ธนาคารทิสโก้ แนะซื้อ 4 ธีมลงทุน ปั้นกำไรโตสวนวิกฤต รับมือ Fed เดินเกมเข้ม – สัญญาณเศรษฐกิจถดถอยชัด

440

มิติหุ้น  –  นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า หลังจากนาย Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กล่าวย้ำในการประชุมประจำปี Jackson Hole Symposium ครั้งล่าสุดว่า Fedมีความจำเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องและการคงดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แม้จะส่งผลกระทบด้านลบต่อผู้บริโภคและภาคธุรกิจก็ตาม ขณะเดียวกันตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ก็เริ่มส่งสัญญาณหดตัวเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งส่วนต่างระหว่างพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวอายุ 10 ปี และระยะสั้น 2 ปี ซึ่งสามารถสะท้อนถึงการเกิดเศรษฐกิจถดถอยได้ส่งสัญญาณเตือนมาตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม

จากความชัดเจนดังกล่าว ธนาคารทิสโก้ยังคงย้ำให้ลูกค้าอาศัยจังหวะที่หุ้นย่อตัวเข้าลงทุนใน 2 ธีมลงทุนที่ยังเติบโตได้ในระยะยาวสวนทางการเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ดังที่เคยแนะนำไปก่อนหน้านี้ คือ 

1. หุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ เช่น ไบโอเทคโนโลยี (Biotechnology) และ ดิจิทัลเฮลธ์แคร์ (Digital Healthcare) 

2. หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เช่น คลาวด์ คอมพิวติง (Cloud Computing) ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ (Cyber Security) และเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) 

และในช่วงที่เหลือของปีธนาคารทิสโก้ยังแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน 2 ธีมเพิ่มเติม คือ 1. หุ้นกลุ่มดาวเด่นแห่งเอเชีย (The Rising Star of Asia) ที่เศรษฐกิจเติบโตสูงสวนกระแสเศรษฐกิจถดถอยในฝั่งตะวันตก ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม และ 2. หุ้นกลุ่มพลังงานทดแทน (Renewable Energy)

สำหรับปัจจัยสนับสนุนการลงทุนในหุ้นกลุ่มดาวเด่นแห่งเอเชียนั้น แต่ละประเทศมีปัจจัยสนับสนุน ดังนี้  

1. จีน: รัฐบาลจีนกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1 ล้านล้านหยวน และธนาคารกลางจีน (PBoC) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.10% โดยมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัว 5.5% นอกจากนี้ ในวันที่ 16 ตุลาคม 2565 จะมีการประชุมใหญ่ครบรอบ 20 ปีพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งจากสถิติในอดีตนับตั้งแต่ช่วงปี 2540 ตลาดหุ้นจีน (MSCI China Index) มักจะสร้างผลตอบแทนโดยเฉลี่ยประมาณ 20% ในช่วงก่อนที่จะถึงการประชุม ยิ่งช่วงนี้ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลงมาก็เป็นจังหวะที่น่าเข้าลงทุน โดยธนาคารทิสโก้แนะนำลงทุนคือ กลุ่มเทคโนโลยี (Technology) กลุ่มอุปโภคบริโภค (Consumption) กลุ่มธุรกิจไบโอเทคโนโลยี (Biotechnology) กลุ่มธุรกิจสารกึ่งตัวนำ (Semiconductor) และกลุ่มพลังงานสะอาด (Clean Technology) เพราะรัฐบาลจีนยังสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

2. อินโดนีเซีย : ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ในกลุ่มอาเซียน และอันดับ 6 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า GDP ของอินโดนีเซียปี 2565 จะเติบโตสูงถึง 5.4% และปี 2566 เติบโต 6%  โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่  การส่งออกทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบกับอินโดนีเซียมีประชากรกว่า 272.25 ล้านคน โดยกว่า 51% ของประชากรอยู่ในวัยแรงงาน รายได้กำลังเพิ่มขึ้น ทำให้การบริโภคภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยนักวิเคราะห์ใน Bloomberg Consensus คาดว่า กำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ปี 2565 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นอินโดนีเซียจะเติบโตถึง 57.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) ขณะที่มูลค่า (Valuation) ของตลาดหุ้นอินโดนีเซียซื้อขายอยู่ในระดับไม่สูงโดยมีระดับ Forward P/E 12 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 16.4 เท่า ถือเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว 5 ปีซึ่งอยู่ที่ระดับ 17 เท่า (ข้อมูลจาก Bloomberg ณ 31 ส.ค.65)

3. เวียดนาม : เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตได้อย่างโดดเด่น โดย IMF คาดว่า ปี 2565 GDP เวียดนามจะเติบโตได้ถึง 6% ในปี และปี 2566 จะเติบโต 7.2% มีปัจจัยสนับสนุน คือ การบริโภคภายในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวตามรายได้ของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น จากจำนวนประชากรมากถึง 99 ล้านคน ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ จากค่าแรงที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้เวียดนามกำลังเป็นโรงงานการผลิตแห่งใหม่ของโลกต่อจากจีนจากตัวเลข FDI ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงเวียดนามยังมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) มากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ในแง่การลงทุน Valuation ของตลาดหุ้นเวียดนามปรับตัวลงมาอยู่ในระดับน่าสนใจมีระดับ Forward P/E 12 เดือนข้างหน้าที่ 11.5 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ 15.8 เท่า ขณะที่คาดการณ์กำไรต่อหุ้น (EPS growth) ของบริษัทจดทะเบียนจะเติบโตสูงถึง 15% YoY (ข้อมูลจาก Bloomberg ณ 31 ส.ค.65)

ส่วนปัจจัยสนับสนุนหุ้นกลุ่มกลุ่มพลังงานสะอาด (Renewable Energy) ที่น่าลงทุนนั้น เป็นผลมาจากความขัดแย้งของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ทำให้เกิดการขาดแคลนทางพลังงานโดยเฉพาะทางฝั่งยุโรป หลายประเทศจึงเริ่มตระหนักถึงความสำคัญลงทุนในพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนที่ถูกกว่าพลังงานทั่วไปถึง 70 – 90% และล่าสุด สหรัฐฯ ได้ผ่านร่างกฎหมาย Inflation Reduction Act  ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน โดยจะใช้เม็ดเงินลงทุนกว่า 369,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

ในแง่การลงทุน Valuation ของหุ้นกลุ่มพลังงานหมุนเวียนก็ยังไม่สูง  โดยอัตราส่วนมูลค่าบริษัทตามราคาตลาดต่อยอดขายล่วงหน้า (Forward P/S) ของ S&P Global Clean Energy Index (ข้อมูลจาก Bloomberg ณ 31 ส.ค.65) อยู่ที่ 2.12 เท่า ขณะที่ BlackRock คาดการณ์การใช้พลังงานสะอาดระหว่างปี 2560 – 2583 จะเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 32% % จึงเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนในการซื้อหุ้นกลุ่มพลังงานหมุนเวียน ที่เป็นธุรกิจที่มีคาดการณ์การเติบโตของการใช้พลังงานสะอาดที่สูง จึงมีแนวโน้มหนุนให้กลุ่มดังกล่าวสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดในอนาคตสวนกระแสเศรษฐกิจถดถอยได้ 

 

@mitihoonwealth

https://lin.ee/cXAf0Dp