บลจ.วรรณ ผลงานหรูAUMปีนี้เกินเป้า ปี 66 ตั้งเป้าเฉียด 2 แสนลบ.

155

 

มิติหุ้น –นายพจน์  หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 65 บริษัทวางเป้าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ไว้ 1.5 แสนลบ. มีสัดส่วนสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจากธุรกิจกองทุนรวมอยู่ประมาณ 50% กองทุนสำรองเลี้ยงชีพประมาณ 25% และกองทุนส่วนบุคคลประมาณ 25% ซึ่งในเดือนก.ย. บริษัททำได้ตามเป้าเรียบร้อยแล้ว คาดว่าสิ้นปี 65 AUM จะอยู่ที่ประมาณ 1.6 แสนลบ. และปี 66 คาดว่าจะทำได้ 1.7-1.8 แสนลบ.

แผนงานของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา ยังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางแผนไว้ โดยบริษัทมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร ณ เดือน กันยายน ปีนี้ อยู่ที่ 1.51 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจากธุรกิจกองทุนรวมอยู่ประมาณ 50% กองทุนสำรองเลี้ยงชีพประมาณ 25% และกองทุนส่วนบุคคลประมาณ 25% โดย 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้เน้นการบริหารกองทุนให้ลูกค้าแบบ Asset Allocation ให้เหมาะสมตามจังหวะของตลาดและระดับการยอมรับความเสี่ยงของนักลงทุน โดยจุดเด่นของ Asset  Allocation คือการวางกลยุทธ์ด้วย Alternative Asset Class ซึ่งถือเป็นปีที่บริษัทประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก อีกทั้งในปีหน้า บริษัทยังคงเดินทางหาผลิตภัณฑ์กองทุนทางเลือกต่อเนื่อง เพื่อปรับสมดุลพอร์ตและเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนให้กับลูกค้า

“ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็น 3 ปีที่ท้าทายมากของบริษัทจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะภาวะโรคระบาดที่เกิดขึ้น ทำให้มีภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจชั่วคราว อีกทั้งยังมีการใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มงวด การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ จากการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ และความขัดแย้งทางภูมิภาคระหว่างรัสเซียและยูเครน ทั้งนี้บริษัทได้พยายามดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งปัจจุบันถือว่า ทุกอย่างประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ตั้งแต่การจัดตั้งบริษัทในเครือ บล.ไพน์ เวลท์ โซลูชั่น เพื่อดำเนินธุรกิจ Wealth Management แบบครบวงจร ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมช่องทางการลงทุนให้กับบริษัท  ด้านธุรกิจกองทุนรวม  เราได้เปิดเสนอขายกองทุน ไลฟ์ เซทเทิลเมนท์ (Life Settlement) นับเป็นกองทุนทางเลือกที่สร้างความแตกต่างเรื่องนวัตกรรมลงทุน หากเทียบกับ สินทรัพย์ทางเลือกในหมวดเดียวกัน อาทิ ทองคำ และน้ำมัน โดยเราได้นำเสนอขายถึง 3 กองทุน โดยกองทุนล่าสุด บริษัทปิดยอด IPO รวมประมาณ 2.2 พันล้านบาท ทำให้กองทุนเปิด วรรณ ไลฟ์ เซทเทิลเมนท์ 3 ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (ONE-LS3-UI) เป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่ใหญ่ที่สุดในปีนี้ ซึ่งเป็นกองทุนที่เราได้รับรางวัล Best Innovative Company Awards จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อีกทั้งปีนี้ เรายังได้รางวัล  REIT ยอดเยี่ยมผลตอบแทนดีมีวินัย จากทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ แกรนด์ โฮสพีทาลิตี้ (GAHREIT) ปีนี้นับว่าเราประสบความสำเร็จอย่างมากสำหรับการบริหารงานกองทุน” นายพจน์กล่าว

ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา บริษัทได้เปิดเสนอขาย 6 กองทุนรวมโดยปีนี้ บริษัทเน้นกองทุนลักษณะรูปแบบเฉพาะ(Thematic Fund) อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ กองทุนเปิด วรรณ เมดิคอล เทคโนโลยี (ONE-MEDTECH) กองทุนเปิดวรรณ เมตาเวิร์ส อิควิตี้ (ONE-METAVERSE) กองทุนเปิด วรรณ ตราสารหนี้ไทย 2Y ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (ONE-TFIN2Y-AI) ลงทุนตราสารหนี้ Investment grade ผสม High Yield Bond กองทุนเปิด วรรณ ไชน่า ท็อป 10M อันเฮดจ์ (ONE-CHINATOP10M-UH) กองทุนเปิด วรรณ ท็อป ซีเล็คชั่น 5MC (ONE-TOP5MC) เน้นลงทุนหุ้นไทย และล่าสุด กองทุนเปิด วรรณ ไลฟ์ เซทเทิลเมนท์ 3 ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (ONE-LS3-UI) ซึ่งปัจจุบันเรามีกองทุนภายใต้การบริหารครอบคลุมทุกๆตลาด อย่างไรก็ดี ในไตรมาสแรกของปี 2566 บริษัทเตรียมนำเสนอกองทุนใหม่ ในรูปแบบกองทุนที่มีนโยบาย Complex Return หรือกองทุนตราสารหนี้ที่ได้ประโยชน์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ

นายพจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทยังคงรุกการเติบโตในส่วนกองทุนส่วนบุคคล ลูกค้านิติบุคคลและสถาบันองค์กรขนาดใหญ่รวมถึงตัวแทนขาย (Selling Agents)  โดยล่าสุด บริษัทชนะการคัดเลือกจากรัฐวิสาหกิจรายใหญ่ระดับประเทศ เพื่อบริหารการลงทุน มูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ AUM ของบริษัทเติบโตขึ้นอีกในปีหน้า ซึ่งการได้รับการคัดเลือกครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของทีมงาน fund management และระบบที่ยอดเยี่ยมของบริษัทภายใต้ fiduciary duty และ great governance

อย่างไรก็ดี บริษัทเตรียมเพิ่มฐานลูกค้าออนไลน์ (Online Clients Acquisition) โดยระบบการดำเนินงานต่างๆจะทำเป็นระดับอิเล็กทรอนิคทั้งหมด (electronic class) ซึ่งจะเป็นการร่วมมือกันระหว่างบริษัทและบริษัทพันธมิตรด้านออนไลน์ ทั้งคาดว่า จะสามารถเริ่มได้ประมาณไตรมาส 2 ของปี 2566 นอกจากนี้ บริษัทยังได้เริ่มเตรียมตัวสำหรับผลิตภัณฑ์การลงทุนประเภทสินทรัพย์ดิจิตัล (Digital Assets) ซึ่งอาจต้องมีการขยายธุรกิจเพิ่มเพื่อรองรับความต้องการในอนาคต และยังคงต้องอยู่ภายใต้หน่วยงานกำกับดูแล

ในส่วนธุรกิจกองทุน ปีหน้าเราได้พัฒนานโยบายการลงทุนในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคล โดยเพิ่มผลิตภัณฑ์และบริการให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยคาดว่าจะสามารถนำเสนอขายแก่สมาชิกกองทุนและลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า

 

นายมณฑล จุนชยะ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.วรรณ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาพการลงทุนว่า สำหรับปี 2566 ภาวะการณ์ลงทุนในประเทศไทย ยังคงมีปัจจัยที่ต้องติดตาม โดยปัจจัยแรก คือ ภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐ ฯ ที่น่าจะเริ่มอิ่มตัว แต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED น่าจะยังมีต่อเนื่องไปถึงต้นไตรมาส 2/66 โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ประมาณ 5% +/- และคงอัตราดอกเบี้ยไว้จนถึงปี 2567 ปัจจัยที่สอง เรื่องนโยบายของประเทศจีน ซึ่งมองว่าทางการจีนควรจะเริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการ Zero – Covid และอาจจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนก่อนไตรมาส 2/66 ทั้งนี้ จะถือเป็นผลบวกกับภาคการท่องเที่ยวของไทยและค่าเงินบาท และอีกปัจจัยที่สำคัญโดยเฉพาะประเทศไทยคือ การจัดการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงไตรมาส 2/66 โดยมองว่าจะเป็นผลดีต่อภาพการลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่ในช่วงเดือนแรกหลังการเลือกตั้งตลาดหุ้นจะตอบรับในเชิงบวก จากปัจจัยเหล่านี้จะเห็นว่าในช่วง ครึ่งปีแรกของปี 2566 ภาพการลงทุนมีแนวโน้มค่อนข้างดีสำหรับประเทศไทย โดยเรามี เป้าหมาย SET INDEX ที่ 1780 โดยมีค่า PE อยู่ที่ 16 เท่า ขณะที่สถานการณ์ต่างประเทศอาจจะมีความกังวลในเรื่องของภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศเป็นได้แค่เทรดดิ้งเท่านั้น

“ตลอดปีที่ผ่านมาภาพการลงทุนหลักๆค่อนข้างมีปัจจัยลบ ทั้งการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศยุโรป  ภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย กับยูเครน รวมทั้ง นโยบาย Zero – Covid ของประเทศจีน ซึ่งกลุ่มประเทศเหล่านี้ คิดรวมแล้วมีน้ำหนักเกือบครึ่งหนึ่งของ GDP โลก ทำให้ GDP โลกปีนี้ โตประมาณ 3.2% และยังจะส่งผลต่อเนื่องทำให้ GDP โลกปี 2566 จะขยายตัวแค่ 2.7%  จากประเด็นปัญหาข้างต้นทำให้ราคาสินทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวลดลง อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ หุ้นเทคโนโลยี และ หุ้นเมกกะเทรนด์ ที่เคยโดดเด่นมาตลอดในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ต่างก็ปรับตัวลดลงกว่า 20% อาจจะพูดได้ว่าสินทรัพย์ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดไม่สามารถสร้างผลตอบแทนเกินกว่าค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อของโลกที่  8.8% ได้” นายมณฑล กล่าว

สำหรับตลาดหุ้น ซึ่งคาดการณ์ผลตอบแทนกันอยู่ไม่ถึงร้อยละ 10  เนื่องจากผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกเติบโตไม่มาก ทำให้การลงทุนในหุ้นอาจจะมองให้ยาวขึ้นเป็นระดับ 6-12 เดือน เน้นหุ้นพื้นฐานดีที่เกี่ยวกับการบริโภค ตลาดหุ้นไทยยังน่าสนใจอยู่เพราะมีปัจจัยเฉพาะตัวเช่นเลือกตั้ง และการท่องเที่ยว

ในส่วนของตลาดต่างประเทศ บริษัทมองว่า ตลาดหุ้นจีนน่าสนใจเรื่องผ่อนคลายนโยบาย Zero – Covid ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐอาจจะมีจังหวะในช่วงที่ FED ปรับมุมมอง โดยมองว่าอาจจะยังไม่เห็นท่าทีที่ชัดเจนในช่วงต้นปี สำหรับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ เช่น ทองคำอาจจะได้ผลบวกบ้างจากการอ่อนค่าของเงินสหรัฐฯ  สำหรับการลงทุนในกองทุนทางเลือกอย่างอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIT  ยังมีแนวโน้มทรงตัว ซึ่งน้ำหนักการลงทุนผมมองว่า เป็นเรื่องของวัตถุประสงค์ของรายบุคคลมากกว่า ยังไม่มีปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัย ทั้งนี้ สินทรัพย์ที่น่าสนใจอีกประเภท คือ  พันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ (US Government Bond รุ่น อายุ 3-5 ปี) ที่ให้ผลตอบแทนใกล้เคียงประมาณ 4% ต่อปี ซึ่งเป็นผลตอบแทนระยะกลางที่ดีเหมาะสำหรับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp