6 เดือนแรกปี 65 แบงก์รัฐผนึกพลังช่วยเหลือลูกค้าจาก COVID-19 รวมกว่า 6.8 ล้านราย วงเงินรวม 1.35 ล้านล้านบาท

85

มิติหุ้น – นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะประธานกรรมการสมาคม สถาบันการเงินของรัฐ เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานด้านการให้ความช่วยเหลือลูกค้า ประชาชน และผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2565 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย1.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 2.ธนาคารออมสิน 3.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 4.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) 5.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) และ 6.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ว่า ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 สถาบันการเงินของรัฐทุกแห่งยังคงมีบทบาทสำคัญในการร่วมมือกับรัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความช่วยเหลือด้วยการลดภาระทางด้านการเงินเพิ่มสภาพคล่อง และปรับโครงสร้างหนี้ให้กับประชาชน ผู้ประกอบการ และภาคธุรกิจ ผ่านมาตรการต่าง ๆ โดยมีจำนวนของลูกค้าที่ได้รับความช่วยเหลือแล้วถึง 6,887,638 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวม 1,352,588 ล้านบาท แบ่งเป็นรายละเอียดตามโครงการความช่วยเหลือ ดังนี้

  1. โครงการสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ มีจำนวนสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติแล้ว 44,466 ล้านบาท 17,147 ราย เฉลี่ยอนุมัติสินเชื่อต่อรายอยู่ที่ 2.59 ล้านบาท
  2. โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายจากการกู้ยืมเงิน และให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจเมื่อมีศักยภาพในอนาคต โดยมียอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือรวม 3,441 ล้านบาท
    53 บัญชี
  3. โครงการช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 958,025 ล้านบาท 2,250,854 บัญชี
  4. โครงการให้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง มีการอนุมัติสินเชื่อแล้ว 346,656 ล้านบาท 4,590,483 ราย แบ่งเป็น สินเชื่อสำหรับภาคธุรกิจ 280,805 ล้านบาท 89,334 ราย และสินเชื่อสำหรับรายย่อย 65,851 ล้านบาท 4,501,149 ราย
  5. โครงการความช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่านทางด่วนแก้หนี้ จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 29,101 ราย สามารถให้ความช่วยเหลือแก้ไขหนี้ได้สำเร็จถึง 81.84%

สำหรับแนวทางการดำเนินงานของสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ยืนยันว่าพร้อมพิจารณาตรึงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำให้นานที่สุด หรือหากมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นตามคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อบริหารต้นทุนการดำเนินงาน ก็จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ให้น้อยที่สุดเพื่อลดผลกระทบภาระค่าใช้จ่ายของลูกค้า ประชาชน และผู้ประกอบการ พร้อมกับให้ความสำคัญกับการติดตามดูแลให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือผู้ประกอบการที่อาจยังคงได้รับผลกระทบทางรายได้ และยังไม่สามารถกลับมาประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ ผ่านมาตรการต่าง ๆ ที่มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ ความเสี่ยง และมีความยืดหยุ่น เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจมีความไม่แน่นอน จนกว่าจะกลับมามีความเข้มแข็ง ทางรายได้และผ่อนชำระได้ตามปกติต่อไป

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp