ไอ เหนื่อย เจ็บหน้าอก! ส่องอาการ Long COVID เมื่อโรคหายแต่ยังป่วยไม่จบ

43

มิติหุ้น  –  แม้มาตรการเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ในหลายประเทศรวมถึงเมืองไทยกำลังเริ่มผ่อนคลาย เพื่อให้ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตกันได้ตามปกติ แต่แพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูและระบบทางเดินหายใจยังเตือนคนไทยให้ระวังโควิดอย่างต่อเนื่อง เพราะสิ่งที่น่ากังวลใจไม่แพ้กันก็คืออาการป่วยตกค้างหลังหายจากโรค หรือที่เราเรียกว่า Long COVID นั่นเอง

หลายคนที่ติดตามข่าวสารอาจเคยได้ยินชื่ออาการ Long COVID กันมาบ้างแล้ว แต่อาจยังไม่รู้แน่ชัดว่ามันคืออะไร อันตรายแค่ไหน และเราหลีกเลี่ยงได้หรือเปล่า ยิ่งเมืองไทยกำลังอยู่ในช่วงหน้าฝน ก็ยิ่งสับสนไปกันใหญ่ว่าที่รู้สึกไม่สบาย หายใจไม่เต็มอิ่มเป็นเพราะเรามีอาการ Long COVID หรือแจ็กพอตติดซ้ำ หรือว่ากำลังป่วยด้วยโรคอื่นกันแน่?

ของแถมจากโรคร้ายที่ไม่มีใครอยากได้“ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของอาการ Long COVID แต่ในทางการแพทย์มีสมมติฐานว่าอาจเกิดจากเศษซากของเชื้อไวรัสที่ไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบในระบบต่าง ๆ” พญ.ญาดา หลุยเจริญ อายุรแพทย์ แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤติโรคระบบการหายใจ ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลวิมุต อธิบาย “แน่นอนว่าผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มีความเสี่ยงทุกคน แต่ส่วนใหญ่เราพบภาวะ Long COVID ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยกลุ่มเสี่ยงคือผู้สูงอายุหรือมีภาวะน้ำหนักตัวเกิน (ค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30) ส่วนกลุ่มเสี่ยงสูงคือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง โรคปอดเรื้อรัง โรคไต หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโควิดที่มีอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการรักษาโควิด เช่นมีเชื้อลงปอดหรือปอดอักเสบ กลุ่มนี้ก็จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะ Long COVID ด้วยเช่นกัน”

พญ.ญาดา หลุยเจริญ อายุรแพทย์ แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤติโรคระบบการหายใจ ศูนย์อายุรกรรม_1.jpg

การชี้ชัดว่าเรามีภาวะ Long COVID หรือไม่ด้วยตัวเองนั้น นับเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าภายในช่วง 3 เดือนหลังจากที่เราหายป่วยโควิด เกิดอาการผิดปกติอื่น ๆ นานเกิน 4 สัปดาห์ ก็ให้สงสัยไว้ก่อนและควรไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาภาวะ Long COVID

“ภาวะ Long COVID สามารถแสดงออกมาได้หลายระบบ เราจึงควรตรวจดูให้แน่นอนว่าเป็นอาการจากโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ หรือเปล่า เช่น บางคนที่มีอาการเจ็บหน้าอก อาจเกิดจากภาวะที่เกี่ยวเนื่องกับโรคหัวใจก็ได้ แต่ส่วนใหญ่ที่พบก็จะเป็นภาวะแทรกซ้อนทางด้านระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดปอดอักเสบ หรือบางคนมีอาการไอ เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก หรือเวลาออกแรงก็จะเหนื่อย อาจมีระดับออกซิเจนต่ำกว่าปกติ ซึ่งขอแนะนำให้ผู้ที่มีอาการเหล่านี้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาภาวะแทรกซ้อนหลังจากการติดโควิดและเข้ารับการรักษาฟื้นฟูปอด เพื่อให้ปอดฟื้นตัวและแข็งแรงยิ่งขึ้น” พญ.ญาดา หลุยเจริญ อธิบาย

Long COVID รักษาอย่างไร หายขาดได้หรือไม่


เนื่องจากส่วนใหญ่ผู้ที่มาตรวจหา Long COVID คือผู้ที่ภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินหายใจเกี่ยวกับปอด ดังนั้น การรักษาจึงเน้นไปที่การดูแลสุขภาพของปอดเป็นหลัก

พญ. พิชชาพร เมฆินทรพันธุ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลวิมุต กล่าวว่า “สำหรับโรงพยาบาลวิมุต การฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายและปอดในภาวะ Long COVID มีวัตถุประสงค์เพื่อลดอาการหลงเหลือภายหลังจากการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็น อาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หรือการทำกิจวัตรต่างๆได้น้อยลง โดยมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยกลับมามีสมรรถภาพทางกายใกล้เคียงกับก่อนการติดเชื้อCOVID-19 ให้มากที่สุด  แน่นอนว่า ทุกเคสจะถูกวินิจฉัยอย่างละเอียดเพื่อการออกแบบโปรแกรมการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล”

พญ.พิชชาพร เมฆินทรพันธุ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู.jpg

แพ็กเกจฟื้นฟูสมรรถภาพปอดโรงพยาบาลวิมุต จะเริ่มจากการทำ Low dose CT Scan ปอด เพื่อดูว่าเคยมีอาการของโควิดลงปอดหรือมีพยาธิสภาพในปอดอื่นๆหรือไม่ (เพราะบางครั้งการเอกซเรย์ธรรมดาอาจมองไม่เห็น แต่จะเห็นผ่าน CT Scan เท่านั้น) หากตรวจพบความผิดปกติก็จะส่งต่อให้เข้าพบกับแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านปอด แต่ถ้าผลอยู่ในเกณฑ์ที่ปกติและไม่มีภาวะอื่นๆ ก็จะเข้าสู่โปรแกรมการฟื้นฟู โดยเริ่มจากการทดสอบความสามารถในการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนขณะออกแรง ต่อด้วยมีการฝึกหายใจ การฝึกบริหารปอด การดูดลูกบอลผ่านอุปกรณ์การบริหารปอด (incentive spirometry) การแนะนำในการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของร่ายกายโดยรวม โดยคนไข้ที่เข้ารับโปรแกรมที่โรงพยาบาลก็จะได้รับอุปกรณ์นี้กลับไปฝึกบริหารปอดที่บ้านพร้อมคู่มือ 1 เล่มในการปฏิบัติตัว การบริหาร และการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมต่อไป

ยกตัวอย่างคนไข้ Long COVID รายหนึ่งของโรงพยาบาลวิมุต เมื่อหายจากโควิดยังมีความรู้สึกว่าเหนื่อยง่าย จากเดิมที่เคยเดินขึ้นบันไดหรือสะพานลอยได้สบายๆ ภายหลังติดเชื้อและหายจากการติดเชื้อ ก็พบว่าตัวเองต้องหยุดพักและหอบเหนื่อยมากขึ้นหลังจากเดินขึ้นบันไดในระยะทางเท่าเดิม เมื่อทำการตรวจอย่างละเอียดจึงพบว่ามีภาวะ Oxygen Drop หลังจากออกแรงไปได้ 2-3 นาที ทีมแพทย์จึงวางแนวทางการฟื้นฟูโดยเริ่มที่การสอนวิธีการหายใจที่ถูกต้อง เพื่อให้ปอดขยายได้มากที่สุด ต่อด้วยโปรแกรมการเพิ่มความฟิตของร่างกาย เพื่อให้ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ตลอดจนสมรรถภาพทางกายโดยรวมฟื้นตัวและมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน

image.png

หลายคนอาจยังกังวลว่าต้องรักษายืดเยื้อหรือเสียค่าใช้จ่ายสูงหรือไม่ จึงยังลังเลที่จะมาพบแพทย์ “ขอบอกว่าไม่ต้องกังวลขนาดนั้น แม้ระยะเวลาในการฟื้นฟูจะขึ้นอยู่กับแต่ละเคสว่ามีปัญหามากแค่ไหน แต่จริง ๆ แล้ว แพ็กเกจที่ทางวิมุตแนะนำ ส่วนมากจะเป็นการมาพบหมอแค่ครั้งเดียว และที่เหลือคือการแนะนำให้ออกกำลังกายอยู่ที่บ้าน ส่วนเคสไหนที่ต้องมีการติดตามผลต่อเนื่อง ก็จะแนะนำให้เข้ามารับโปรแกรมระยะเวลาประมาณ 1-2 เดือนเท่านั้น” พญ. พิชชาพร เมฆินทรพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย

วิธีการที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงภาวะ Long COVID ที่แพทย์ทั้งสองท่านแนะนำก็คือ อย่าติดโควิด! เพราะติดแล้วเสี่ยงต่อ Long COVID ทุกคน แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าก็คือการรับวัคซีนโควิด เพราะนอกจากจะช่วยลดความรุนแรงจากการติดเชื้อแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิด Long COVID ได้อีกด้วย โดยควรรับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม และฉีดกระตุ้นทุก 4 เดือน แน่นอนว่าการปฏิบัติตัวพื้นฐานอย่างการรักษาระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ ก็ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัดต่อไป

 

@mitihoonwealth

https://lin.ee/cXAf0Dp