CPF หนุน BCG Model พัฒนา “Future Food” ร่วมขับเคลื่อนสู่ความมั่นคงทางอาหาร

33

มิติหุ้น – บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ตอกย้ำความเป็น “ครัวของโลกที่ยั่งยืน” โชว์นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตที่เน้นการพัฒนาอาหารจากวัตถุดิบทางเลือก และเทคนิคใหม่ๆ เพื่อความปลอดภัย และสุขภาพที่ดีขึ้นของผู้บริโภค สร้างสมดุลระบบนิเวศซึ่งเป็นฐานทรัพยากรในการผลิตอาหาร  พร้อมร่วมแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับเทรนด์อาหารโลกที่มีความสำคัญต่อวิถีความเป็นอยู่ของทุกคนในอนาคตข้างหน้า หนุนอุตสาหกรรมอาหารไทย ขับเคลื่อนหลัก BCG Economy ต่อยอดสู่การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน สร้างโอกาสทางการค้า ตอบรับสถานการณ์โลก

ดร.ลลานา ธีระนุสรณ์กิจ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านนวัตกรรมอาหารและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ซีพีเอฟ ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากร (Keynote Speaker) ในหัวข้อ Future Food Trends หรือเทรนด์อาหารอนาคต ในงาน Isan BCG Expo 2022 จัดขึ้น ณ ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์  ระหว่างวันที่ 9 – 12 ธันวาคม โดยกลุ่มมิตรผล ซึ่งดร.ลลานา ได้กล่าวว่า อาหารแห่งอนาคตต้องตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน ทั้งในแง่สุขภาพของประชากร และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การพัฒนาอาหารแห่งอนาคต จะต้องคำนึงถึงสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ (wants) เช่น สุขภาพที่ดี ความสะดวกสบาย การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์  ไม่ใช่แค่การคำนึงถึงสิ่งที่จำเป็นต่อผู้บริโภค (needs) อีกต่อไป

ดังนั้นซีพีเอฟ ซึ่งมีวิสัยทัศน์ก้าวสู่การเป็น “ครัวของโลก” และ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหาร หรือ  CPF RD Center ใช้จึงได้พัฒนาอาหารเพื่อตอบสนองต่อเทรนด์ของผู้บริโภค และความยั่งยืนของโลก โดยนำหลักเศรษฐกิจโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy : BCG  เป็นพื้นฐาน ร่วมกับการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร วิจัยและพัฒนาอาหารครบวงจรตั้งแต่ผลิตภัณฑ์อาหาร จนถึงบรรจุภัณฑ์ พร้อมทั้งร่วมมือกับสตาร์ทอัพ  คู่ค้า พันธมิตร และสถาบันวิจัยทั่วโลก วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น

“เราเริ่มจากการที่เราทำผลิตภัณฑ์ functional drinks ต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคด้านสุขภาพอย่างยั่งยืนที่เริ่มจากโภชนาการที่ดี ผลิตภัณฑ์ plant-based protein ที่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคด้านโปรตีนทางเลือก และในอนาคตเราจะโฟกัสในกลุ่มผลิตภัณฑ์เฉพาะบุคคลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารผู้สูงอายุ อาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย NCD ฯลฯ” ดร.ลลานา กล่าว

หนึ่งในความสำเร็จของ CPF RD Center คือ การพัฒนา ผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืชแบรนด์ Meat Zero โดยร่วมกับสถาบันวิจัยระดับโลก คิดค้นเทคโนโลยี PLANT TEC เทคนิคการสร้างเนื้อจากพืชมีลักษณะกลิ่น รสชาติ และเนื้อสัมผัสเหมือนเนื้อสัตว์จริง ทำให้ Meat Zero มีจุดเด่นตรงรสชาติอร่อย และยังมีความหลากหลายเรื่องของเมนู เป็นทั้งอาหารพร้อมทานและอาหารพร้อมปรุง รสชาติดี มีไฟเบอร์สูง ไม่มีคอเลสเตอรอล ใช้สารปรุงแต่งให้น้อยที่สุด ไม่ใช้สารกันบูด รวมถึงการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่ม Flexitarian กลุ่มรักสุขภาพและสิ่งแวดล้อม บริษัทฯ ยังร่วมมือกับสตาร์ทอัพและองค์กรชั้นนำพัฒนาโปรตีนทางเลือกอื่นๆ เช่น เนื้อสัตว์จากการเพาะเลี้ยงเซลล์เนื้อเยื่อ (cell-based protein)

ซีพีเอฟยังให้ความสำคัญกับอาหารเพื่อสุขภาพ พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านคุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการที่ดีของผู้บริโภคทั่วโลก เช่น ไก่เบญจา ครั้งแรกของโลกที่เลี้ยงด้วยข้าวกล้อง และเพิ่มโอเมก้าทำให้เนื้อไก่มีโอเมก้าสูง  การพัฒนาผลิตภัณฑ์หมูชีวา ที่เลี้ยงด้วย Superfood จึงมีโอเมก้าสูงกว่าเนื้อหมูทั่วไป ผลิตภัณฑ์ BiFiO Probiotic อาหารเสริมสร้างภูมิคุ้มกันดีขึ้น ปรับสมดุลลำไส้  อาหารเพื่อกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่ม NutriMax  กลืน ง่าย ย่อยง่ายและ เร็ว มีคุณค่าทางอาหารตามที่ผู้สูงอายุต้องการ อาหารลดปริมาณโซเดียม ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs)

ดร. ลลานาได้เสริมว่า ภายในปี 2574 โลกจะเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มตัว โดย 28% ของประชากรโลกมีอายุมากกว่า 60 ปี สำหรับประเทศไทย ตอนนี้ประชากรกว่า 11 ล้านคน มีอายุมากกว่า 60 ปี ตลาดอาหารเพื่อผู้สูงจึงกลายเป็นตลาดที่น่าสนใจ และมีความสำคัญกับประเทศไทย

“ศูนย์วิจัยของ CPF ยังคงเดินหน้าพัฒนาเพื่อสุขภาพ โพรไบโอติก อาหารที่มีโปรตีนสูง และอาหารสำหรับ ผู้สูงอายุ  อย่างต่อเนื่อง ด้วยกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามหลัก BCG โมเดล เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพที่ดีให้ผู้บริโภคทุกกลุ่มทั่วโลก” ดร. ลลานา กล่าว

ภายในงานเดียวกัน นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ ยังได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ The Real Sustainable Community โดยเน้นย้ำว่าซีพีเอฟ ยึดหลัก BCG Model ในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงให้ความสำคัญกับการดูแลชุมชนรอบสถานประกอบการอย่างยั่งยืน โดยมีแผนการจัดการอย่างเป็นรูปธรรม และนำไปสู่การกระตุ้นให้พนักงานของบริษัทมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์โครงการ เพื่อประโยชน์ของชุมชน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดเครือข่าย และความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ชุมชน และภาคประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายในการดูแลชุมชนให้สามารถมีรายได้ ความเป็นอยู่ที่ดี และสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน

 

 

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp