Schroders เผยผลสำรวจ Global Investor Study 2022  ชี้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ ทุนทางธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นเทรนด์อันดับหนึ่งที่นักลงทุนในไทยต้องการมีส่วนร่วมที่สุด

73

มิติหุ้น – ผลงานวิจัยระดับโลก Global Investor Study 2022 ล่าสุด โดย Schroders เผยนักลงทุนในไทยมองประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหัวข้อการลงทุนสำคัญอันดับต้น ๆ ที่พวกเขาอยากมีส่วนร่วม

รายงานวิจัยสำคัญของ Schroders ฉบับนี้ซึ่งทำการสำรวจความคิดเห็นของนักลงทุนเกือบ 24,000 คนจาก 33 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก รวมทั้งประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย พบว่าปัญหาเรื่องสภาพภูมิอากาศเป็นหัวข้อการลงทุนสำคัญที่สุดที่นักลงทุนในไทยต้องการมีส่วนร่วม สอดคล้องกับผลในตลาดอื่น ๆ ส่วนมากที่ได้ทำการสำรวจ (อยู่ที่ 31% เทียบกับ 31% ของนักลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และ 32% ของนักลงทุนทั่วโลก) ในขณะที่ประเด็นเรื่องทุนทางธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ (อยู่ที่ 23% เท่ากันทั้งในไทย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก) เป็นหัวข้อการลงทุนสำคัญอันดับที่สองสำหรับนักลงทุนในไทย สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม

ผลสำรวจยังพบอีกว่า 57% ของนักลงทุนระดับ ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ในไทย (เทียบกับ 58% ของนักลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และ 55% ของนักลงทุนทั่วโลก) ระบุว่า ค่านิยมส่วนบุคคลมีความ ‘สำคัญมาก’ สำหรับพวกเขา ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่ากลุ่มนักลงทุนในไทยที่จัดตัวเองว่ามีความรู้ด้านการลงทุนระดับกลาง (อยู่ที่ 30% เทียบกับ 21% ของนักลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และ 16% ของนักลงทุนทั่วโลก) และกลุ่มนักลงทุนในไทยที่ ‘มีความรู้การลงทุนขั้นพื้นฐาน’ (อยู่ที่ 8% เทียบกับ 15% ของนักลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และ 10% ของนักลงทุนทั่วโลก)

นักลงทุนไทยยังสะท้อนความรู้สึกอย่างชัดเจนว่า ในฐานะผู้ถือหุ้น พวกเขาควรมีอำนาจในการโน้มน้าวบริษัทที่พวกเขาได้เข้าไปลงทุนได้ ซึ่งนักลงทุนทุกระดับความรู้ด้านการลงทุนต่างเห็นตรงกันในเรื่องนี้ นับตั้งแต่กลุ่มนักลงทุนที่จัดตัวเองว่ามีความรู้ด้านการลงทุน ‘ระดับเริ่มต้น’ ไปจนถึงกลุ่มนักลงทุน ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ โดย 81% ของนักลงทุนไทยที่อยู่ในระดับ ‘ผู้เชี่ยวชาญหรือมากประสบการณ์ในตลาด’ (เมื่อเทียบกับ 92% ของนักลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และ 95% ของนักลงทุนทั่วโลก) เชื่อว่าพวกเขาควรมีสิทธิ์ที่จะโน้มน้าวบริษัทที่ลงทุนได้

เมื่อต้องตัดสินใจลงทุน 77% ของนักลงทุนในไทยที่มีอายุระหว่าง 38-50 และ 51-70 ปี ให้ความสำคัญกับหลักการและค่านิยมส่วนบุคคลอย่างมาก ในขณะที่สำหรับนักลงทุนทั่วโลก กลุ่มนักลงทุนที่มีอายุ 71 ปีขึ้นไปคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่ากลุ่มอื่น โดย 76% ของนักลงทุนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับหลักการและค่านิยมส่วนบุคคลมากเป็นพิเศษ เมื่อเทียบกับ 66% ของนักลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ความรู้คืออำนาจ

อย่างไรก็ตาม แม้นักลงทุนจะมีความตั้งใจในเชิงบวก แต่ยังคงมีช่องว่างในกลุ่มนักลงทุนที่รู้สึกว่าตนเองมีอำนาจอย่างแท้จริงในการตัดสินใจลงทุนที่ถูกต้องเพื่ออนาคตของพวกเขา โดย 85% ของนักลงทุนไทยระดับ ‘ผู้เชี่ยวชาญหรือมากประสบการณ์ในตลาด’ (เมื่อเทียบกับ 84% ของนักลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และ 82% ของนักลงทุนทั่วโลก) รู้สึกมั่นใจว่า พวกเขามีความรู้มากพอที่จะตัดสินใจลงทุนเพื่ออนาคตทางการเงินของพวกเขา ในขณะที่ประมาณมากกว่าครึ่งของนักลงทุน ‘ระดับเริ่มต้นหรือมีความรู้การลงทุนระดับพื้นฐาน’ ในไทย (อยู่ที่ 69% เมื่อเทียบกับ 47% ของนักลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และ 26% ของนักลงทุนทั่วโลก) รู้สึกว่าตนมีความรู้เพียงพอที่จะทำเช่นนั้นได้

นักลงทุนในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมองว่าผู้ให้บริการทางการเงิน (61% เมื่อเทียบกับ 51% ทั่วโลก) เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลและให้ความรู้เพื่อให้ผู้คนมีความรู้เพียงพอในเรื่องการเงินส่วนบุคคล โดยเกือบครึ่งหนึ่งของนักลงทุนในตลาดนี้เชื่อว่าที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ รัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแล ตลอดจนสถาบันการศึกษา ล้วนมีบทบาทหน้าที่ในเรื่องนี้

ความรู้ด้านการลงทุนที่มากขึ้นช่วยกระตุ้นความสนใจในการลงทุนสินทรัพย์นอกตลาดในหมู่นักลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังเผยอีกว่า ปัจจุบันนักลงทุนไทยรู้สึกมั่นใจในการเข้าถึงการลงทุนที่อาจเคยถูกมองว่าไกลเกินเอื้อมมากขึ้นกว่าเดิม โดยกรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด (Private Assets) ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งของนักลงทุนที่ตอบแบบสำรวจรู้สึกว่าตนมีสิทธิ์เข้าถึงการลงทุนทั้งสินทรัพย์ดิจิทัล (55% เมื่อเทียบกับ 51% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และ 47% ทั่วโลก) และหุ้นนอกตลาด (Private Equity) (52% เมื่อเทียบกับ 49% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ 47% ทั่วโลก) ในขณะเดียวกัน 52% ของนักลงทุนในไทย (เมื่อเทียบกับ 50% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และ 45% ทั่วโลก) มีความมั่นใจในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าตนเองมีศักยภาพในการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด สินทรัพย์บางประเภทยังคงถูกมองว่าซับซ้อน ซึ่งต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากผู้ให้บริการและที่ปรึกษาทางการเงินในการช่วยให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงสินทรัพย์เหล่านั้นได้ง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งนักลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มที่จะลงทุนผ่านผลิตภัณฑ์ของบุคคลที่สาม เช่น กองทุนรวม (44% เมื่อเทียบกับ 41% ทั่วโลก) มากกว่าจะลงทุนเองโดยตรง (37% เทียบกับ 37% ทั่วโลก)

กล่าวโดยสรุปคือ ยิ่งระดับความรู้ด้านการลงทุนของนักลงทุนมีมาก พวกเขาก็จะยิ่งสนใจการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดมากขึ้นเท่านั้น ตัวอย่างเช่น หนึ่งในสามของนักลงทุน ‘ระดับเริ่มต้น’ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (34% เมื่อเทียบกับ 33% ทั่วโลก) รู้สึกว่ากลุ่มโครงสร้างพื้นฐานอยู่เหนือความเข้าใจของพวกเขา เมื่อเทียบกับ 9% ของนักลงทุนระดับ ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ที่รู้สึกเช่นนี้ (และเมื่อเทียบกับ 11% ทั่วโลก) แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มในการทำให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงสินทรัพย์นอกตลาดได้อย่างเท่าเทียมกันทุกกลุ่มนั้นเชื่อมโยงกับปัจจัยการมีความรู้ทางการเงินในเชิงลึกมากขึ้น

นายสจ๊วร์ต พอดมอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายข้อเสนอการลงทุนของ Schroders ให้ความเห็นว่า

“ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนในทุกระดับความรู้และประสบการณ์การลงทุนต่างต้องการแสดงมุมมองความคิดเห็นของตนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ กว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะหากบริษัทที่พวกเขาลงทุนไม่สามารถบอกเหตุผลที่ชัดเจนในการตัดสินใจดำเนินการต่าง ๆ ในบริษัทได้ดีพอ สถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้น นั่นคือการที่บริษัทและรัฐบาลต่าง ๆ ล้วนอยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างใกล้ชิดมากกว่าที่เคยในการดำเนินนโยบายและมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลอย่างยั่งยืน ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับผลสำรวจในปีนี้คือความเสี่ยงด้านสังคมและธรรมาภิบาลที่เริ่มทวีความสำคัญมากขึ้นในฐานะหนึ่งในหัวข้อการลงทุนหลักสำหรับนักลงทุน

“การมีความรู้ด้านการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุนในการสนับสนุนการตัดสินใจต่าง ๆ ขององค์กรได้ดีขึ้นด้วย ในฐานะผู้จัดการสินทรัพย์ที่มีความมุ่งมั่นและพร้อมดูแลสินทรัพย์ของลูกค้า Schroders มุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในการปรึกษาพูดคุยด้านการลงทุนเพื่อลูกค้านักลงทุนตลอดทั้งปี เพื่อขับเคลื่อนผลลัพธ์การลงทุนที่ดีขึ้น”

นางสาวชีลา นิโคล หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะของ Schroders ให้ความเห็นว่า

“ผลการวิจัยในปีนี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการในการช่วยสนับสนุนให้ผู้คนเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการลงทุน และมีส่วนร่วมในเรื่องการเงินของพวกเขาให้มากขึ้น ซึ่งเราต้องเริ่มปลูกฝังมาตั้งแต่วัยเรียนแรกเริ่ม ตลอดจนจบระบบการศึกษา รวมถึงในช่วงเวลาที่ผู้คนต้องเจอสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในชีวิตด้วย Schroders ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการดูแลสนับสนุนลูกค้าในการค้นหาโซลูชันการลงทุนที่ดีที่สุดซึ่งตรงกับความต้องการของพวกเขา ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นใจว่าพวกเขามีเครื่องมือที่เหมาะสมในการตัดสินใจทางด้านการลงทุน”

นายจอร์จ วันเดอร์ลิน หัวหน้าฝ่ายสินทรัพย์นอกตลาดระดับโลกของ Schroders ให้ความเห็นว่า

“Schroders Capital ซึ่งเป็นธุรกิจสินทรัพย์นอกตลาดของเรา มีความเหมาะสมที่จะช่วยผลักดันและสนับสนุนให้สินทรัพย์นอกตลาดเป็น ‘การลงทุนที่นักลงทุนทุกระดับสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน’ เราเห็นความสนใจที่เพิ่มขึ้นจากนักลงทุนรายย่อยในการสร้างพอร์ตโฟลิโอการลงทุนแบบองค์รวมที่ประกอบไปด้วยทั้งการลงทุนในภาครัฐและเอกชน ดังที่เห็นได้จากผลสำรวจนักลงทุนทั่วโลกของเราฉบับนี้ ทีมงานของเรามีศักยภาพที่จะช่วยให้นักลงทุนเอกชนเข้าถึงโลกการลงทุนนี้ผ่านเครื่องมือเฉพาะทางด้านการจัดการสินทรัพย์สินนอกตลาด รวมถึงโซลูชันแบบผสมผสานซึ่งครอบคลุมทั้งสินทรัพย์นอกตลาดและในตลาด

“นอกเหนือจากผลประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยงด้านการลงทุนแล้ว พอร์ตการลงทุนแบบผสมยังช่วยให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเอาชนะอุปสรรคด้านการลงทุนสภาพคล่องที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์นอกตลาดในขนาดที่ใหญ่ขึ้นได้ เราจะยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมการลงทุนเพื่อช่วยให้นักลงทุนรายย่อยและธนาคารเอกชนเข้าถึงประเภทการลงทุนที่น่าสนใจที่สุดในกลุ่มสินทรัพย์นอกตลาดต่าง ๆ ”

สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลการศึกษา Schroders Global Investor Study 2022 ได้ที่นี่ โดยข้อมูลสำคัญจากการสำรวจในไทย สามารถดูได้จากไฟล์ที่แนบมานี้  

 

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp