กรุงศรีลงนามรับหลักการธนาคารที่มีความรับผิดชอบของสหประชาชาติ

39

มิติหุ้น  –  กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)ได้รับการรับรองเป็นผู้ลงนาม (Signatory)   รับในหลักการธนาคารที่มีความรับผิดชอบขององค์การสหประชาชาติ (UN Principles for Responsible Banking) อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นกรอบการทำงานเพื่อการธนาคารอย่างยั่งยืนที่ได้รับการพัฒนา โดยความร่วมมือระหว่างธนาคารทั่วโลกกับสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงิน (UNEP FI) 

 

หลักการนี้เป็นกรอบการทำงานระดับโลกที่มีความสำคัญ และเอื้ออำนวยให้ธนาคารสามารถกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสังคมในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติและความตกลงปารีส ทั้งนี้ กรุงศรีลงนามรับหลักการดังกล่าวเช่นเดียวกับธนาคารชั้นนำเกือบ 300 แห่งทั่วโลก โดยมุ่งมั่นวางกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนที่มีเป้าหมายที่ท้าทาย พร้อมดำเนินการเพื่อสร้างความตระหนักรู้ ให้ความสำคัญ ตลอดจนปลูกฝังจิตสำนึกด้านความยั่งยืนให้แก่ภาคธุรกิจ อีกทั้งยกระดับความสามารถในการแข่งขันของธนาคารด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อสังคมและความยั่งยืน  

 

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กรุงศรีมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งในโอกาสที่ได้รับการรับรองเป็นผู้ลงนามรับในหลักการธนาคารที่มีความรับผิดชอบขององค์การสหประชาชาติอย่างเป็นทางการ การลงนามครั้งนี้ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญบนเส้นทางผู้นำด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนของกรุงศรี อีกทั้งยังตอกย้ำพันธกิจของกรุงศรีที่มีต่อหลักการธนาคารพาณิชย์เพื่อความยั่งยืน รวมถึงจิตสำนึกและความรับผิดชอบในฐานะสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบของประเทศไทย (D-SIB)” 

 

เราจะยังคงมีบทบาทเป็นองค์กรต้นแบบที่มีความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมธนาคารไทย ผ่านเส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืนอันประกอบด้วยมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ที่ครอบคลุมทั้งการดำเนินงานของธนาคาร และการให้การสนับสนุนแก่ลูกค้าของธนาคารในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อันเป็นวาระเร่งด่วนที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนของกรุงศรี เพื่อมุ่งสู่การเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ยั่งยืนที่สุดในประเทศไทย   

 

ภายใต้หลักการนี้  ธนาคารผู้ลงนามจะต้องทำการวัดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจของตน รวมทั้งกำหนดและมุ่งบรรลุเป้าหมายที่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกมากที่สุด รวมถึงรายงานความคืบหน้าต่อสาธารณะอย่างสม่ำเสมอ หลักการนี้ได้กำหนดกรอบการดำเนินงานสำหรับธนาคารเพื่อทำให้สามารถทำความเข้าใจความเสี่ยงได้อย่างเป็นระบบ และใช้โอกาสที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อของกรุงศรีว่าธนาคารพาณิชย์มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจ และมีความรับผิดชอบร่วมกันที่จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาติ และเป้าหมายเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้อย่างราบรื่น 

 

ในปี 2564 กรุงศรีได้ปักหมุดสำคัญของธนาคารพาณิชย์ที่มีจุดยืนเพื่อความยั่งยืน ด้วยการประกาศวิสัยทัศน์สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Krungsri Carbon Neutrality Vision) พร้อมแผนงานในการเร่งลดคาร์บอนที่ชัดเจนและปฏิบัติได้จริง ทั้งนี้ ความสำเร็จที่สะท้อนพันธกิจที่มุ่งมั่นของกรุงศรีในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ได้แก่ การออกพันธบัตรที่คำนึงถึงเพศสภาพ (Gender Bond) การได้รับรางวัลระดับดีเยี่ยมในโครงการสำนักงานสีเขียว การตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก และการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน (อาทิ การออกและจัดจำหน่ายตราสารหนี้สีเขียว ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน และสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน) กรุงศรีเป็นบริษัทในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) หนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก ที่มีวิสัยทัศน์สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality Declaration) เช่นกัน

@mitihoonwealth

https://lin.ee/cXAf0Dp