BANPU เปิดค่ายเพาเวอร์กรีน ครั้งที่ 17 “Climate Change, We Must Change – เริ่มเพื่อโลก”

64

มิติหุ้น – บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ร่วมกับ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เดินหน้าสานต่อค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ‘เพาเวอร์กรีน’ ครั้งที่ 17 ภายใต้หัวข้อ Climate Change, We Must Change – เริ่มเพื่อโลก” เปิดโอกาสให้เยาวชน ได้เรียนรู้ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทั้งภาคทฤษฎีแบบเข้มข้น และภาคปฏิบัติด้วยการลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้ปัญหาเชิงลึก รวมถึงการพัฒนาโครงงานวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม

เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนนำองค์ความรู้ไปประยุกต์เพื่อพัฒนาทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับชุมชน สังคม และประเทศชาติ ซึ่งจะเป็นรากฐานนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืนในอนาคต

โครงการค่าย “เพาเวอร์กรีน” ในปีนี้ มีเยาวชนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทั่วประเทศ ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนทั้งสิ้น 285 คน จาก 177 โรงเรียน 65 จังหวัด
โดยผู้สมัครได้จัดทำคลิปวิดีโอเสนอแนวคิดและความเข้าใจเรื่องผลกระทบของ Climate Change ต่อชุมชนที่อาศัยและแนวทางการแก้ไขปัญหา ก่อนคัดเลือก 50 เยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

สำหรับกิจกรรมในปีนี้ เริ่มตั้งแต่การปูพื้นฐาน เรียนรู้ปัญหา เข้าใจสาเหตุ และผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านช่องทางออนไลน์ เมื่อวันที่ 15-16 ตุลาคมที่ผ่านมา ก่อนเข้าสู่กิจกรรมการเรียนรู้ภาคสนามระหว่างวันที่ 18-25 ตุลาคม 2565 ภายใต้แนวคิดของค่ายฯ “วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม – เรียนรู้
สู่การปฏิบัติ”
โดยเยาวชนได้ลงพื้นที่จริง เพื่อศึกษาถึงปัญหา และผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ก่อนระดมความคิดสร้างสรรค์โครงงานวิทยาศาตร์สิ่งแวดล้อม ซึ่งสถานที่แรกของการลงพื้นที่จริงคือ ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน จังหวัดสมุทรปราการ ที่จะได้เรียนรู้ถึงปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งซึ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี รวมถึงเรียนรู้วิธีการปรับตัวของชาวชุมชนที่ต้องต่อสู้เพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติ โดยกิจกรรมในครั้งนี้นอกจากน้อง ๆ เยาวชนทั้ง 50 คน ยังมีพนักงานบ้านปูมาร่วมเรียนรู้เรื่องปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปด้วยกัน

นายรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ตลอด 17 ปี ของค่ายเพาเวอร์กรีน เราได้เห็นแล้วว่ามีเยาวชนจำนวนมากที่มีความมุ่งมั่น และต้องการเข้ามามีส่วนช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชนที่ตัวเองอยู่อย่างจริงจัง บ้านปูรู้สึกยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเสริมพลังความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ให้กับน้อง ๆ เพื่อนำไปต่อยอดและพัฒนาสภาพแวดล้อมในชุมชนของตัวเองในอนาคต เราภูมิใจที่ได้เห็นเยาวชนค่ายเพาเวอร์กรีนในรุ่นต่าง ๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และเลือกดำเนินชีวิตอย่างเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติรอบตัว และที่น่าปลื้มใจคือเครือข่ายเยาวชนของค่ายฯ เราพร้อมที่จะกลับมาร่วมส่งต่อองค์ความรู้ให้แก่น้อง ๆ รุ่นใหม่อยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ เราจึงมุ่งสานต่อ
การทำค่ายเยาวชนเพาเวอร์กรีนทั้งในปีนี้และปีต่อ ๆ ไป เพื่อสร้างเยาวชนคุณภาพออกไปเป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศ ที่สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของบ้านปูในการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมตามหลักการ ESG ที่บริษัทฯ ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจมาตลอด 40 ปี”

ด้าน ดร.ธัญภัทร ศาสตระบุรุษ อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน ครั้งที่  17 กล่าวว่า “ปัญหาโลกร้อนและความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นสิ่งที่วงการวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนภาครัฐและภาคเอกชนทั่วโลก ได้ตระหนักถึงความสำคัญและเข้ามาร่วมแรงร่วมใจบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม การจะแก้ปัญหานี้ให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมยังต้องอาศัยทั้งเวลาและความร่วมมือจากทุกคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ในนามของคณะสิ่งแวดล้อมฯ มหาวิทยาลัยมหิดล เรามีความยินดีที่ได้สานต่อความร่วมมือกับทางบ้านปูมาตลอด 17 ปี เรามุ่งหวังว่าเยาวชนที่ได้มาเข้าค่ายจะเติบโตขึ้นเป็นกลุ่มผู้นำและเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ที่ได้รับไปใช้ในชีวิตประจำวัน และส่งต่อความรู้ไปยังครอบครัว คนใกล้ชิด โรงเรียน ชุมชน และสังคม ให้ได้รับทราบถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และการอยู่อาศัยร่วมกันกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนตลอดไป”

นอกจากการลงพื้นที่ศึกษาปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ณ บ้านขุนสมุทรจีน จังหวัดสมุทรปราการแล้ว เยาวชนทั้ง 50 คน ยังได้ร่วมเดินทางเพื่อศึกษาถึงปัญหาความเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งและความหลากหลายทางชีวภาพที่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ก่อนร่วมทำกิจกรรมอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน ณ ศูนย์อนุรักษ์และศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลน โรงเรียนบางตะบูนวิทยาคม จังหวัดเพชรบุรี ศึกษาผลกระทบของปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อโครงสร้างทางธรณีวิทยาและลักษณะภายนอกของภูเขาหินปูน ณ อุทยานหินเขางู จังหวัดราชบุรี และศึกษาความเปลี่ยนแปลงของความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่า จังหวัดกาญจนบุรี ปิดท้ายด้วยการประกวดโครงงานกลุ่มวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยมหิดลให้คำแนะนำ

 

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp