กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี ประกาศเจตนารมณ์การป้องกันและแก้ไขปัญหาลดโลกร้อนอย่างยั่งยืน จัดงาน “Sustainability Day 2022” ตอกย้ำทิศทางการมุ่งสู่การเป็นองค์กรไร้คาร์บอน

66

มิติหุ้น – กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี จัดงาน Sustainability Day 2022” นำทีมคณะผู้บริหารในกลุ่มบริษัทตั้งเป้าเป็นหนึ่งในองค์กรชั้นนำของประเทศไทยที่มุ่งมั่นในการลดโลกร้อน พร้อมประกาศเจตนารมณ์ว่าด้วย “การป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” อาทิ เพิ่มมาตรการเพื่อรับมือกับปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  วัดผลและมุ่งมั่นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัท และส่งเสริมพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างยั่งยืนทุกมิติ  ณ ห้องประชุม ชั้น 6 อาคาร Big C House

นายอัศวิน  – นางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี แชร์มุมมองว่า “ที่ผ่านมา กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี ดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชน สังคม โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในอีก 28 ปีข้างหน้า หรือปี 2050 ซึ่งในปีนี้ กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี เป็นหนึ่งในองค์กรที่ ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้นำ องค์กรต้นแบบด้านความยั่งยืนระดับโลก ระดับ Silver Class จากบริษัท S&P Global ใน The Sustainability Yearbook 2022”

กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี มีนโยบายความยั่งยืนครอบคลุมอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการจัดทำฐานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยทุกกลุ่มธุรกิจให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาด เช่น การใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ จากการติดตั้ง Solar Roof และเน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน โดยนำเทคโนโลยีต่างๆที่ช่วยลดการใช้พลังงานที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตหรือการดำเนินงานมาใช้ เช่น การใช้ AI เพื่อควบคุมการใช้พลังงาน เป็นต้น ทั้งนี้แต่ละกลุ่มธุรกิจหลัก ยังให้ความสำคัญกับเรื่องต่างๆ เพิ่มเติม ประกอบด้วย

1.ธุรกิจสินค้าบรรจุภัณฑ์แก้วและกระป๋อง ให้ความสำคัญกับการนำบรรจุภัณฑ์กลับมารีไซเคิลเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์ใหม่ เป็นการหมุนเวียนทรัพยากรเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยกลุ่มธุรกิจแก้วมีการนำเศษแก้วกลับมารีไซเคิลใหม่ เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งช่วยลดการเกิด GHG ได้ 193,606 tCo2 ต่อปี มีการขยายการติดตั้ง Solar Roof เพื่อใช้พลังงานสะอาดแทนการใช้เชื้อเพลิง ปรับปรุงเทคโนโลยีในการผลิต ใช้เตาหลอมแบบ Hybrid เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือก และวางแผนเปลี่ยนรถยนต์บริษัทเป็นไฟฟ้า 100% ในปี 2030 และธุรกิจกระป๋อง ที่เน้นเพิ่มอัตราการใช้อลูมิเนียมรีไซเคิล จากปัจจุบันมีการใช้อลูมิเนียมรีไซเคิลประมาณ 70% โดยวางแผนเพิ่มเป็น 85% ในอนาคต ทั้งนี้ในปี 2021 มีการเก็บกระป๋องกลับมารีไซเคิลได้มากกว่า 22,465 ตัน นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในการผลิตด้วย

2.กลุ่มธุรกิจค้าปลีก บริษัทมีนโยบายที่เน้นเรื่องการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการทำงานของระบบปรับอากาศ ที่ช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในสโตร์ และประหยัดพลังงานไฟฟ้าสะสมการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อทำความสะอาดท่อแลกเปลี่ยนความร้อนของน้ำหล่อเย็นของระบบปรับอากาศ (Ball Technic) ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้รับการสนับสนุนจาก กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน และสมาคมวิศวกรรมปรับอากาศแห่งประเทศไทย ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า และมีผลประหยัดพลังงานไฟฟ้าสะสม 210 ล้านบาท ส่งผลให้ สามารถลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้ไฟฟ้า (GHGscope 2) ได้  33,974 TonCo2eq (จำนวน 174 สาขา) ทั้งนี้วางแผนงานขยายโครงการ ในปี 2022-2023 อีก 10 สาขา คาดว่าจะประหยัดค่าพลังงานไฟฟ้าลงได้ 2.14 ล้านบาทต่อปีและลดการปล่อย GHG ได้ 313 ตันต่อปี

3.ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค นอกจากการติดตั้งแผงโซลาร์ เพื่อใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ช่วย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้แล้ว ยังส่งเสริมให้มีการใช้วัตถุดิบหมุนเวียนมีการนำน้ำจากกระบวนการผลิตมาผ่านการกรองและนำกลับไปใช้ซ้ำ รวมถึงให้ความสำคัญอย่างมากกับการใช้บรรจุภัณฑ์ เช่น การใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีมาจากวัตถุดิบที่รีไซเคิลแล้ว 100% การลดการใช้พลาสติกสำหรับสบู่อาบน้ำ เป็นต้น

4.ธุรกิจสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์อุตสาหกรรม เปลี่ยนการขนส่ง นำเข้ายาและเครื่องมือทางการแพทย์ มาใช้ทางเรือเป็นหลัก (ทางเครื่องบินเสริมได้กรณีเร่งด่วน) ตรวจสอบสินค้าที่ส่งมาจากต่างประเทศก่อนที่จะรับเข้าระบบคลังสินค้าโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตรวจสอบสภาพเพื่อความถูกต้องของสินค้าผ่าน Mobile Application เป็นต้น

และ 5.ธุรกิจโลจิสติกส์ นำระบบบริหารการขนส่งมาใช้เพื่อช่วยวางแผนเส้นทางขนส่งให้มีประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนประมาณ 500,000 บาทต่อปี และลดปริมาณการปล่อย GHG ได้ 6.7 TonCo2 ต่อเดือนจากระยะทางรวมที่ลดลงประมาณ 40,742 กม. ต่อเดือน และการวางแผนเส้นทางขนส่งสำหรับทีมขาย ยังช่วยลดจำนวนวันที่ใช้ในการเยี่ยมร้านค้าได้อีก ประมาณ 13-50 % และลดระยะทางวิ่งประมาณ 15-30 % เป็นต้น นอกจากนี้ยังลดปริมาณการใช้กล่องโฟมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลลง 70% เนื่องจากกล่องโฟม ไม่สามารถย่อยสลายเองได้ในธรรมชาติ หากต้องกำจัดต้องนำไปเผาซึ่งจะทำใ ห้เกิด GHG ทำให้ลดต้นทุนการจัดส่งลงได้ ประมาณ 280,000 บาทต่อปี

ในขณะเดียวกัน กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี ได้ร่วมจัดบูธในงานมหกรรมด้านความยั่งยืนระดับอาเซียน “Sustainability Expo 2022”  เปิดบูธให้ทุกคนได้สัมผัสประสบการณ์จริงในโซน Better Living ในธีม Highway to Net Zero ประกอบด้วย การมุ่งสู่การเป็นองค์กร Carbon ต่ำ บริหารธุรกิจตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (CEMS) เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน และใช้เทคโนโลยี High Energy Efficiency  เพื่อเป้าหมายการเป็น Net Zero Company ในปี 2050  โดยในงานนี้จะได้พบกับความรู้และนวัตกรรมด้านความยั่งยืน รวมทั้งเวทีเสวนาที่น่าสนใจจาก พันธมิตรองค์กรชั้นนําระดับแนวหน้าในไทยและต่างประเทศกว่า 100 แห่ง แบ่งปันมุมมองด้านเทคโนโลยีและความยั่งยืน งานจะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565 เวลา 10.00-21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) เข้าร่วมงานโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

“กลุ่มบริษัทตั้งเป้าเป็นหนึ่งในองค์กรชั้นนำของประเทศไทยที่มุ่งมั่นในการลดโลกร้อน ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม ตลอดจนการบริหารงานด้วยหลักธรรมาภิบาล สอดคล้องตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

 

 

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp