สถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 26 – 30 ก.ย. 65 และแนวโน้ม 3 – 7 ต.ค. 65

186

ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เช้าวันที่ 3 ต.ค. 65 เพิ่มขึ้นเกือบ 1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ NYMEX WTI เพิ่มขึ้นกว่า 2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากราคาเฉลี่ยในสัปดาห์ก่อน โดย Brent เคลื่อนไหวบริเวณ 87.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วน WTI เคลื่อนไหวบริเวณ 81.8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากนักลงทุนคาดว่ากลุ่ม OPEC และพันธมิตร (OPEC+) อาจพิจารณาลดการผลิตน้ำมันดิบสำหรับเดือน พ.ย. 65 ที่ระดับ 0.5 – 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในการประชุม OPEC+ วันที่ 5 ต.ค. 65 เพื่อผลักดันราคาน้ำมันดิบโลกไม่ให้ต่ำกว่า 90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และคาดว่าราคาน้ำมันมีโอกาสทรงตัวอยู่ในกรอบ 85 – 95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

อย่างไรก็ตาม การเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลกจะกดดันอุปสงค์น้ำมัน ล่าสุด Eurostat รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซน ในเดือน ก.ย. 65 อยู่ที่ +10.0% จากปีก่อนหน้า สูงสุดเป็นประวัติการณ์ (เดือน ส.ค. 65 อยู่ที่ +9.1% จากปีก่อนหน้า) จากราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนกังวลว่าธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรุนแรง อาทิ อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit Rate) จากระดับปัจจุบันที่ 0.75% มาอยู่ที่ 1.5% ในการประชุมวันที่ 27 ต.ค. 65 เพื่อสกัดเงินเฟ้อ สอดคล้องกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่เพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.75% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 3 – 3.25% สูงสุดตั้งแต่ปี 2551 และมีแนวโน้มที่ Fed จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปี 2565 รวมกันอยู่ที่ 1.25% ในการประชุมวันที่ 1 – 2 พ.ย. 65 และ 13 – 14 ธ.ค. 65 เพื่อชะลอเงินเฟ้อของประเทศ (อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 65 อยู่ที่ +8.3% จากปีก่อนหน้า)

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • Kpler คาดการณ์อินเดียนำเข้าน้ำมันดิบ ในเดือน ก.ย. 65 เพิ่มขึ้น 48 แสนบาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 5.11 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากหมดฤดูมรสุม (Monsoon)
  • สำนักความปลอดภัยและการบังคับใช้ทางสิ่งแวดล้อม (Bureau of Safety and Environmental Enforcement) รายงานพายุเฮอริเคน Ian พัดเข้าสู่อ่าวเม็กซิโกและรัฐ Florida ในสหรัฐฯ วันที่ 28 ก.ย. 65 กระทบปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในอ่าวเม็กซิโกที่ระดับ 58 แสนบาร์เรลต่อวัน และ 3.6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็น 9% และ 14% ของปริมาณการผลิตรวมในอ่าวเม็กซิโก ตามลำดับ

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • Reuters รายงาน OPEC ผลิตน้ำมันดิบในเดือน ก.ย. 65 เพิ่มขึ้น 2.1 แสนบาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 29.81 MMBD สูงสุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 63 อย่างไรก็ตาม ต่ำกว่าโควตาเดือน ก.ย. 65 อยู่ที่ 1.32 ล้านบาร์เรลต่อวัน (อัตราความร่วมมือในการปฏิบัติตามข้อตกลงลดลง 37% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 308%)
  • Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig Count) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 65 เพิ่มขึ้น 2 แท่น จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 604 แท่น
  • กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ รายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 2/65 อยู่ที่ -0.6% จากไตรมาสก่อนหน้า หดตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 1/65 ที่ -1.6% จากไตรมาสก่อนหน้า

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp