FSMARTเร่งเครื่องเพิ่มแบงก์-ขยายเคาน์เตอร์ฝาก-โอน ดันพอร์ตสินเชื่อ Buy Now Pay Later ปั๊มรายได้เพิ่ม เผย‘เต่าบิน’ยอดขายเฉลี่ยเกินเป้าหมาย – ปรับโฉม‘GINGA EV’จุดพลุปี’66

124

 

มิติหุ้น-FSMART เร่งเครื่องปั๊มรายได้ปลายปี รับเป็นตัวแทนแบงก์กรุงเทพบริการฝาก-โอนผ่าน ‘บุญเติม’ เป็นแบงก์ที่ 8 พร้อมขยายเคาน์เตอร์บริการทางการเงินทั่วประเทศเร็วๆนี้ ย้ำภาพผู้ให้บริการทางการเงินครบวงจร เพื่อเป็น Ecosystem ทั้งออฟไลน์และออนไลน์เต็มรูปแบบ เดินหน้าขยายพอร์ตสินเชื่อด้วย Buy Now Pay Later ผู้บริหารเผยเต่าบินยอดขายเฉลี่ย 60 แก้วต่อตู้ต่อวันมากกว่าเป้าหมายที่ 50 แก้ว ลุ้นปีนี้ขยายจุดบริการเกินแผน 5,000 ตู้ เตรียมโกอินเตอร์ปลายปี ลุยรีแบรนด์ปรับโฉม ‘GINGA EV’ ชูจุดขายหน้าจอทัชสกรีนรายแรกรายเดียวในระบบ AC พร้อมจดอนุสิทธิบัตรระบบ payment เก็บเครดิตจากเบอร์โทรศัพท์ คาดลงตลาดต้นปี 2566

นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)FSMART” ผู้นำเครือข่ายช่องทางบริการอัตโนมัติและการเงินครบวงจร ใช้งานง่าย สะดวก รวดเร็วและปลอดภัย ภายใต้ชื่อ “บุญเติม” เปิดเผยว่า บริษัทมุ่งมั่นรักษาฐานลูกค้าในธุรกิจกลุ่มธุรกิจเติมเงิน-รับชำระเงินอัตโนมัติด้วยการพัฒนาการบริการใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยการขยายบริการให้ครอบคุลมทุกบริการทางการเงินแบบครบวงจร ทุกช่องทางสามารถเข้าถึงได้ตั้งแต่บนตู้บุญเติมในหมู่บ้าน เคาน์เตอร์แคชเชียร์ในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ไปจนถึงแอปพลิเคชั่นบนมือถือ เพื่อให้ทุกบริการตอบสนองการอำนวยความสะดวกของลูกค้าอย่างเต็มที่

โดยล่าสุดได้เสริมศักยภาพช่องทางทางการเงินของ “บุญเติม” ด้วยการเป็นตัวแทนธนาคารกรุงเทพในการรับฝากเงินและโอนเงิน (Banking Agent) เป็นแห่งที่ 8 จากปัจจุบันเป็นตัวแทนให้กับธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย สะท้อนภาพให้ “บุญเติม” มีบริการทางการเงินมากที่สุด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าสามารถเลือกใช้บริการธนาคารได้ครบครัน ด้วยมาตรฐานความปลอดภัยเช่นเดียวกับตู้ ATM ธนาคาร

เช่น บริการ “บุญเติม โอน-ถอนทันใจ” ใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียวก็สามารถใช้บริการฝาก-โอน-ถอนเงินสดผ่านตู้บุญเติมได้โดยไม่ต้องมีบัญชีธนาคารรองรับทั้งเงินสดและระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็น Ecosystem เต็มรูปแบบ ให้ลูกค้าได้เข้าถึงทุกบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ครอบคลุมด้วยจุดบริการทั่วประเทศของตู้บุญเติมกว่า 130,000 จุด, บุญเติม Mini ATM และช่องทางผ่านเคาน์เตอร์แคชเชียร์ “CenPay Powered by Boonterm”กว่า 1,800 จุด ต่อยอดถึงแอพพลิเคชั่นบนมือถือที่มีการใช้งานเพิ่มขึ้นตามลำดับ ขณะเดียวกัน บริษัทเตรียมขยายบริการทางการเงินทั่วประเทศในรูปแบบเคาน์เตอร์แคชเชียร์ร่วมกับพันธมิตรเพื่อให้เข้าถึงทุกกลุ่มลูกค้าในช่วงปลายปีนี้ เพื่อขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นด้วย

เช่นเดียวกับบริการสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อผ่อนชำระสินค้าที่จะขยายให้กลุ่มลูกค้าเครือข่ายขนาดใหญ่ที่มีความน่าเชื่อถือ รวมทั้งการปล่อยสินเชื่อ BNPL เครื่องใช้ไฟฟ้าที่จะดำเนินการในช่วงปลายปีนี้ ด้วยฐานข้อมูลทั้งลูกค้าบุญเติมกว่า 15 ล้านราย และตัวแทนดูแลตู้บุญเติมกว่าแสนราย รวมถึงยังมีเครือข่ายสมาชิกกลุ่มใหญ่อีกกว่า 1 ล้านราย ด้วยช่องทางเข้าถึงที่หลากหลาย การรับชำระเงินที่สะดวกสบายทั้งบุญเติม แอปพลิเคชัน และการตัดชำระผ่านบัญชี ทำให้มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ ซึ่งการขยายสินเชื่อดังกล่าวจะต่อเนื่องไปสู่การให้สินเชื่อในผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่าง สินเชื่อจำนำทะเบียน ที่ช่วยเสริมรายได้ของบริษัทให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปีต่อๆไป

ขณะที่ธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ Robotic Barista ‘เต่าบิน” ที่ FSMART มีสัดส่วนลงทุน 26.71%นั้น ยังได้รับความนิยมและการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันเต่าบินมีให้บริการมากกว่า 4,200 ตู้ จำนวนแก้วเฉลี่ยมากกว่า 60 แก้วต่อตู้ต่อวันซึ่งมากกว่าที่วางแผนไว้ที่ 50 แก้วต่อตู้ต่อวัน และทาง บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด (FVD) ผู้ให้บริการพยายามขยายจุดจำหน่ายให้ทันต่อความต้องการที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นไปได้ว่าช่วงที่เหลือของปีจะสามารถติดตั้งตู้เต่าบินได้มากกว่าเป้าหมายทั้งปีที่ 5,000 ตู้ และจะส่งผลต่อการรับรู้กำไรจากการลงทุนตามสัดส่วน รวมถึงมีค่าบริหารจัดการการดูแลระบบรับชำระอีกด้วย

ทั้งนี้ ความนิยมของเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ Robotic Barista ‘เต่าบิน” ไม่ได้มีเพียงในประเทศ แต่ได้รับความสนใจจากต่างประเทศ โดยภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปี 2566 ‘เต่าบิน’ จะขยายสู่ต่างประเทศ โดยเริ่มทดลองตลาดในประเทศอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์ ก่อนขยายโอกาสไปยังประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น

สำหรับธุรกิจ EV Charger บริษัทได้ดำเนินการปรับรูปโฉมใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่ชื่อแบรนด์และโลโก้ GINGA EV ไปจนถึงดีไซน์ที่เรียบหรู ด้วยหน้าจอแบบทัชสกรีนรายแรกและรายเดียวในระบบ AC สะดวกต่อการใช้ โดยมีการใช้งานด้วยระบบ payment เช่นเดียวกับตู้เต่าบินที่มีการเก็บเครดิตด้วยเบอร์โทรศัพท์ และได้จดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว คาดว่าประมาณต้นปี 2566 GINGA EV จะสามารถให้บริการในบริเวณลานจอดรถของห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม สำนักงาน โรงพยาบาล และมหาวิทยาลัย เป็นต้น