EIC ความท้าทายของนโยบายการเงินไทยในช่วงของแพง-ค่าแรงถูก

85

มิติหุ้น – เงินเฟ้อไทยที่เร่งตัวต่อเนื่องทำให้ ธปท. จำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวมากขึ้น แต่ด้วยเศรษฐกิจไทยที่ยังคงเปราะบาง การดำเนินนโยบายจึงมีความท้าทายอย่างมาก

เงินเฟ้อของไทยพุ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 ที่ 7.7% ในเดือนมิถุนายน 2022 และยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องตามราคาพลังงานและอาหาร ซึ่งจะกระทบต่อกำลังซื้อของภาคเอกชน สร้างความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เพิ่งผ่านวิกฤติโควิด-19 และเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หากพิจารณาแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา พบว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้น้ำหนักต่อการรักษาเสถียรภาพด้านราคาเป็นสำคัญ ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไปจึงมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น แต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในภาวะที่เศรษฐกิจยังคงอ่อนแออาจยิ่งซ้ำเติมให้เกิดความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

แม้การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือน แต่รายได้กลับลดลงรุนแรงกว่ามาก

การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายช่วยลดอัตราเงินเฟ้อผ่าน 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ การชะลออุปสงค์ในประเทศ อัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น และลดแรงกดดันเงินเฟ้อคาดการณ์ อย่างไรก็ดี การลดอัตราเงินเฟ้อผ่านช่องทางอุปสงค์ในประเทศส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอลงเช่นกัน ทั้งนี้ EIC ยังพบว่าระยะเวลาการส่งผ่านของนโยบายการเงินในการลดเงินเฟ้ออยู่ที่ประมาณ 10-14 เดือน ดังนั้น การทำนโยบายการเงินเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อระยะสั้นจำเป็นต้องเกิดจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในขนาดที่มาก ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงรุนแรง สร้างผลกระทบโดยตรงต่อทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน โดยจากการศึกษาของ EIC ผ่านรูปแบบการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรูปแบบต่าง ๆ พบว่าต้นทุนของภาคธุรกิจและค่าใช้จ่ายของภาคครัวเรือนมีแนวโน้มลดลงตามเงินเฟ้อในทุกกรณี แต่รายได้จะชะลอตัวลงมากกว่ามาก อีกทั้ง ยังเพิ่มภาระดอกเบี้ยที่ทั้งสองกลุ่มต้องจ่าย และหากเปรียบเทียบผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยในกรณีต่าง ๆ ระหว่างรายจ่ายของครัวเรือนที่ลดลงและรายได้ที่ลดลงจะพบว่า การขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปและต่อเนื่องจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด ในขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่เร็วและแรงในยามที่ ‘ของแพง ค่าแรงถูก’ จะสร้างความสูญเสียต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจมากกว่า

ในระยะถัดไป EIC มองว่า ธปท. จะใช้แนวทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีเป้าหมายเพื่อลดเงินเฟ้อคาดการณ์เป็นหลัก

ในสถานการณ์ที่ ‘ของแพง ค่าแรงถูก’ เช่นปัจจุบัน การใช้นโยบายการเงินตึงตัวแรงเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อของไทยที่มาจากฝั่งอุปทาน (Cost-push inflation) เป็นสำคัญอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย ดังนั้น การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจึงมีจุดประสงค์หลักเพื่อควบคุมเงินเฟ้อคาดการณ์โดยทำให้ครัวเรือนและภาคธุรกิจในระบบเศรษฐกิจมองว่าเงินเฟ้อจะไม่คงอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานาน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะเงินเฟ้อฝังลึก (Wage-price spiral) ที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงจนยากต่อการควบคุม

ดังนั้น EIC คาดว่า กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เพื่อเป็นการส่งสัญญาณควบคุมเงินเฟ้อ

EIC เปรียบเทียบการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในแต่ละรูปแบบพบว่า การขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปและต่อเนื่อง (ขึ้น 2 ครั้งในปี 2022 และอีก 2 ครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 คราวละ 0.25% หรือเฉลี่ยไตรมาสละ 1 ครั้ง) สามารถลดเงินเฟ้อคาดการณ์ได้ดีที่สุด โดยไม่สร้างแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมากจนเกินไป ดังนั้น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปีนี้ จึงเพียงพอและเหมาะสมในการส่งสัญญาณควบคุมเงินเฟ้อคาดการณ์ ท่ามกลางความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับสูงและอัตราเงินเฟ้อที่มาจากปัญหาด้านอุปทานเป็นส่วนใหญ่

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp