กรมโรงงานอุตสาหกรรม กางแผนพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเป้าหมาย รับการฟื้นตัวโควิด-19 ชี้จุดแข็งพื้นที่กว่า 1 ล้านไร่ทั่วไทย พร้อมสำหรับลงทุน

66

มิติหุ้น – กองส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตและพื้นที่อุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม เผยยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจอุตสาหกรรม 3 จังหวัดเป้าหมาย ประจำปี พ.ศ. 2565 ภายใต้โครงการโครงการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคตและเศรษฐกิจหมุนเวียน (ภายใต้ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อรองรับการลงทุน) ประจำปีงบประมาณ 2565  ประกอบด้วย จังหวัดลพบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดกาฬสินธุ์ ชี้อุตสาหกรรมการเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงชีวภาพสอดคล้องศักยภาพทั้ง 3 จังหวัด ยกร่างแผนแม่บทยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาเขตประกอบการอุตสาหกรรมจังหวัดเป้าหมาย กระตุ้นการลงทุนฟื้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ดำเนินการศึกษาการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมทั่วประเทศแล้ว กว่า 1 ล้านไร่ ในกว่า 50 จังหวัด พร้อมมุ่งเดินหน้าศึกษาต่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

นายวีรพงษ์ เอี่ยมเจริญ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตและพื้นที่อุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยกองส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตและพื้นที่อุตสาหกรรม ได้ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ฟิกท์ แอสโซซิเอท จำกัด ในการศึกษา “โครงการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคตและเศรษฐกิจหมุนเวียน (ภายใต้ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อรองรับการลงทุน) ประจำปีงบประมาณ 2565 ในพื้นที่ 3 จังหวัดเป้าหมาย ประกอบด้วย จังหวัดลพบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นการศึกษาจุดแข็งและศักยภาพของพื้นที่ผ่านการเก็บข้อมูลในหลากหลายมิติ อาทิ ด้านเศรษฐกิจ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านภูมิศาสตร์ ด้านสังคมวัฒนธรรม ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบบสาธารณูปโภค และแรงงาน ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ Geographic Information System (GIS) วิเคราะห์ข้อมูลและความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่เชิงลึก โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้กำหนดออกมาเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมของจังหวัดเป้าหมาย ที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561–2580) ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันอย่างยั่งยืน แผนปฏิบัติราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาปัจจัยสนับสนุนให้เอื้อต่อการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรม และแผนปฏิบัติราชการกรมโรงงานอุตสาหกรรม ด้านที่ 1 เรื่องส่งเสริมและสนับสนุนให้ธุรกิจอุตสาหกรรมมีการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน รวมถึงยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด และยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดนั้น ๆ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

นายวีรพงษ์ กล่าวเพิ่มว่า ผลการศึกษาพื้นที่และแนวทางการพัฒนาพื้นที่และประเภทอุตสาหกรรมในจังหวัดเป้าหมาย พบว่า จังหวัดลพบุรี เป็นแหล่งวัตถุดิบทางการเกษตรที่สำคัญ จากลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นที่ราบลุ่มที่มีความเหมาะสม มีเส้นทางการเชื่อมต่อที่สะดวกและหลากหลาย จึงมีความเหมาะสมกับอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและเชื้อเพลิงชีวภาพ อุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพ และอุตสาหกรรมและบริการการขนส่งและโลจิสติกส์ โดยมีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมในจังหวัดลพบุรีประกอบด้วย

  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อาหารแปรรูป และอุตสาหกรรมบริการ
    โลจิสติกส์ทันสมัย ที่สอดรับกับการขยายตัวของตลาดทุกระดับ
  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยกระดับมาตรฐานการผลิตตลอดโซ่อุปทาน เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
  • ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาอุตสาหกรรมด้วยการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพเพื่อลดปริมาณกากของเสียในภาคอุตสาหกรรม

ด้านจังหวัดเพชรบูรณ์ มีผลผลิตทางการเกษตรที่มีความหลายหลาย อีกทั้งยังเห็นแหล่งผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ จึงเหมาะสมกับอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและเชื้อเพลิงชีวภาพ อุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพ และอุตสาหกรรมผลิตอาหารจากเนื้อสัตว์ โดยมีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมในจังหวัดเพชรบูรณ์ประกอบด้วย

  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ในขณะที่จังหวัดกาฬสินธุ์ มีสภาพภูมิอากาศและพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการทำการเกษตร และเป็นแหล่งผลิตสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP ที่มีชื่อเสียงและคุณภาพของประเทศ จึงมีความเหมาะสมในการประกอบอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารจากเนื้อสัตว์ อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ และอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพจากมันสำปะหลัง โดยมีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมในจังหวัดกาฬสินธุ์ประกอบด้วย

  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาผู้ประกอบการ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
  • ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยกองส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตและพื้นที่อุตสาหกรรม มุ่งพัฒนาและยกระดับภาคอุตสาหกรรมในเชิงพื้นที่ ซึ่งได้ดำเนินโครงการส่งเสริมพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีความเหมาะสมกับศักยภาพชุมชน กว่า 1 ล้านไร่ ในกว่า 50 จังหวัดทั่วประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม กระตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 ผ่านภาคอุตสาหกรรมที่เป็นกำลังหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ที่มีความสมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติ และไม่ทำลายรากฐานวิถีชีวิตของชุมชน นายวีรพงษ์ กล่าวสรุป

 

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp