ตลาดหลักทรัพย์ฯ มอบรางวัลงานวิจัยดีเด่นด้านตลาดทุน สนับสนุนนักวิจัยพัฒนางานวิจัยคุณภาพ ตอบโจทย์ตลาดทุนครอบคลุมทุกมิติ

42

มิติหุ้น – ตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งเสริมงานวิจัยคุณภาพด้านตลาดทุนไทย สร้างนักวิจัยคุณภาพ เชื่อมโยงเครือข่ายนักวิชาการและภาคตลาดทุน โดยมอบ 5 รางวัลให้แก่งานวิจัยที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในโครงการสนับสนุนทุนวิจัยด้านตลาดทุน ประจำปี 2564/2565 โดยรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ได้แก่ นายณัฐวุฒิ แวงวรรณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากผลงานวิจัยหัวข้อ “Hidden Ownership and Corporate Governance” และรางวัลงานวิจัยดี ได้แก่ นายวัชรพัฐ มาแสง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากผลงานวิจัยหัวข้อ “ความเชื่อมโยงระหว่างภาคเศรษฐกิจจริง ตลาดทุนไทย และตลาดทุนในภูมิภาคเอเชีย” และผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลเกียรติคุณอีก 3 รางวัล

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งเสริมการผลิตงานวิจัยด้านตลาดทุนเพื่อต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาตลาดทุนไทย โดยได้สนับสนุนทุนวิจัยด้านตลาดทุนมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาทำงานวิจัยด้านตลาดทุน เข้าถึงข้อมูล และแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้เชี่ยวชาญในตลาดทุน โดยในปี 2564/2565 มีการจัดส่งหัวข้องานวิจัยเข้าร่วมโครงการสนับสนุนทุนวิจัยด้านตลาดทุน จำนวน 36 หัวข้อ ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดตั้งแต่ดำเนินโครงการฯ มา นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้วิจัยที่นำส่งหัวข้องานวิจัยเข้าร่วมโครงการฯ มาจากหลากหลายสาขาในมหาวิทยาลัยต่างๆ เพิ่มขึ้นกว่าทุกปี คือจาก 16 คณะ 10 สถาบันการศึกษา สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจและการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาองค์ความรู้ในวิจัยด้านตลาดทุนที่ขยายไปในวงกว้าง และมีการนำความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาอื่นๆ มาประยุกต์ให้งานวิจัยมีมิติที่กว้างและลึกยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ของหัวข้องานวิจัยที่หลากหลายและตอบโจทย์ตลาดทุนไทย อาทิ งานวิจัยเชิงนวัตกรรม งานวิจัยในประเด็น ESG เป็นต้น และมีการประยุกต์ใช้เครื่องมือด้าน data science มาช่วยในการทำงานวิจัย

ผลงานวิจัยด้านตลาดทุนที่ได้รับรางวัล ได้แก่

  • รางวัลผลงานวิจัยดีเด่นด้านตลาดทุน ได้แก่ งานวิจัยในหัวข้อ “Hidden Ownership and Corporate Governance” โดยนายณัฐวุฒิ แวงวรรณ อาจารย์ที่ปรึกษา คือ ศ. ดร.อาณัติ ลีมัคเดช จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งศึกษาถึงผลกระทบของโครงสร้างผู้ถือหุ้นต่อการกำกับดูแลกิจการของบริษัท โดยใช้วิธีใหม่คือเทคนิค Combinatorial Optimization ในการวัดสัดส่วนหุ้นที่ถือโดยธุรกิจ Offshore (hidden ownership) ซึ่งพบว่า hidden ownership มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับระดับการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียน และบริษัทที่มี hidden ownership ในระดับสูง พบว่ามีสัดส่วนการถือครองหุ้นโดยนักลงทุนต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง และส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบัน ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการให้ดียิ่งขึ้น
  • รางวัลผลงานวิจัยดีด้านตลาดทุน ได้แก่ งานวิจัยในหัวข้อ “ความเชื่อมโยงระหว่างภาคเศรษฐกิจจริง ตลาดทุนไทย และตลาดทุนในภูมิภาคเอเชีย” โดยนายวัชรพัฐ มาแสง อาจารย์ที่ปรึกษา คือ ผศ. ดร.วศิน ศิวสฤษดิ์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งศึกษาถึงความเชื่อมโยงระหว่างภาค

เศรษฐกิจจริง ตลาดทุนไทย และตลาดทุนในภูมิภาคเอเชีย ด้วยวิธีแบบจำลอง Vector Autoregressive (VAR) พบว่า ภาคเศรษฐกิจจริงภายในประเทศได้รับความผันผวนสุทธิจากตลาดหุ้น (SET) และสำหรับความเชื่อมโยงของตลาดหุ้นไทยกับนโยบายเศรษฐกิจของต่างประเทศ พบว่าระดับความเชื่อมโยงจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในทุกช่วงวิกฤติ

  • รางวัลประกาศเกียรติคุณ 3 รางวัล ได้แก่
    • หัวข้อ “Black-Litterman Portfolio Management Using Investor’s View Generated by Recurrent Neural Networks and Support Vector Regression” โดยนายกรรณชัย ปัญญาเลิศทิพย์ อาจารย์ที่ปรึกษาคือ ดร.พิตติพล คันธวัฒน์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    • หัวข้อ “The relationship between agricultural commodity and stock market in case of Thailand: Safe-haven, Hedge, or Diversifier?- Cross-quantilogram analysis” โดย นายกาจบัณฑิต บัณฑิตสกุลพร อาจารย์ที่ปรึกษาคือ ผศ. ดร.ษิฌา ทับทิมพรรณ์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
    • หัวข้อ “ผลการดำเนินงานของกองทุนรวมตราสารทุนในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ด้วยวิธี Bootstrapping” โดยนายจิรสิน ศิริประชัย อาจารย์ที่ปรึกษาคือ รศ. ดร.ธาตรี จันทรโคลิกา จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ผลงานที่ได้รับรางวัลครั้งนี้มีความโดดเด่นและประยุกต์ใช้เครื่องมือใหม่ๆ ในงานวิจัย ทำให้สามารถวิเคราะห์คาดการณ์อนาคตได้หลากหลายมุมมอง และนำผลไปต่อยอดในเชิงปฏิบัติได้จริง ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมสนับสนุนการทำงานวิจัยด้านตลาดทุนที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตลาดทุนไทยอย่างยั่งยืน โดยพัฒนาแหล่งรวบรวมฐานข้อมูลตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้พัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลตลาดทุนเพื่อนักวิจัยเข้าถึงข้อมูลและจัดทำงานวิจัยได้สะดวกยิ่งขึ้นด้วย” นายศรพลกล่าว

โครงการสนับสนุนทุนวิจัยด้านตลาดทุน โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2555 ด้วยความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิในธุรกิจตลาดทุนไทย ภาครัฐและเอกชน ที่ร่วมเป็นกรรมการตัดสินรางวัล นับเป็นเครือข่ายที่มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างภาคการศึกษากับผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์จริงในตลาดทุนไทย ซึ่งช่วยยกระดับงานวิจัยให้มีคุณภาพ และใช้ประโยชน์ได้จริงในธุรกิจตลาดทุนไทย

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp