KTB เกาะเทรนด์ธุรกิจ IVF หลังวิกฤติโควิด-19 ธุรกิจแห่งความหวังของผู้อยากมีบุตร

314

มิติหุ้น – ปัจจุบันภาวะมีบุตรยากเป็นปัญหาที่พบบ่อยขึ้น และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับคู่สามีภรรยายุคใหม่ทั่วโลก จนในที่สุดองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้ภาวะมีบุตรยากเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษา ซึ่งสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก คือ วิถีการดำเนินชีวิตในปัจจุบันที่ต้องเผชิญกับมลภาวะ ความคร่ำเคร่งและความเครียดจากการทำงาน รวมถึงพฤติกรรมต่างๆ ทั้งการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่จัด นอกจากนี้ คู่สามีภรรยายุคใหม่มีแนวโน้มที่จะแต่งงานและพร้อมที่จะมีบุตรช้าลง เนื่องจากใช้เวลาหมดไปกับการเรียน การทำงาน อีกทั้งยังมีทัศนคติที่จะมีบุตรเมื่อมีความพร้อมด้านการเงินหรือหน้าที่การงานแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ความพร้อมดังกล่าวจะมาพร้อมกับอายุที่มากแล้ว ส่งผลให้สมรรถภาพการมีบุตรลดลง

ทั้งนี้ ข้อมูลของ Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ของสหรัฐอเมริกา พบว่า การตั้งครรภ์ของสตรีกลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนจากข้อมูลล่าสุดในปี 2561 อัตราการคลอดบุตรของสตรีอายุ 35 ปีขึ้นไปในสหรัฐอเมริกา คือ 65.3 (คน) ต่อประชากรหญิงวัยเดียวกัน 1,000 คน เพิ่มขึ้น 13.8% จากปี 2551 ที่มีค่าเท่ากับ 57.4 (คน) ต่อประชากรหญิงวัยเดียวกัน 1,000 คน สอดคล้องกับแนวโน้มการตั้งครรภ์ของสตรีกลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไป ของไทย ซึ่งในปี 2561 อัตราการคลอดบุตรของสตรีอายุ 35 ปีขึ้นไป เท่ากับ 40.5 (คน) ต่อประชากรหญิงวัยเดียวกัน 1,000 คน เพิ่มขึ้น 14.7% จากปี 2551 ที่มีค่าเท่ากับ 35.3 (คน) ต่อประชากรหญิงวัยเดียวกัน 1,000 คน

ด้วยเหตุผลข้างต้นจะป็นตัวช่วยผลักดันให้ตลาดการทำเด็กหลอดแก้ว หรือที่เรียกกันเป็นภาษาอังกฤษสั้นๆ ว่า IVF (In-vitro Fertilization) มีโอกาสเติบโตได้ในอนาคต เพราะนอกจากจะช่วยให้โอกาสตั้งครรภ์สำเร็จสูงขึ้นแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงจากการแท้งบุตร และช่วยให้มีโอกาสที่ได้บุตรที่ปกติ แข็งแรง ไม่มีโรคผิดปกติทางพันธุกรรม รวมถึงสามารถกำหนดช่วงเวลาที่จะวางแผนจะตั้งครรภ์ได้

และก่อนที่จะไปดูว่ามูลค่าตลาด IVF จะมีโอกาสเติบโตได้มากน้อยแค่ไหน เรามาทำความรู้จักกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ที่เรียกว่า IVF กันก่อน

ทำความรู้จักกับ…เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์

เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ((Assisted-reproductive Technologies; ARTs) ได้เข้ามามีบทบาท และเป็นตัวช่วยตอบโจทย์คู่สมรสที่อยากมีบุตรแต่กลับต้องเผชิญปัญหาภาวะผู้มีบุตรยาก ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ที่สำคัญจะเข้ามาช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์มีหลากหลายประเภท ได้แก่

  • การทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF (In-vitro Fertilization)

เป็นการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย โดยการนำไข่และอสุจิมาผสมกันให้เกิดการปฏิสนธิภายนอกร่างกายในห้องปฏิบัติการ จากนั้นจึงจะนำไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว (ตัวอ่อน) ย้ายกลับเข้าไปในมดลูกของฝ่ายหญิง เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ต่อไป [1]ซึ่งปัจจุบันแบ่งการรักษาเป็น 2 แบบ คือ IVF without ICSI (เรียกสั้นๆ ว่า IVF) เป็นการทำเด็กหลอดแก้วแบบเดิม และ IVF with ICSI (เรียกสั้นๆ ว่า อิ๊กซี่, ICSI: Intracytoplasmic Sperm Injection) ซึ่ง IVF กับ ICSI นั้น จะแตกต่างกันตรงที่การรักษาด้วยวิธี ICSI แพทย์จะทำการคัดเชื้ออสุจิที่แข็งแรงที่สุดตัวเดียว แล้วใช้เข็มฉีดเข้าไปในเซลล์ไข่โดยตรง ขณะที่ IVF แบบธรรมดาจะนำไข่และอสุจิหลายตัวไปผสมในจานเพาะเลี้ยง โดยปล่อยให้อสุจิตัวที่แข็งแรงที่สุดว่ายเข้ามาผสมกับเซลล์ไข่ตามธรรมชาติ

  • การผสมเทียมโดยการฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก หรือ IUI (Intrauterine Insemination)

เป็นการฉีดน้ำอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง ซึ่งแพทย์จะนำอสุจิของฝ่ายชายไปคัดกรอง เพื่อเลือกตัวอสุจิที่ยังมีชีวิตและเคลื่อนไหวได้ดี ร่วมกับให้ยากระตุ้นไข่ฝ่ายหญิง[2]

  • การทำซิฟต์ หรือ ZIFT (Zygote Intrafallopian Transfer)

การย้ายตัวอ่อนระยะเซลล์เดียว เข้าไปในท่อนำไข่ เพื่อให้มีการฝังตัวในโพรงมดลูก[3]

  • การทำกิฟต์ หรือ GIFT (Gamete Intrafallopian Transfer)

เป็นการดูดเอาไข่ที่ถูกกระตุ้นออกมาจากรังไข่ แล้วนำมาผสมกับตัวอสุจิที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว จากนั้นจึงฉีดเข้าไปในท่อนำไข่ทันที เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิตามธรรมชาติ เมื่อไข่และอสุจิมีการปฏิสนธิกัน ตัวอ่อนจะเคลื่อนตัวไปตามท่อนำไข่แล้วฝังตัวอยู่ในโพรงมดลูก หลังจากนั้นก็จะเกิดการตั้งครรภ์ในที่สุด[4]

  • การทำอิมซี่ หรือ IMSI (Intracytoplasmic Morphologically Selected Sperm Injection)

เป็นการคัดเลือกอสุจิด้วยกล้องจุลทรรศน์ ที่มีกำลังขยายสูงตั้งแต่ 6,000-12,000 เท่า เพื่อให้ได้อสุจิที่มีลักษณะดี และเหมาะสมที่สุดมาทำการผสมกับเซลล์ไข่ต่อไป

  • การฝากไข่ หรือ การแช่แข็งเก็บรักษาเซลล์ไข่ (Egg Freezing)

เป็นการนำเซลล์ไข่ที่อยู่ในรังไข่ของผู้หญิง มาเข้าสู่กระบวนการแช่แข็งแบบรวดเร็วด้วยเทคนิคการแช่แข็งแบบผลึกแก้ว (Vitrification Freezing) เพื่อคงสภาพของเซลล์ไข่ไว้ ณ เวลานั้นๆ เพื่อเก็บรักษาเซลล์ไข่ไว้ใช้ในการตั้งครรภ์ในเวลาที่พร้อม ซึ่งควรแช่แข็งไข่ในช่วงที่อายุน้อยกว่า 35 ปี เนื่องจากโดยทั่วไปผู้หญิงจะเริ่มประสบภาวะมีบุตรยากที่ช่วงอายุมากกว่า 35 ปีขึ้น

ทั้งนี้ IVF เป็นการรักษาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากเป็นวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากที่มีโอกาสตั้งครรภ์สำเร็จสูงที่สุดเมื่อเทียบกับวิธีการรักษาอื่นๆ และยังไม่ต้องใช้การผ่าตัด ซึ่งจากข้อมูลจาก Allied Market Research ระบุว่า ในปี 2562 การรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี IVF ทั่วโลก มีมูลค่าตลาดมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนกว่า 86.9% ของมูลค่าตลาดการรักษาผู้มีบุตรยากทั่วโลก และคาดการณ์ว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 90% ในปี 2570

ตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากยังสดใส หลังโควิด-19 คลี่คลาย และจีนปรับนโยบายประชากรครั้งใหญ่อีกครั้ง โดยอนุญาตให้มีลูกได้ 3 คน ช่วยหนุนตลาด IVF ให้เติบโต

ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยาก (Fertility Tourism) คือกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาภาวะมีบุตรยาก หรือการท่องเที่ยวเพื่อการมีบุตร ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์มาเป็นตัวช่วยในการตั้งครรภ์ ซึ่งคาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง โดยกลุ่มลูกค้าสำคัญยังคงเป็นชาวจีน ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2564 ทางการจีนได้ประกาศอนุญาตให้ประชาชนมีลูกได้มากขึ้นเป็น 3 คน ถือเป็นการสิ้นสุดนโยบายที่กำหนดให้มีลูกได้ไม่เกิน 2 คน ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งคาดว่าจะเป็นแรงหนุนสำคัญให้ตลาด ท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากเติบโตในอนาคต

ข้อมูลจาก Allied Market Research ระบุว่า ในปี 2570 ตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากทั่วโลกจะมีมูลค่าแตะระดับ 3.36 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 14.2% ต่อปี (ปี 2562-2570) ซึ่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงที่สุด โดยจะมีมูลค่ากว่า 5.62 พันล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตเฉลี่ย 14.7% ต่อปี (ปี 2562-2570) สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของ Fertility Tourist ได้แก่ อินเดีย มาเลเซีย ไทย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ทั้งนี้ คาดว่าตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากของไทย ในปี 2570 จะมีมูลค่ากว่า 1.96 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 14.6% ต่อปี (ปี 2562-2570)

อนาคตตลาด IVF ยังมีแนวโน้มเติบโตหลังโควิด-19 คลี่คลาย

อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย คือการทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF ซึ่งมี 2 วิธี คือ คือ IVF without ICSI (เรียกสั้นๆ ว่า IVF) เป็นการทำเด็กหลอดแก้วแบบเดิม และ IVF with ICSI (เรียกสั้นๆ ว่า อิ๊กซี่, ICSI: Intracytoplasmic Sperm Injection) สำหรับการรักษาแบบ ICSI นั้น จะแตกต่างจากการรักษาวิธี IVF ตรงที่ IVF จะเป็นการปฏิสนธิภายนอกร่างกายที่ปล่อยให้มีการคัดเลือกตามธรรมชาติ โดยการนำไข่และอสุจิหลายตัวจะถูกนำไปผสมในจานเพาะเลี้ยง ซึ่งอสุจิตัวที่แข็งแรงที่สุดจะว่ายเข้ามาผสมกับเซลล์ไข่ตามธรรมชาติ แต่ ICSI แพทย์จะทำการคัดเชื้ออสุจิที่แข็งแรงที่สุดตัวเดียว แล้วใช้เข็มฉีดเข้าไปในเซลล์ไข่โดยตรง ซึ่งวิธี ICSI จะช่วยให้มีโอกาสตั้งครรภ์สำเร็จค่อนข้างสูง

ทั้งนี้ ภาพรวมตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี IVF ทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 17.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2562 ก่อนจะหดตัวลงจะเหลือมูลค่าเพียง 8.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 แต่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัว และมีมูลค่าสูงแตะระดับ 2.31 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2570 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (ปี 2563-2570) 16.4% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2563 เกือบ 3 เท่า

ทั้งนี้ ตลาดเอเชียแปซิฟิกมีสัดส่วนมูลค่าตลาดมากที่สุดเกือบ 50% ของมูลค่าตลาดรวม (ปี 2562) โดยคาดว่าภายในปี 2570 จะมีมูลค่าตลาด 1.32 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นสามเท่าจากปี 2563 ที่มีมูลค่า 3.99 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 18.6% (2563-2570)

ตลาด IVF ของไทยยังมีแนวโน้มเติบโต โดยได้รับแรงหนุนสำคัญจาก Fertility Tourism ที่ฟื้นตัวและโน้มขยายตัวต่อเนื่องในระยะข้างหน้า

Krungthai COMPASS มองว่า ตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี IVF ในไทยยังมีโอกาสเติบโตสอดคล้องกับเทรนด์ในต่างประเทศ เนื่องจากไทยมีชื่อเสียงและคุณภาพการรักษาเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยจุดเด่นสำคัญที่นอกเหนือจากชื่อเสียงของแพทย์ คุณภาพและมาตรฐานการรักษา และการบริการที่ดีจากแพทย์และพยาบาล คือ ค่ารักษาพยาบาลในไทยถูกกว่าประเทศคู่แข่งและประเทศชั้นนำอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งจากข้อมูลของ Medical Tourism Association พบว่า ค่าบริการการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ต่อครั้ง ของไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4,100 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 135,000 บาท) ถูกกว่าสหรัฐอเมริกาถึง 67% และยังถูกกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาคอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย ถึง 72% และ 41% ตามลำดับ

โดยเรามองว่า การเติบโตของตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ โดยวิธีการทำเด็กหลอดแก้วทั้ง IVF และ ICSI จะเข้ามามีบทบาทในการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจบริการทางการแพทย์ของไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน และคลินิกเฉพาะทางด้านการรักษาผู้มีบุตรยาก และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้ตลาดนี้เติบโตอย่างก้าวกระโดด คือ การขยายตัวของตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยาก หรือที่เรียกว่า Fertility Tourism ซึ่งกลุ่มลูกค้าสำคัญยังคงเป็นชาวจีนที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง และจีนยกเลิกนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์แบบพลวัต (Dynamic Zero COVID)” อีกทั้งยังได้รับอานิสงส์จากที่ทางการจีนได้ประกาศนโยบายส่งเสริมการมีบุตรคนที่ 3 ของกลุ่มคู่สมรสชาวจีนเมื่อ พ.ค. 2564 นอกจากนี้ หลังจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้ภาวะมีบุตรยากเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษา ทำให้กระทรวงสาธารณสุขมีแนวคิดที่จะแก้กฎหมายเกี่ยวกับการอุ้มบุญบางมาตราเพื่อให้คู่สามีภรรยาชาวต่างชาติสามารถเข้ามาทำการอุ้มบุญในไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตของตลาด IVF ในอนาคต

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Allied Market Research ระบุว่า ในปี 2563 การบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี IVF ของไทย ได้รับผลระทบจากวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้มีการล็อคดาวน์ จนส่งผลให้มูลค่าตลาดลดลงเหลือเพียง 66.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.2 พันล้านแต่คาดว่า มูลค่าตลาดจะกลับมาฟื้นตัวได้ และมีมูลค่าแตะระดับ 99.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.3 พันล้านบาทในปี 2570 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (ปี 2563-2570) 6.0% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2563 กว่า 1.5 เท่า

ไทยพร้อมหรือยัง? ที่จะเป็นศูนย์กลางด้าน IVF

ประเทศไทยมีศักยภาพและมีชื่อเสียงในการรักษาภาวะมีบุตรยาก โดยปัจจุบัน (ณ 13 ก.ย. 2565) มีสถานพยาบาลของไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์จากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจำนวน 103 แห่ง แบ่งเป็น สถานพยาบาลภาครัฐ 16 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 31 แห่ง และคลินิกอีก 56 แห่ง

โดยจุดเด่นสำคัญที่นอกเหนือจากชื่อเสียงของแพทย์ คุณภาพและมาตรฐานการรักษา และการบริการที่ดีจากแพทย์และพยาบาล คือ ค่ารักษาพยาบาลในไทยถูกกว่าประเทศคู่แข่งและประเทศชั้นนำอย่างสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี IVF ของไทย แยกตามประเภทสถานพยาบาล พบว่า คลินิกเฉพาะทางด้านการรักษาผู้มีบุตรยาก (Fertility Clinics) มีสัดส่วนมากที่สุด โดยครองส่วนแบ่งตลาดเกือบ 60% ทั้งนี้ Allied Market Research คาดการณ์ว่า ในปี 2570 การบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี IVF ของคลินิกเฉพาะทางด้านการรักษาผู้มีบุตรยากในไทยจะมีมูลค่ากว่า 58.0 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.9 พันล้านบาท โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ย (ปี 2563-2570) 6.2% ต่อปี

สิทธิบัตรทองก็สามารถใช้บริการ IVF ได้

เมื่อเดือน พ.ย.2564 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติออกประกาศขอบเขตบริการใหม่ หรือสิทธิประโยชน์ใหม่ โดยเพิ่มการให้บริการรักษาภาวะผู้มีบุตรยากสามารถเบิกจ่ายได้ แต่ยังยกเว้นกรณีตั้งครรภ์แทน (อุ้มบุญ) โดยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาการทำ IVF รวมทั้งศึกษาเพิ่มเติมเทคโนโลยีใหม่ โดยให้ดำเนินการในระดับเขตสุขภาพ โดยใช้การส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีความพร้อม โดยสามารถเบิกค่าใช้จ่ายบริการให้คำปรึกษา การรักษาเบื้องต้น การตรวจโรคที่เป็นสาเหตุของการมีบุตรยาก และรักษา รวมถึงการฉีดน้ำเชื้อจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

 

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp