ออมสินเผยความสำเร็จ 2 ปี หลังเปลี่ยนเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” ช่วยคนไทยฝ่าวิกฤตแล้วกว่า 13 ล้านคน ทั้งรายย่อยและ SMEs ผ่าน 45 โครงการ เตรียมทำ Social Mission Integration ในทุกมิติ หวังช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

54

มิติหุ้น – นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารออมสินได้ปรับยุทธศาสตร์เป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” เมื่อปี 2563 โดยได้ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนในการลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชนฐานรากด้วยดอกเบี้ยที่เป็นธรรม และ “ยึดหลักนำกำไรจากการประกอบธุรกิจปกติ มาสนับสนุนภารกิจเชิงสังคม” ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการเสริมความแข็งแกร่งของธนาคารด้วยในเวลาเดียวกัน ด้วยบทบาทและภารกิจเพื่อสังคมตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดผลสำเร็จมีความชัดเจนเป็นรูปธรรมในทุกมิติ และสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมในวงกว้าง

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้ดำเนินการตามนโยบายที่รัฐบาลมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการส่งต่อความช่วยเหลือให้ประชาชนและภาคธุรกิจ ผ่านมาตรการและโครงการต่าง ๆ กว่า 45 โครงการ        มีประชาชนได้รับประโยชน์และความช่วยเหลือแล้วจำนวนกว่า 13 ล้านราย โดยเป็นผู้ที่ได้รับสินเชื่อ 5.7 ล้านราย       ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ไม่เคยมีประวัติเครดิตและเป็นการเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้เป็นครั้งแรกมากถึง 2.76 ล้านราย   สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจแล้วเป็นเม็ดเงินกว่า 195,000 ล้านบาท รวมถึงการช่วยเหลือประชาชนที่ตกงานหรือขาดรายได้ให้สามารถกลับมามีอาชีพ และสร้างรายได้ กว่า 100,000 ราย นอกจากนี้ ได้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายโดยการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ NPLs อีกร่วม 4 ล้านราย โดยส่วนหนึ่งของโครงการต่าง ๆ ได้แก่ โครงการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 สินเชื่อเสริมพลังฐานราก สินเชื่อช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยว สินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระและผู้มีรายได้ประจำ สินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ และอีกมากมาย รวมถึงมาตรการพักชำระหนี้ โครงการผ่อนปรนภาระหนี้ไม่ให้เสียประวัติการเงิน ตลอดจนการฟื้นฟูและฝึกทักษะอาชีพเพื่อช่วยสร้างรายได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ธนาคารยังประสบความสำเร็จในการริเริ่มโครงการใหม่ ที่ช่วยให้คนฐานรากและ SMEs ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ ด้วยต้นทุนที่ถูกลงและเป็นธรรม ได้แก่ (1) การเข้าทำธุรกิจจำนำทะเบียนมอเตอร์ไซค์ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงช่วยกดโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยของธุรกิจนี้ให้ลดต่ำลง จาก 28% ลงเหลือ 16 – 18% โดยอนุมัติสินเชื่อให้คนฐานรากแล้วกว่า 1 ล้านราย และ (2) การปล่อยสินเชื่อโดยพิจารณาจากที่ดินซึ่งเป็นหลักประกัน ในโครงการสินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน ทำให้สามารถอนุมัติสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงเวลายากลำบากแล้วเป็นวงเงินกว่า 21,000 ล้านบาท ตอกย้ำการขับเคลื่อนบทบาทธนาคารเพื่อสังคมที่ตั้งเป้าช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการเงินได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือและโครงการเพื่อสังคมต่าง ๆ สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นผลมาจากการพัฒนายกระดับบริการ Mobile Banking ที่ทำให้สามารถปล่อยสินเชื่อผ่านแอป MyMo ได้มากถึง 1.6 ล้านราย และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จำนวน 5.4 แสนราย ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 โดยที่ลูกค้าประชาชนไม่ต้องไปติดต่อที่สาขา

หลังจากนี้ ธนาคารจะยกระดับขยายผลให้ทุกมิติที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการดำเนินงานหลัก หรือด้านผลิตภัณฑ์และบริการ จะต้องมีการนำปัจจัยด้านสังคมเข้ามาบูรณาการทุกด้าน (Social Mission Integration) ซึ่งจะทำให้เกิด (1) ความลึกลงในการปฏิบัติงาน (Embedded in Core Business Process) (2) ความยั่งยืนทางธุรกิจและสังคม (Sustainability) และ (3) ผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง (Broaden Positive Impact) เช่น การบูรณาการปัจจัยด้านสังคมลงในกระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน การบริหารจัดการทรัพยากร การปรับวิธีการประเมินผลสำเร็จของงาน หรือในการจัดทำโครงการต่าง ๆ เป็นต้น รวมถึงเน้นการบริหารจัดการเสริมความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง การลดต้นทุนบริหารจัดการและการควบคุมค่าใช้จ่ายยังเป็นแนวทางหลักในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้สามารถทำกำไรและนำกำไรบางส่วนไปสนับสนุนภารกิจเพื่อสังคม

นอกจากนี้ ในครึ่งหลังของปี 2565 ธนาคารจะริเริ่มเข้าทำธุรกิจสินเชื่อที่ดินและขายฝาก เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนถูกลงและเป็นธรรมสำหรับคนไทย โดยการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2565 และการอนุมัติสินเชื่อ Digital Lending โดยใช้ Alternative Data เริ่มโครงการต้นแบบในเดือนพฤศจิกายน 2565 รวมถึงเร่งรัดการช่วยเหลือฟื้นฟูคุณภาพชีวิตประชาชนผ่านโครงการสร้างงานสร้างอาชีพ ตั้งเป้าช่วยผู้เดือดร้อนได้ถึง 200,000 รายภายในสิ้นปี

สำหรับผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา การลดต้นทุนทางธุรกิจและควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารมีกำไรสุทธิ (ณ 30 มิ.ย. 65) จำนวน 15,831 ล้านบาท คาดการณ์กำไรทั้งปี 2565 ที่ 29,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา ธนาคารสามารถนำส่งรายได้เข้ารัฐ เป็นจำนวนเงิน 15,978 ล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 4 จากรัฐวิสาหกิจ 58 แห่ง พร้อมกับความสามารถรักษาระดับ NPLs ได้ 2.67% ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) 160% และมีเงินสำรองรวม (Total Provision) และเงินสำรองทั่วไป (General Provision) สูงสุดเป็นประวัติการณ์.

 

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp