“กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ฉายภาพ “เศรษฐกิจ-การลงทุน” ปี 66

694

จากสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนปี 65 ถือว่าเป็นปีปราบเซียน เกิดความผันผวนในทุกสินทรัพย์ อาทิ หุ้น คริปโตฯ พันธบัตร ทองคำ ค่าเงิน คาดจะลากยาวไปถึงปี 66 ทำให้ทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนกำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในปีหน้า

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า ตอนนี้เรากำลังเจอกับมรสุม Perfect Storm ในระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งมี 7 ความท้าทายที่ต้องเผชิญ โดย 3 ความท้าทายแรก มาจากสถานการณ์ รัสเซีย ยูเครน สหรัฐ ส่งผลให้เกิดวิกฤตความขัดแย้งระหว่างประเทศ วิกฤตพลังงานและวิกฤตอาหารโลก

ขณะที่ 3 ความท้าทายต่อมา ตัวการสำคัญคือธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ที่ได้สร้างความปั่นป่วนในตลาดการเงินโลก เสี่ยงให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ทั้งสหรัฐและประเทศต่าง ๆ รวมถึงวิกฤตในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ หรือ Emerging Market Crisis  ที่รออยู่ในปีหน้า ท้ายสุดแม้แต่เอเชียเองก็ไม่น้อยหน้า เกิดวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีน ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก หากจีนสะดุดล้ม จะส่งผลเป็นคลื่นกระแทก ต่อกลุ่มคู่ค้ารวมถึงไทยด้วย

เราจะต้องอยู่กับมรสุมนี้ ไปจนถึงปี 67 ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจและการลงทุนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จึงแนะนำ 8 แนวโน้มที่สำคัญที่จะเกิดขึ้นในปี 66

แนวโน้มที่ 1. การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

จากข้อมูลการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เผยสถิตินักท่องเที่ยว 9 เดือนแรกปี 65 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมทะลุ 6 ล้านคน คาดสิ้นปีนี้ยอดรวมจะถึง 10 ล้านคน โดยอันดับ 1 คือ มาเลเซีย รองลงมาจะเป็น อินเดีย ลาว สิงคโปร์ กัมพูชา ตามลำดับ ถ้าเกิดจีนกลับมา ภาคการท่องเที่ยวจะถือว่าเป็นภาคที่ดีเด่นสุดรวมถึงภาคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง คาดว่าปี 66 จะมียอดรวมราว 20-25 ล้านคน

แนวโน้มที่ 2. การเข้ามาของนักลงทุนต่างประเทศ

อาเซียนจะเป็นกุญแจสำคัญในการเข้าสู่เอเชีย จากการที่ไม่มีใครกล้าไปลงทุนในรัสเซียจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงปัญหาจีนกับสหรัฐที่ไม่รู้ว่าจะมีอะไรตามมา อาเซียนจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่หน้าสนใจในการลงทุน ตามมาด้วยโอกาส อาทิ BYD ยักษ์ใหญ่ EV จากจีน ตัดสินใจซื้อที่ดิน 600 ไร่ จาก WHA เพื่อมาลงทุนประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในไทย หรือแม้แต่ AWS บริษัทในเครือ Amazon ตั้งใจที่จะมาทำระบบคลาวด์ในประเทศไทย โดยมีการวางงบประมาณลงทุนมากกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (หรือ 1.9 แสนล้านบาท) ในระยะเวลา 15 ปี

แนวโน้มที่ 3. อุตสาหกรรมในช่วงถัดไป

อุตสาหกรรมเก่า ๆ จะเริ่มเปลี่ยนไปจากการถูก Disruption หรือการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย อาทิ รถยนต์ อาหาร พลังงาน จะเริ่มเข้าสู่ช่วงอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยอุตสาหกรรมไทยที่จะเปลี่ยนไป เช่น เกษตร อาหารชีวภาพ ถือว่าเป็นความเข้มแข็งของไทยในช่วงของวิกฤตอาหารโลก ทำให้เป็นข้อได้เปรียบ รถยนต์ไฟฟ้า เริ่มมีผู้ลงทุนหลายคนตั้งใจใช้ไทยเป็นฐานสำคัญในการผลิตยานยนต์ รวมถึงราคาพลังงานโลกที่ยังอยู่ระดับสูง พลังงานทดแทนจะเริ่มเข้ามา หลังผ่านไป 2-3 ปี สถานการณ์พลังงานโลกก็จะเปลี่ยนไปแบบที่ไม่ค่อยเป็นมาก่อน ซึ่งจะตามมาด้วยโอกาสที่มากกมาย

แนวโน้มที่ 4. ดอกเบี้ยขาขึ้น

คาดปี 66 FED จะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่คิด อยู่ที่ระดับ 5 – 6% เพื่อสู้เงินเฟ้อ ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป คาดปลายปี 65 ดอกเบี้ยไทยจะอยู่ประมาณ 1.25 % และปี 66 จะขึ้นอีกประมาณ 1-2 ครั้ง โดยดูจากเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งยังอยู่ในกรอบ 1 – 3% ถือว่ามีนัยสำคัญเพราะบริษัทไทยไม่ต้องรับภาระเรื่องของต้นทุนการเงินเยอะเหมือนกับประเทศอื่น ๆ ทำให้ในช่วงวิกฤต จะได้รับอานิสงส์จากการที่เงินเฟ้อต่ำ

แนวโน้มที่ 5. ค่าเงินบาทผันผวน

ปัจจัยหลักมาจากการที่ FED ขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วทำให้ค่าเงิน ส่งผลให้ธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกปรับขึ้นตาม แต่ด้วย FED ขึ้นเร็วจนประเทศอื่นตามไม่ทัน ดอลลาร์จึงแข็งค่าขึ้นดูดเงินนักลงทุน ทำให้เกิดความผันผวนในทุกสกุลเงิน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าจนขึ้นไปแตะที่ 38 บาท/ดอลลาร์ และปี 66 ยังเป็นปัจจัยที่ต้องระวังอยู่ ถ้าค่าเงินดอลลาร์เปลี่ยนก็จะส่งผลต่อสินทรัพย์อื่นๆ

แนวโน้มที่ 6. การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ให้ข้อมูลในดือน ต.ค.65 ว่าได้คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 66 จะโตประมาณ 2.7% ขณะที่ประเมินเศรษฐกิจสหรัฐไว้ 1% ยุโรป 0.5% ลาตินอเมริกา 1.7% ซึ่งเป็น 3 กลุ่มตลาดใหญ่ คาดตัวเลขจริงออกมาอาจจะติดลบ โดยประเมินเศรษฐกิจเอเชียไว้ที่ 4.9% ถ้าตัวเลขจริงออกมาคงต่ำกว่านี้ไม่มาก จึงเหมาะเป็นจุดพักเงินและลงทุน เพื่อรอรับมือ Recession ที่จะตามในอนาคต

แนวโน้มที่ 7. Bear and Bull

ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงของตลาดหมี (Bear Market) จากผลประกอบการที่ต่ำกว่าคาดในปี 65 แต่ถ้าตลาดหมีจบลง จะตามมาด้วยตลาดกระทิง (Bull Market) ที่สวยหรูเสมอ โดย 12 เดือนให้หลัง ผลตอบแทนจากการลงทุนจะกลับคืนมาถึง 50% ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนรอคอย

แนวโน้มที่ 8. Emerging Market

หลังจากตลาดตอบรับข่าวร้ายไปหมดแล้วประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐ จะปรับตัวขึ้นก่อน สิ่งที่น่ากังวลใจคือ Emerging Market Crisis ที่จะทำให้ตลาดวิ่งตามประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ทัน IMF แจ้ง ประเทศกำลังพัฒนา 25% และที่ประเทศรายได้ต่ำ 60% มีปัญหาเรื่องหนี้แล้ว ถ้า FED ขึ้นดอกเบี้ย 5 – 6% จะมีอีกกี่ประเทศที่เกิดปัญหา แม้แต่ไทยเองตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นดีก็อย่าชะล่าใจไป ไม่งั้นอาจทำให้ตลาดล้มเหมือนช่วงโควิค – 19 ได้

“วิกฤตคือโอกาส ทุกครั้งที่มีวิกฤต โอกาสจะเกิดขึ้นเสมอ เราจะต้องประคองตัวให้ได้ ถ้าประคองตัวไม่ได้ระหว่างที่จะลุกขึ้นมาโอกาสก็จะผ่านไป แต่ถ้าเราประคองตัวได้ดีโอกาสที่เกิดขึ้นก็จะเป็นของเรา วันนี้ถ้าอยากจะลงทุนก็ลงทุนไปก่อน ให้เราได้อยู่ในตลาด เรียนรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น แต่อย่าใส่เงินทั้งหมดลงไป ผมคิดว่าโอกาสที่ดี ๆ ยังรออยู่ข้างหน้า และเป็นโอกาสที่ดีที่สุดในรอบหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา” ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กล่าวทิ้งท้าย

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp