กสทช. นำร่องร่วมมือกับ 3 องค์กรวิชาชีพสื่อ ส่งเสริมกลไกการกำกับดูแลกันเอง จัดตั้งคณะกรรมการประสานงานรับเรื่องร้องเรียนด้านจริยธรรมการนำเสนอเนื้อหาของสื่อมวลชน เพิ่มช่องทางการร้องเรียนให้กับประชาชน

25

มิติหุ้น  –  ศาสตราจารย์ ดร. พิรงรอง รามสูต กสทช. เปิดเผยว่า วันนี้ (11 ต.ค. 2565) กสทช. ร่วมส่งเสริมสนับสนุนกลไกการกำกับดูแลกันเองของสื่อ โดยผลักดันให้องค์กรวิชาชีพทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองภายใต้มาตรฐานจริยธรรม ตามมาตรา 28 (18) แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และ มาตรา 39, 40 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการร้องเรียนให้กับประชาชน ให้สามารถร้องเรียนเนื้อหารายการที่เข้าข่ายละเมิดจริยธรรม หรือกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าวหรือเนื้อหารายการ หรือเห็นพฤติกรรมของสื่อที่ไม่เหมาะสม ขัดต่อจริยธรรมวิชาชีพได้            

                      ทั้งนี้ ประชาชนสามารถร้องเรียนผ่าน 3 องค์กรวิชาชีพสื่อ ได้แก่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ซึ่งจะมีคณะกรรมการประสานงานรับและติดตามเรื่องร้องเรียน นอกเหนือไปจากการร้องทุกข์ไปที่สถานีโทรทัศน์โดยตรง หรือการแจ้งมาที่ กสทช. เพื่อการดูแลแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะมีการระบุขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินการเพื่อให้ผู้ร้องเรียนได้รับทราบด้วย

                      ศาสตราจารย์ ดร. พิรงรอง กล่าวว่า การดำเนินการครั้งนี้ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรวิชาชีพสื่อกับ กสทช. อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ในการกำกับดูแลภายใต้เสรีภาพและความรับผิดชอบร่วมกันของผู้ประกอบการ องค์กรวิชาชีพ และองค์กรกำกับดูแล หลังจากนี้ กสทช. จะขยายความร่วมมือไปยังองค์กรวิชาชีพสื่อองค์กรอื่นๆ ที่มีความพร้อมต่อไปด้วยอนึ่ง แนวทางในต่างประเทศการกำกับดูแลกันเอง หรือ Self-regulation หรือ Co-regulation เป็นวิธีการสากลที่หลายประเทศใช้ในการกำกับดูแลสื่อร่วมไปกับการใช้อำนาจทางกฎหมาย สำหรับประเทศไทย กสทช. ชุดปัจจุบันมีนโยบายส่งเสริมให้มีกลไกการกำกับดูแลกันเองให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะมีการทำงานและกำหนดเป้าหมายร่วมกันระหว่าง กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลองค์กรวิชาชีพ และผู้ประกอบกิจการ เพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศสื่อที่ดี ด้วยการทำงานแบบเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน (Equal Partnership) เพื่อจัดวางระบบการกำกับดูแลและส่งเสริมจริยธรรมสื่อ

                      กสทช. หวังว่ากลไกการกำกับดูแลกันเองและการกำกับดูแลร่วมกันจะเห็นผลในทางปฏิบัติทั้งในระยะสั้นคือ การแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคสื่อที่ได้รับผลกระทบจากการออกอากาศเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
และในระยะยาวคือการร่วมมือกันตรวจสอบ เฝ้าระวัง และพัฒนาไปสู่การยกระดับมาตรฐานจริยธรรมแห่งวิชาชีพ มีการเสริมสร้างศักยภาพสื่อที่มีคุณภาพอย่างเป็นระบบและมีความยั่งยืนด้วยความร่วมมือกัน” ศาสตราจารย์ ดร. พิรงรอง กล่าว

                       “เมื่อมีเหตุการณ์อ่อนไหวต่างๆ ขึ้นในสังคม เราต้องไม่เห็นเพียงการออกแถลงการณ์ขององค์กรสื่อเพื่อขอความร่วมมือหรือเตือนผู้ประกอบการสื่อมวลชนให้ใช้ความระมัดระวัง ทำหน้าที่บนพื้นฐานจริยธรรมและจรรยาบรรณเท่านั้น แต่ต้องเห็นความคืบหน้าด้วยว่า ในกรณีที่มีการละเมิดจริยธรรม จรรยาบรรณแล้วนั้น ได้มีการดำเนินการอย่างไรเพื่อแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดเช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต” ศาสตราจารย์ ดร. พิรงรอง กล่าว

@mitihoonwealth

https://lin.ee/cXAf0Dp