BJC ประกาศผลประกอบการประจำไตรมาส 3/2565 กลุ่มสินค้าและบริการค้าปลีกสมัยใหม่เติบโตต่อเนื่อง กวาดกำไร 932 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 153.9

79

มิติหุ้น – “บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (“บีเจซี” หรือ “บริษัท”)เผยผลประกอบการไตรมาสที่ 3/2565 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)มีกำไรสุทธิ 932 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 153.9 อัตรากำไรขั้นต้นของกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ เติบโตอย่างแข็งแกร่งเป็นจากผลจากการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนการขาย การลงทุนด้านการส่งเสริมการขายที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาหมวดหมู่ และการจัดการสินค้าคงคลังที่ดี

บีเจซี รายงานผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 3/2565 เปิดเผยว่า บริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 40,283 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,361 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 9.1 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากยอดขายและรายได้ค่าบริการในกลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ กลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ อยู่ที่ 36,874 ล้านบาท ในขณะที่ รายได้อื่นรวม เท่ากับ 3,367 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 978 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 40.9 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้อื่นในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าเช่า จากอัตราการเช่าที่สูงขึ้นและการให้ส่วนลดเฉลี่ยแก่ผู้เช่าลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

บริษัทรายงาน รายได้รวมงวดเก้าเดือนของปี 2565 เท่ากับ 121,095 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,455 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.4 เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้รวมงวดเก้าเดือนของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของยอดขายในกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์และกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของรายได้อื่น เนื่องจากการกลับมาฟื้นตัวของรายได้ค่าเช่า

กลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ รายงานยอดขายอยู่ที่ 6,247 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,743 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 38.7 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การเติบโตของยอดขายที่แข็งแกร่ง ภายหลังจากการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศไทยและเวียดนาม ซึ่งส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อทั้งกลุ่มบรรจุภัณฑ์แก้วและกระป๋อง รวมถึงราคาขายของบรรจุภัณฑ์ที่สูงขึ้นจากต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น

กลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค รายงานยอดขายอยู่ที่ 5,477 ล้านบาท ลดลง 481 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.1 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ถึงแม้ว่ากลุ่มธุรกิจอาหารและกลุ่มธุรกิจอุปโภคจะมียอดขายเติบโตอย่างแข็งแกร่ง รวมถึงกลุ่มธุรกิจต่างประเทศที่มียอดขายคงที่ แต่กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์มียอดขายลดลงเนื่องจากการย้ายการจัดการด้านโลจิสติกส์ของบิ๊กซีออกจากธุรกิจโลจิสติกส์กลับสู่กลุ่มสินค้าและบริการค้าปลีกสมัยใหม่ตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้ยอดขายรวมลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

กลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิค รายงานยอดขายอยู่ที่ 2,329 ล้านบาท ลดลง 280 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.7 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยยอดขายที่ลดลงมีสาเหตุหลักมาจากยอดขายกลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์ลดลงจากยอดขายที่ลดลงของสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโควิดเมื่อเปรียบเทียบกับฐานที่สูงจากปีก่อน รวมถึงระยะเวลาในการจัดส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่นานขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การจัดหาเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกที่เข้มงวดขึ้น ในขณะที่ยอดขายกลุ่มสินค้าและบริการทางเทคนิคลดลงเล็กน้อยจากยอดขายโครงสร้างเหล็กชุบสังกะสีที่ลดลง

กลุ่มสินค้าและบริการค้าปลีกสมัยใหม่ รายงานยอดขายอยู่ที่ 26,319 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,174 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.7 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากรายได้จากการขายสินค้าเท่ากับ 23,149 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 344 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.5 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากยอดขายจากการขยายสาขาใหม่ซึ่งสามารถชดเชยกับยอดขายต่อสาขาเดิม ซึ่งติดลบอยู่ที่ร้อยละ -2.4 ในไตรมาส 3/2565 (ยอดขายต่อสาขาเดิมเมื่อไม่รวมยอดขายสินค้าบีทูบี อยู่ที่ร้อยละ -0.5 ในไตรมาส 3/2565) ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากผลของฝนที่ตกหนักและน้ำท่วมในบางพื้นที่ของประเทศไทย และผลกระทบจากฐานเปรียบเทียบที่สูงจากการล็อกดาวน์ในปีก่อนซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดขายอาหารสด รวมถึงผลกระทบด้านลบจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม

นอกจากนี้ยังคงขยายสาขาอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 3/2565 โดยได้เปิดบิ๊กซี ฟู้ด เพลส จำนวน 1 สาขา, เอ็มเอ็ม ฟู้ด เซอร์วิส จำนวน 1 สาขา, และบิ๊กซี มินิ จำนวน 25 สาขา ในประเทศไทย ปิดบิ๊กซี มินิ จำนวน 1 สาขา ในระหว่างไตรมาส ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 มีจำนวนสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมด 154 สาขา (รวมบิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ 1 สาขา ในประเทศกัมพูชา) ร้านค้าขนาดซูเปอร์มาร์เก็ต 63 สาขา (บิ๊กซีมาร์เก็ต 38 สาขา บิ๊กซี ฟู้ด เพลส ซูเปอร์มาร์เก็ต 11 สาขา บิ๊กซีดีโป้ 11 สาขา และร้านค้าส่ง เอ็มเอ็ม ฟู้ด เซอร์วิส 3 สาขา) บิ๊กซี มินิ 1,456 สาขา (รวมสาขาแฟรนไชส์ 56 สาขา ในประเทศไทย บิ๊กซี มินิ 1 สาขา และร้านค้าสะดวกซื้อกีวี่ 18 สาขา ในประเทศกัมพูชา) และร้านขายยาเพรียว 146 สาขา

 

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp