลี่ยนเครื่องจักร และชิ้นส่วนเครื่องจักร เช่น เครื่องอัดอากาศ ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี เนื่องจากเครื่องจักรใหม่ เช่น เครื่องอัดอากาศ ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าเครื่องจักรที่อายุใช้งานมากกว่า 20 ปี ถึง 46%12
  • ควรติดตั้ง และใช้ระบบบริหารจัดการพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรม (FEMS) ร่วมกับระบบควบคุมการทำงานของเครื่องจักร (PLC) และเครื่องมือวัดค่าปริมาณพลังงานไฟฟ้า (Power Meter) เนื่องจากการใช้งานเครื่องมือดังกล่าวจะช่วยให้ผู้บริหารเข้าใจถึงการใช้พลังงานไฟฟ้าในโรงงานได้มากขึ้น และยังช่วยให้บริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าของเครื่องจักรต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ซึ่งจะช่วยประหยัดการใช้ไฟฟ้าของเครื่องจักรต่างๆ ได้ถึง 2%-30% ทั้งนี้ ในเบื้องต้น การติดตั้งระบบ FEMS รวมทั้ง อุปกรณ์ที่ใช้งานร่วม เช่น PLC และ Power Meter ใช้เงินลงทุนราว 120,000 บาท นอกจากนั้น ระบบการจัดการพลังงานนี้เป็นระบบที่มีรายละเอียดจำเพาะเจาะจงสำหรับผู้ใช้แต่ละราย14 จึงควรเลือกปรึกษา และใช้บริการผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญในการติดตั้งและดัดแปลงระบบดังกล่าว โดยรายชื่อของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจติดตั้งระบบ FEMS อยู่ในรูปที่ 5
  • ควรติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าในระยะยาว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีกำลังการผลิตที่เพียงพอต่อปริมาณการใช้ไฟฟ้า พร้อมทั้งติดตั้ง Energy Storage System หรือแบตเตอรี่ Lithium-ion ที่มีความจุเท่ากับปริมาณการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีความเข้มแสงไม่เพียงพอในการผลิตไฟฟ้า เพราะแบตเตอรี่ชนิดนี้ช่วยกักเก็บพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินในช่วงเวลาที่มีความเข้มแสงเพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้า (10.00 am – 3.00 pm) เพื่อนำไปใช้ในช่วงเวลาอื่น จึงทำให้ได้รับประโยชน์สุทธิจากประหยัดไฟฟ้าตลอดอายุการใช้งานแผงเซลล์อาทิตย์ (25 ปี) มากที่สุด โดยรายละเอียดเพิ่มเติมอยู่ในรูปที่ 6

ค่าไฟฟ้า ถือเป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิต จึงทำให้กำไรสุทธิของอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้าอย่างเข้มข้นในกระบวนการผลิต เช่น อุตสาหกรรมผลิตเคมีภัณฑ์ และอุตสาหกรรมผลิตสิ่งทอ มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่อยู่ในระดับสูงในช่วงปี 2565-67 เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า อย่างก๊าซธรรมชาติของไทยยังทรงตัวในระดับสูง จากการที่ไทยยังคงต้องนำเข้าก๊าซ LNG จากต่างประเทศในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนการขาดหายไปของก๊าซธรรมชาติจากประเทศเมียนมาและอ่าวไทยในช่วงปี 2565-67 ประกอบกับ ภาครัฐมีแนวโน้มที่จะปรับค่าไฟฟ้า ตามต้นทุนแท้จริง หรือทยอยเรียกเก็บเงินเพิ่มจากค่าไฟฟ้าในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า ดังนั้น ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องปรับตัวโดยมีตัวอย่างทางเลือก ได้แก่ การติดตั้ง Capacitor Bank การติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) พร้อมทั้งติดตั้งแบตเตอรี่ Lithium-ion เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว

 

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp