DEMCO ปลื้ม! ติดโผกลุ่มหุ้นยั่งยืน THSI ปีแรก สะท้อนถึงการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม – รับผิดชอบต่อสังคม เดินหน้าต่อยอดธุรกิจเดิม – สร้าง New S Curve หนุนเติบโตมั่นคง

66

มิติหุ้น – DEMCO ได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI ประจำปี 2565 เป็นปีแรก โดยเป็นหนึ่งใน 170 บจ.ที่ได้รับคัดเลือกในครั้งนี้ สะท้อนถึงการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน คำนึงสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคมตลอดจนมีการบริหารตามหลักบรรษัทภิบาล  ฟาก  CEO “พงษ์ศักดิ์ ศิริคุปต์” ระบุการได้รับคัดเลือกจะทำให้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนสถาบัน และกองทุนมากขึ้น สนับสนุนการเดินหน้าต่อยอดธุรกิจเดิม สร้าง New S Curve ผลักดันอนาคตเติบโตได้อย่างมั่นคง

นายพงษ์ศักดิ์ ศิริคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ DEMCO เปิดเผยว่า บริษัทได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในรายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment : THSI) ประจำปี 2565 เป็นปีแรก โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้จัดทำหุ้นยั่งยืนตั้งแต่ปี 2558  ซึ่ง DEMCO เป็นหนึ่งใน 170 บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ได้รับคัดเลือกที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีการบริหารงานตามหลักบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG)

ทั้งนี้ รายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI 170 บริษัทเป็นบจ. ใน SET 157 บริษัทและ mai 13 บริษัท กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีจำนวน บจ. ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มบริการ 33 บริษัท กลุ่มทรัพยากร 28 บริษัท และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 27 บริษัท โดย บจ. ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม 14 ล้านล้านบาทหรือ คิดเป็น 72% เมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั้งหมดของ SET และ mai (ณ 3 ตุลาคม 2565)

“การได้รับคัดเลือกให้อยู่ในกลุ่มหุ้น THSI เป็นปีแรกสะท้อนให้เห็นว่า DEMCO มีการพัฒนาธุรกิจยั่งยืนและเติบโตได้อย่างมั่นคงในระยะยาว ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ นำไปเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่จะเข้าลงทุนมากขึ้น ขณะเดียวกันจะช่วยสนับสนุนโอกาส เพิ่มช่องทางในการต่อยอดธุรกิจเดิม รวมถึงสร้าง New S Curve ผลักดันอนาคตเติบโตได้อย่างมั่นคง”

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวอีกว่า ภาพรวมการดำเนินธุรกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้  DEMCO ยังคงเดินหน้าเข้าประมูลงานใหม่ของทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งเริ่มทยอยเปิดให้ประมูลงานมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของภาครัฐ ทั้งในส่วนโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งจะมีการเปิดประมูลงานในส่วนงานก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยเฉลี่ย 10,000 ล้านบาทต่อปี และโครงการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอเข้าประมูลงานก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยและสายส่ง และมีมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้พร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจใหม่ร่วมกับพันธมิตร เพื่อต่อยอดธุรกิจและสร้างโอกาสในการเพิ่มแหล่งที่มาของรายได้ และสร้าง New S Curve จากธุรกิจแห่งอนาคต สอดรับเมกะเทรนด์หลังเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลง เช่น Computerized Base , Smart Grid , Micro Grid , Energy Storage รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV เป็นต้น

 

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp