DELTA กระทรวงพลังงาน บีโอไอ และผู้นำอุตสาหกรรมแถวหน้าของไทย ตบเท้าเข้าร่วมงานสัมมนา Delta Future Industry Summit 2022 หารือพลังงานสีเขียวและดิจิทัลโซลูชันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

160

มิติหุ้น – บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย กระทรวงพลังงาน และผู้นำด้านอุตสาหกรรมแถวหน้าของประเทศไทย ร่วมหารือเกี่ยวกับนวัตกรรมและโซลูชันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนโยบายประเทศไทย 4.0 พร้อมร่วมขับเคลื่อนประเทศสู่อนาคตที่ยั่งยืนในงานสัมมนาประจำปี Delta Future Industry Summit 2022: Smart Green Energy for a Resilient and Sustainable Thailand เวทีที่เปิดกว้างให้พันธมิตรของเดลต้าได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อค้นหาจุดหมายใหม่แห่งอนาคต พร้อมเปิดตัวโซลูชันล่าสุด อาทิ โครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า โซลูชันดาต้าเซ็นเตอร์ และระบบอุตสาหกรรมอัตโนมัติ ตอกย้ำศักยภาพโดยรวมของนวัตกรรมในการเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยสู่สมาร์ทซิตี้ ซึ่งช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในประเทศและประชาชนสามารถเข้าถึงระบบพลังงานที่มีประสิทธิภาพและระบบเชื่อมต่ออัจฉริยะ

ภายในงาน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ขึ้นกล่าวเปิดพิธีว่า “กระทรวงพลังงานกำลังพัฒนาแผนพลังงานแห่งชาติปี 2565 ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตามเป้าหมายในการเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 โดยจะต้องคงไว้ซึ่งระดับราคาพลังงานที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้และมีมาตรฐานความปลอดภัย พร้อมกันนี้เรายังยินดีที่จะร่วมมือกับผู้นำอุตสาหกรรมอย่างเดลต้า ที่มุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมที่จะช่วยสนับสนุนประเทศไทยให้ก้าวหน้าทั้งด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชนในการคิดค้นโซลูชันและพัฒนาเทคโนโลยีที่จะสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับบริการด้านพลังงานที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้ใช้บริการในประเทศ วันนี้ เราได้เห็นบทบาทสำคัญของเดลต้าในการสนับสนุนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 และอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curves) รวมถึงเป้าหมายในการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ผ่านการพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) และโครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนเป็นผู้บุกเบิกเรื่องโซลูชันสีเขียวสำหรับอาคารและโรงงาน ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีด้านโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ และเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน”

ด้าน นายแจ็คกี้ จาง ประธานบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมสีเขียวและความยั่งยืนในประเทศไทย เดลต้าได้รับการยอมรับจากกระทรวงพลังงานให้เป็นต้นแบบด้านการปฏิบัติการโรงงานสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีโรงงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารสีเขียว (Leadership in Energy and Environmental Design: LEED) ถึง 2 แห่ง และมีโชว์รูมที่มีค่าทางคาร์บอนเป็นศูนย์ (net-zero) แห่งแรกในประเทศ อีกทั้งยังเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้กับแบรนด์ชั้นนำระดับโลก โดยเมื่อไม่นานมานี้ เราได้เปิดตัวเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า DC ความเร็วสูง ขนาดกำลังไฟสูง 200kW เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้บริการในไทยที่มองหาเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่เชื่อถือได้ มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง และชาร์จได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกันนี้ เดลต้า จะยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าร่วมกับพันธมิตรเพื่อนำเสนอโซลูชันเพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ผ่านการขับเคลื่อนให้เกิดการใช้งานระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (E-Mobility) และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์แห่งชาติประเทศไทย 4.0 ต่อไป”

เพื่อสนับสนุนนโยบายพลังงาน 4.0 ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ เดลต้าได้นำเสนอ 3 โซลูชันหลักที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติประเทศไทย 4.0 ดังต่อไปนี้

  • โครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบกระบุว่า ยอดจดทะเบียนสะสมของยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ในประเทศไทย ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 เติบโตขึ้นกว่า 146% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในฐานะผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และผู้ให้บริการโซลูชันสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เดลต้ามีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและการให้บริการเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าในประเทศไทย สำหรับการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร อาทิ เครื่องชาร์จรุ่น Delta 22kW AC MAX และเครื่องชาร์จรุ่น Delta V2X Bi-directional ที่มาพร้อมกับเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Invertor) ระบบกักเก็บพลังงาน และซอฟต์แวร์จัดการพลังงาน DeltaGrid โดยโซลูชันนี้สามารถทำงานเชื่อมโยงกับระบบการจ่ายไฟของภาครัฐได้ เพื่อเพิ่มเสถียรภาพและความพร้อมในการใช้งานสำหรับสถานีชาร์จสาธารณะและเชิงพาณิชย์ พร้อมกันนี้ เดลต้า ประเทศไทย ยังได้ลงนามข้อตกลงร่วมกับ การไฟฟ้านครหลวง (MEA)  และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ตลอดจนผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่เพื่อพัฒนาโซลูชันการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ร่วมมือกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อวางแผนสร้างระบบนิเวศรถยนต์ไฟฟ้า (EV ecosystem) ในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบอีกด้วย

  • โครงสร้างพื้นฐานดาต้าเซ็นเตอร์

ภายในปี 2570 คาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลในไทยจะมีสัดส่วนมากถึง 25% ของ จีดีพีของประเทศ ซึ่งการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเศรษฐกิจดิจิทัลนั้นจำเป็นที่จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านดาต้าเซ็นเตอร์และโทรคมนาคม 5G เข้ามารองรับการใช้งานเทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง Internet of Things (IoT), คลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing), ระบบโครงข่ายการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ (Blockchain), และเทคโนโลยีแห่งโลกเสมือน (Metaverse) เดลต้าจึงได้นำเสนอระบบเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการพลังงานสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีเสถียรภาพสูงตามมาตรฐานสากล พร้อมด้วยการออกแบบระบบที่สอดผสานกันอย่างลงตัวทำให้สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมงจากที่ใดก็ได้ เดลต้าได้ดึงความเชี่ยวชาญในการจัดการพลังงานและการพัฒนาระบายความร้อนเพื่อพัฒนาโซลูชันสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ ประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้พลังงานไฟฟ้าในดาตาเซ็นเตอร์ (Power Usage Effectiveness: PUE) ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการอีกด้วย

  • โครงสร้างพื้นฐานระบบอัตโนมัติ

ระบบอัตโนมัติมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมและช่วยเสริมกำลังการผลิตขั้นสูงให้กับผู้ประกอบการในประเทศ ด้วยประสบการณ์ยาวนานกว่า 30 ปีที่เดลต้าได้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในเรื่องการวิจัยและการพัฒนาสำหรับภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย โซลูชันระบบอุตสาหกรรมอัตโนมัติและระบบบริหารจัดการภายในโรงงานของเดลต้าจึงสามารถนำเสนอเครื่องมือที่จำเป็นแก่ผู้ผลิตของไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ กำลังการผลิต ตลอดจนคุณภาพการผลิตได้เป็นอย่างดี โดยภายในงานสัมมนาครั้งนี้ เดลต้า ได้จัดแสดงนวัตกรรม VTScada ซึ่งมีแพลตฟอร์มระบบแสดงผลที่ทรงพลัง โดยสามารถนำเสนอการวิเคราะห์ดาต้าได้แบบเรียลไทม์และระบบบริหารจัดการที่ง่ายต่อการควบคุมกระบวนการทำงานที่ซับซ้อน เช่น ระบบควบคุมสภาพแวดล้อมในสมาร์ทฟาร์ม (Smart Farm) และระบบมอนิเตอร์ระดับน้ำอัจฉริยะในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนี้ โซลูชันการผลิตอัจฉริยะจากเดลต้า (Delta Smart Manufacturing: DSM) ยังได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นจากนายกรัฐมนตรี ในประเภทอุตสาหกรรมศักยภาพ ประจำปี 2565 ซึ่งสะท้อนถึงความทุ่มเทของบริษัทในการสนับสนุนนโยบายประเทศไทย 4.0 ด้วยเช่นกัน

งานสัมมนาในครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจากผู้นำทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความยั่งยืนและพลังงานสะอาด อาทิ หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย, นายชนินทร์ ขาวจันทร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ), นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการ สำนักบริหารโครงการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), นายชาญ กุลภัทรนิรันดร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), นายอภิเชษฐ์ นุ้ยตูม รองประธานปฏิบัติการ SCG Cleanergy, ดร. Benjamin Chian เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโส บริษัท Chunghwa Telecom Laboratories, นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม Bitkub และนายภัทราวุธ ซื่อสัตยาศิลป์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) บริษัท LINE MAN Wongnai

ในฐานะบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เดลต้า ประเทศไทย มุ่งมั่นที่จะใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมชั้นนำของบริษัทฯ ในด้านการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อขับเคลื่อนอนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เดลต้าพร้อมที่จะร่วมมือกับพันธมิตรที่หลากหลายในการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UNSDGs) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านพลังงานหมุนเวียน โครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐานระบบดาต้าเซ็นเตอร์ และเทคโนโลยีระบบอุตสาหกรรมอัตโนมัติ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 และพร้อมขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ความมั่งคั่ง ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดี

 

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp