FETCO ค้านหัวชนฝาเก็บภาษีขายหุ้น

738

มิติหุ้น- เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 65 ทันทีครม.เปิดประเด็นประกาศจัดเก็บภาษีขายหุ้น ได้รับเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญจากวงการตลาดทุนแบบไม่ได้นัดหมาย ใจความหลักทุกคนไม่ขัดจะจัดเก็บภาษีขายหุ้น แต่ข้อสำคัญอยู่ที่จังหวะเวลา มันไม่เหมาะไม่ควรกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุว่า แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในตลาด แต่เป็นข่าวลบในระยะกลางกับตลาดหุ้นไทย ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีประเภทนี้มา 30 ปี โดยในช่วงแรกที่มีผลบังคับใช้ มูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนที่จ่ายค่าคอมมิชชั่นในราคาต่ำมากๆ เช่น จ่ายล้านละ 100-500 บาท อาจจะลดลงเพราะมีต้นทุนการขายเพิ่มขึ้น รวมถึงปริมาณและจำนวนรอบของการเทรดดิ้งจะน้อยลง เนื่องด้วยต้องมีภาษีขายเข้ามาเพิ่ม และระดับของผลกระทบจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับภาวะตลาดหุ้น หากเป็นช่วงตลาดหุ้นขาขึ้นผลกระทบจะน้อย แต่หากเป็นตลาดไซด์เวย์หรือขาลง ผลกระทบต่อมูลค่าซื้อขายจะมากกว่า

 

“กอบศักดิ์” ออกโรง ยืนยันไม่เห็นด้วย

ด้าน “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ในฐานะ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ยังคงยืนยันคำเดิม ว่าช่วงนี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมสำหรับการเก็บภาษีขายหุ้น เป็นช่วงที่ตลาดผันผวนปั่นป่วนอย่างยิ่งในสินทรัพย์ต่างๆ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นหุ้น พันธบัตร ทองคำ ค่าเงิน และสินทรัพย์ใหม่ เช่น คริปโทฯ ส่งผลกระทบต่อนักลงทุน และจะผันผวนไปอีกระยะ นอกจากนี้ ยังมีวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นรออยู่ข้างหน้า ซึ่งเริ่มเห็นเค้าลางในบางประเทศ และสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ไทยได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจนมาเหลือน้อยกว่าครึ่งของก่อนหน้านี้

FETCO เคยได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.คลัง เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา และได้ทักท้วงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา  ใจความหลักของจดหมายเปิดผนึกที่มีข้อเสนอถึง รมว.คลัง ระบุว่าสาเหตุที่ ไม่เห็นด้วยเพราะจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพคล่องของตลาด เป็นภาระและส่งผลกระทบต่อการซื้อขาย

รวมถึงด้อยค่าหลักทรัพย์ที่ผู้ถือหุ้นถือครองอยู่ โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนรายย่อยกว่า 2 ล้านคนที่ลงทุนทางตรงในตลาดหลักทรัพย์ และอีก 17 ล้านคนที่ลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวมและกองทุนสวัสดิการต่างๆ รวมถึงนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างประเทศ

ทั้งนี้ จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะส่งผลให้ประชาชนต้องออมเพิ่มขึ้นอีก 2-3 ปี เพื่อให้มีเงินเพียงพอในยามเกษียณ

ข้อสำคัญกระทบให้ต้นทุนการระดมทุน (Cost of Capital) สูงขึ้นเมื่อสภาพคล่องในตลาดลดลง จะทำให้บริษัทจดทะเบียนชะลอหรือลดการลงทุนขยายธุรกิจ มีกำไรลดลง ท้ายที่สุด Productivity และ GDP ของประเทศ รวมตลอดถึงภาษีนิติบุคคลที่บริษัทจ่ายได้จะลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ผลเสียจะกระทบแรงกับกลุ่มบริษัทขนาดกลางและเล็กก็มีทางเลือกและแหล่งเงินทุนที่จำกัดมากอยู่แล้วในปัจจุบัน

 

คลังไม่ยั่นกระแสสังคม

ถึงจะมีกระแสสังคม แต่กระทรวงการคลังภายใต้ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินหน้าลุยเต็มที่ พร้อมกับจัดแถลงข่าวด่วนเมื่อวันศุกร์ที่ 2 ธ.ค. 65 เพื่อยืนยันในเจตนารมณ์โดยให้เหตุผลว่าได้ละเว้นมาเป็นเวลานาน 30 ปีแล้ว เพราะในขณะนั้นตลาดหลักทรัพย์อยู่ในช่วงเริ่มต้น เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับตลาดทุน แต่ปัจจุบันตลาดทุนมีความแข็งแกร่ง ด้วยมาร์เก็ตแคปสูงถึง 20 ล้านล้านบาท นับว่าเป็นจังหวะเหมาะสม

ขณะนี้ครม.อนุมัติในหลักการแล้ว จากนี้ไปจะอยู่ในขั้นตอนตีความพระราชกฤษฎีกา รอโปรดฯเกล้า และประกาศในราชกิจการนุเบกษา หลังจากนั้นจะมีเวลา 90 วันในการเตรียมตัว หรือจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนที่ 4 ถัดจากเดือนที่พระราชกฤษฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษา (Grace Period ประมาณ 90 วัน)

การจัดเก็บจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรกจะจัดเก็บในอัตรา 0.05%  เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่นจะเป็น 0.055%  มีผลจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566  ช่วงที่ 2 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 67 จัดเก็บในอัตรา 0.1% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่นจะเป็น 0.11%

ทั้งนี้ ยังคงการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้แก่ 1. ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉพาะการขายหลักทรัพย์ที่บุคคลนั้นได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของหลักทรัพย์นั้น 2. สำนักงานประกันสังคม 3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 4. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 5. กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน 6. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ 7. กองทุนการออมแห่งชาติ และ8. กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่สำนักงานประกันสังคมหรือกองทุนตามข้อ 3 – 7 เท่านั้น

 

 

@mitihoonwealth

https://lin.ee/cXAf0Dp