จับให้ได้ ไล่ต้องทัน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกลวงประชาชน

38

มิติหุ้น  –  ในขณะที่พวกเรายังเผชิญภัยคุกคามจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือ SMS หลอกลวง อยู่ไม่เว้นแต่ละวัน และพยายามหลีกเลี่ยง ไม่รับ ไม่โทร ไม่คุย และคิดว่ารู้เท่าทัน เล่ห์ลมปาก มิจฉาชีพพวกนี้ แล้ว แต่เราสงสัยกันไหมว่า ทั้งๆที่ตำรวจ โอเปอเรเตอร์และ กสทช. ออกโรงจับโจร พร้อมอุปกรณ์ที่ใช้โทรออกเป็นข่าวใหญ่โตแล้ว แต่เราก็ยังได้รับสาย และข้อความหลอกลวงมาไม่รู้จักหยุดหย่อน

วันนี้เลยขอพาพวกเรามาเจาะลึก การทำงานหลังบ้าน ของหน่วยงานเฉพาะกิจ Anti-Scam Task Force ที่ดีแทค พยายามนำเอาเทคโนโลยี Fraud Management system ระบบที่ทำหน้าที่ตรวจจับรายการธุรกรรมที่เกิดการทุจริตหรือต้องสงสัย  เพื่อหารูปแบบการใช้งาน ทำการวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางตอบสนองต่อพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์และน่าสงสัยได้ทันท่วงที รวมถึง สร้างหุ่นยนต์ หรือบอท RPA (Robotic Automation Process) ขึ้นมาทำงานตามรูปแบบที่ถูกกำหนดเอาไว้ ในแผนการจัดการกับกลุ่มเหล่านี้ให้เท่าทัน กลลวงของแก๊งมิจฉาชีพ ที่ยังคงต้องจับให้ได้ ไล่ให้ทัน เพื่อปกป้องลูกค้าให้ใช้บริการได้อย่างสบายใจมากขึ้น

เจาะลึก วิธีจับโจร

ทีมงาน Anti-Scam Task Force ที่ดีแทค มีวิธีจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และ SMS หลอกลวง ให้ทันเกมมิจฉาชีพ โดยการรวบรวมข้อร้องเรียนจากลูกค้า มาประมวลผลร่วมกับระบบตรวจับพฤติกรรมการใช้งาน และระบบตรวจจับสัญญาณการใช้งานในพื้นที่ ที่ผิดปกติมาวิเคราะห์ เพื่อจัดสร้างเป็นโปรไฟล์สำหรับใช้ในการตรวจจับกลุ่มมิจฉาชีพ โดยระบบ จะมีการเรียนรู้ลักษณะของมิจฉาชีพอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สามารถไล่ตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของกลุ่มมิจฉาชีพ

เมื่อระบบตรวจพบการใช้งานลักษณะหลอกลวงจากมิจฉาชีพ เบื้องต้นระบบ จะทำการระงับการใช้งานหมายเลขนั้นๆ ทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพใช้หมายเลขนั้นไปหลอกลวงผู้ใช้บริการรายอื่นต่อไป จากนั้นจะทำการตรวจสอบหาเครื่องอุปกรณ์ที่กลุ่มมิจฉาชีพและระงับการใช้งานผ่านเครื่องอุปกรณ์เหล่านั้นทันที นอกจากนี้ข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำไปวิเคราะห์เพื่อหาสถานที่ติดตั้งเครื่องอุปกรณ์ของกลุ่มมิจฉาชีพต่อไป

ภายหลังจากที่เริ่มใช้ระบบ  เพื่อการตรวจจับและระงับการใช้งาน เราพบว่ากลุ่มมิจฉาชีพเริ่มย้ายสถานที่ติดตั้งออกไปบริเวณชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน และพบลักษณะพฤติกรรมการใช้ที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเช่น การโทรออกไปยังเบอร์ภายในประเทศและต่างประเทศสลับกัน หรือการโทรหลอกลวงสลับกับการส่งข้อความหลอกลวง เป็นต้น เพื่อเป็นการอำพรางพฤติกรรมของกลุ่มมิจฉาชีพ ในส่วนของเครื่องอุปกรณ์ที่กลุ่มมิจฉาชีพใช้นั้น ทีมงานจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กสทช และกรมศุลกากร เกี่ยวกับเรื่องการอนุญาตนำเข้าอุปกรณ์ในลักษณะดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำเข้าเครื่องอุปกรณ์โดยกลุ่มมิจฉาชีพเข้ามาเพิ่มเติม

3 เบาะแส จับโจร

  1. เบาะแสจากข้อร้องเรียนการรับสายหลอกลวงจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือSMS หลอกลวง ซึ่งเป็นเบาะแสสำคัญที่สุดที่จะต้องใช้ในการตรวจจับมิจฉาชีพ
  2. จากพฤติกรรมการใช้ที่ผิดปกติที่แตกต่างจากการใช้บริการโทรศัพท์โดยทั่วๆไป เช่น การส่งSMS ออกไปยังเบอร์ปลายทางจำนวนมากๆ ภายในช่วงระยะเวลาสั้นๆ หรือ การสุ่มโทรออกไปยังเบอร์ปลายทางอยู่ตลอดเวลา หรือการใช้บริการผ่านอุปกรณ์เฉพาะและเอื้อต่อการนำไปใช้หลอกลวงได้ เช่น SIMBOX หรือหรือ GSM Modem เครื่องแปลงสัญญาณโทรศัพท์แบบใส่ซิมการ์ด ระบบ IP-PBX ที่สามารถโทรแบบอัตโนมัติ เป็นต้น
  3. การใช้งานโดยรวมที่สูงขึ้นอย่างผิดปกติในแต่ละพื้นที่ กลุ่มมิจฉาชีพอาจจะมีการติดตั้งเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่หรืออุปกรณ์สื่อสารลักษณะอื่นในพื้นที่เดียวกันเป็นจำนวนมากเพื่ออำพรางพฤติกรรมการใช้ให้ไม่แตกต่างจากการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยทั่วๆไปนัก

เข้มมาตรการตรวจสอบทั้งเชิงรุก และรับ

ทั้งนี้ ดีแทคยังมีการตรวจสอบรวมถึงแนะนำให้ผู้ใช้บริการระมัดระวังหาทางป้องกัน เช่น

  • ใช้วิธีดักจับด้วยระบบ TCG (Test Call Generator) ระบบตรวจสอบ การโทรเข้ามาจากต่างประเทศที่มีความผิดปกติ ว่ามีการดัดแปลงเลขหมายหรือไม่ เพื่อตรวจสอบหาเส้นทางการโทร จากต่างประเทศที่อาจจะเป็นการ โทรเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ผ่านผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจาก กสทช
  • ตรวจสอบเส้นทางและระงับบริการผู้ส่งข้อความ เป็นจำนวนมากและมีลักษณะผิดปกติ
  • ระงับสัญญาการใช้บริการ ในกรณีที่ตรวจสอบพบว่าผู้ใช้บริการนำเลขหมายไปส่งข้อความผิดกฎหมายเข้ามาซ้ำๆ หรือจงใจส่งข้อความผิดกฎหมายเข้ามาในโครงข่าย
  • ดีแทคเปิดสายโทร 1678 รับเรื่องร้องเรียนเบอร์โทร และ SMS หลอกลวง โทรฟรีในรูปแบบ IVR และช่องทางออนไลน์ บน Facebook, Line, Live Chat.
  • ให้ดาวน์โหลดบริการปกป้องคุ้มครองภัยไซเบอร์ด้วยบริการ dtac Safe จากดีแทคแอป
  • แนะประชาชนให้สังเกตหมายเลขที่โทรเข้ามา ถ้ามีเครื่องหมาย + เป็นเบอร์ที่โทรมาจากต่างประเทศ หากไม่มีคนรู้จัก หรือธุรกิจ ที่ติดต่อกับต่างประเทศ ไม่ควรรับสาย
  • ดีแทคจะตรวจจับการใช้งานทันที ที่มีลูกค้าร้องเรียนเข้ามายังช่องทางรับแจ้งภัยมิจฉาชีพและ SMS ข้อความหลอกลวงผ่านช่องทาง 1678 เพื่อบริษัทฯ จะได้ตรวจสอบ บล็อกเบอร์ และประสานงานเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อการสืบสวน สอบสวน และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป 

    @mitihoonwealth

    https://lin.ee/cXAf0Dp