SCB EIC เศรษฐกิจไทยในยามโลกแบ่งขั้ว (Decoupling)

65

มิติหุ้น – EIC มองเศรษฐกิจโลกจะแบ่งขั้ว (Decoupling) มากขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลให้กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ชะลอตัวลง

การเข้ารับตำแหน่งสมัยที่ 3 ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ท่ามกลางประเด็นความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวันที่ยังยืดเยื้อ กอปรกับการวางนโยบายส่งเสริมการพึ่งพาตนเองของจีนเป็นแผนระยะยาว ไม่ว่าจะเป็น Made in China 2025 และ Dual Circulation ส่งผลให้การแบ่งขั้วระหว่างจีนและสหรัฐฯ มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี EIC คาดว่าการแบ่งขั้วของเศรษฐกิจโลกจะไม่ได้เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ เนื่องจากแต่ละประเทศเองก็ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งเต็มรูปแบบเช่นกัน โดยในรายงาน National security strategy ปี 2022 ของสหรัฐฯ ระบุว่าจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จำนำไปสู่ภูมิรัฐศาสตร์โลกแบ่งขั้วตายตัว และจะเคารพการตัดสินใจของชาติต่าง ๆ ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของตนเอง ด้วยเหตุนี้ EIC จึงมองว่า การกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน จะถูกจำกัดแค่อุตสาหกรรมที่สำคัญต่อความมั่นคงของชาติ อย่าง เซมิคอนดักเตอร์ เนื่องจากการกีดกันการค้าในวงกว้างจะส่งผลให้ทั้งสองประเทศสูญเสียตลาดสำคัญและกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก ในขณะเดียวกัน ถึงแม้การค้าและการลงทุนโลกอาจไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยจากการแบ่งขั้วแต่จะมีจุดหมายปลายทางที่เปลี่ยนไปสู่ประเทศพันธมิตรหรือประเทศใกล้เคียงที่มีศักยภาพมากขึ้น

EIC คาดการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ (Decoupling) จะเป็นโอกาสให้ไทยได้รับประโยชน์ผ่านการย้ายฐานการผลิต (Relocation)

EIC คาดการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ (Decoupling) ที่เร่งตัวจะเป็นโอกาสให้ไทยดึงดูดเม็ดเงินการลงทุน (FDI) เข้าประเทศมากยิ่งขึ้น ผ่านความเป็นไปได้ในการกระจายหรือขยายฐานการผลิตออกจากจีน (Relocation) มายังภูมิภาคอาเซียนที่ยังคงบทบาทเป็นกลาง (Impartiality) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ (Hard Disk Drive: HDD) และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ลำดับสองในตลาดโลกรองจากจีน อีกทั้ง หากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวันไม่ยกระดับความรุนแรง (เช่น จีนจำกัดการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อไต้หวันแค่ในเชิงสัญลักษณ์ ขณะที่สหรัฐฯ ยังไม่คว่ำบาตรจีนโดยตรง) เศรษฐกิจไทยจะได้รับโอกาสทางการค้าในระยะต่อไปผ่านช่องทางการส่งออกสินค้าไปทดแทนสินค้าที่จีนและไต้หวันพึ่งพากันเองสูง และไทยมีส่วนแบ่งตลาดของสินค้าดังกล่าวทั้งในตลาดจีนและไต้หวัน เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องยนต์ ในภาพรวม EIC ประเมินการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจจะเป็นโอกาสให้เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียนได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคนี้มากขึ้น โดยการเติบโตของ GDP ประเทศอาเซียนในระยะยาวจะเพิ่มขึ้น 0.1% ต่อปี ขณะที่ GDP ของไทยในระยะยาวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นราว 0.07% ต่อปี แต่หากในกรณีที่ความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวันยกระดับความรุนแรงขึ้น เศรษฐกิจไทยและอาเซียนอาจชะลอตัวจากการส่งออกและการลงทุนที่ลดลง

การวางแผนรับมือการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจจำเป็นอย่างมากสำหรับประเทศไทย

ภาครัฐจำเป็นต้องเตรียมการเพื่อรับมือต่อภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนไป โดยควรให้ความสำคัญกับ (1) เร่งการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ผ่านมาตรการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากประเทศที่เจาะจง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเกิดการย้ายฐานการผลิต ตลอดจนยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้ปรับตัวได้ทันต่อเทคโนโลยีโลกที่พัฒนาอย่างรวดเร็วเพื่อนำไทยเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลกในเทคโนโลยีขั้นสูง (2) เพิ่มความหลากหลายของแหล่งซัพพลายเออร์และผู้ซื้อ เพื่อลดความเสี่ยงที่ห่วงโซ่อุปทานจะหยุดชะงักจากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากการกีดกันทางการค้า การโจมตีทางไซเบอร์ หรือเหตุความรุนแรงระหว่างประเทศรวมถึงความต้องการของสินค้าที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว (3) ปรับตัวให้ทันต่อระเบียบข้อบังคับโลกที่เปลี่ยนไป จากกฎระเบียบที่เพิ่มมากขึ้น จากการที่ชาติมหาอำนาจพยายามกำหนดระเบียบระหว่างประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเคลื่อนย้ายข้อมูลระหว่างประเทศ และ (4) เตรียมความพร้อมรับมือความท้าทายข้ามชาติ โดยเฉพาะด้าน Environmental, Social, and Governance (ESG) เนื่องจากการลงทุนด้าน ESG มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตและเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของบริษัทข้ามชาติ

 

 

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp