3เอ็ม เผยผลสำรวจ ประชากรภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เชื่อข้อมูลวิทยาศาสตร์ ตื่นตัวภาวะโลกร้อน ต้องการเข้าถึงระบบสาธารณสุข และสะเต็มศึกษาอย่างเท่าเทียม

44

มิติหุ้น  –  3เอ็ม เผยผลสำรวจดัชนีสถานะวิทยาศาสตร์ประจำปี 2565 หรือ SOSI 2022 (State of Science Index) ต่อมุมมองด้านวิทยาศาสตร์ จากผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 1,000 ต่อประเทศใน 17 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่สำรวจพบว่า ผู้คน 91% มีความไว้วางใจในวิทยาศาสตร์ และกว่า 87% มีความไว้วางใจในนักวิทยาศาสตร์ และจำนวนผู้คนมากกว่าครึ่งเห็นด้วยว่า วิทยาศาสตร์เข้ามามีความสำคัญอย่างมากในชีวิตประจำวัน หรือคิดเป็น 57% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 52%  และยังมีผู้คนเห็นถึงช่องทางของโอกาสในการนำวิทยาศาสตร์เข้ามาแก้ไขปัญหาสังคม ภาวะโลกร้อน และการเข้าถึงระบบสาธารณสุข และสะเต็มศึกษา (STEM: วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ได้อย่างเท่าเทียม

 

จิม ฟาลเทอเสค รองประธานอาวุโส ฝ่ายกิจการองค์กร 3เอ็ม ภูมิภาคเอเชีย และกรรมการผู้จัดการ 3เอ็ม ประเทศเกาหลี เปิดเผยว่า แม้จะเป็นช่วงฟื้นฟูหลังการระบาดของโควิด 19 สังคมยังคงให้คุณค่าและเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง แต่เรายังคงต้องสื่อสารข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ รวมถึงเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์เข้ากับเรื่องที่สำคัญที่สุดในสังคมให้ได้ และการเปิดเผยผลสำรวจครั้งนี้ ยิ่งทำให้ได้รับรู้ถึงความคิดเห็นและความรู้สึกของผู้คนทั่วโลกที่มีต่อวงการวิทยาศาสตร์ ตลอดจนผลกระทบที่มีต่อโลกรอบตัวเรา เพื่อหาคำตอบว่าจะสามารถเชื่อมต่อสิ่งสำคัญที่ขาดหายไปให้สมบูรณ์ได้อย่างไร 

 

จากข้อมูลการสำรวจพบว่า คนส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเชื่อว่า มีการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องอย่างแพร่หลายในสื่อดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็น สื่อออนไลน์สื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่อวิทยุโทรทัศน์ อย่างช่องข่าวทีวี คิดเป็น 71% และโซเชียลมีเดีย คิดเป็น 85% ซึ่งเป็นภัยต่อความน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามมีแนวโน้มสงสัยในวิทยาศาสตร์มากกว่าผู้ตอบแบบสำรวจทั่วโลกถึง 36% เมื่อเทียบกับ 29% จากทั่วโลก และจากผลสำรวจยังแสดงให้เห็นอีกว่า วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในสังคมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดย 81% เชื่อว่าจะมีผลกระทบด้านลบหากผู้คนไม่เห็นคุณค่าของวิทยาศาสตร์ รวมถึงกว่า 60% พูดถึงวิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุข ที่มีความแบ่งแยกในสังคมมากขึ้นถึง 55% เทียบกับทั่วโลกเพียง 57% และความรุนแรงของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น (54% เทียบกับ 53% ทั่วโลกกว่า 82% ของประชากรภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังต้องการรับรู้ข้อมูลเพิ่มเติมจากนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับงานของพวกเขา โดยชี้ให้เห็นถึงโอกาสและความสำคัญในการใช้การสื่อสารทางวิทยาศาสตร์เพื่อนำไปสู่หนทางข้างหน้า

 

ความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่การดำเนินการเพื่อจะรับมือค่อนข้างต่ำ 

จากการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่ (84% เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 79%) กังวลว่าวันหนึ่งพวกเขาหรือคนในครอบครัว อาจต้องพลัดถิ่นจากที่อยู่อาศัยเดิม เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนสุดขั้ว อันเป็นผลกระทบเกี่ยวเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน แม้จะมีความกังวลเรื่องสภาพอากาศที่กล่าวไปนี้แต่ประชาชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็ยังดำเนินการรับมือเรื่องนี้ด้วยตนเองค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับประชากรโลก ในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา ทั้งในเรื่องของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างต่ำ แม้แต่การรับมือพื้นฐานที่พบได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นลดการใช้พลาสติก นับเป็นเพียง 51% เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 53% รวมถึงการใช้วัสดุรีไซเคิล คิดเป็น 47% เทียบกับ 54% ทั่วโลกและลดการใช้น้ำ คิดเป็น 41% เทียบกับ 48% ทั่วโลก 

 

หากกล่าวถึงการมีส่วนร่วมขององค์กรต่างๆ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ต้องการให้องค์กรเหล่านั้นลงมือปฏิบัติ เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น ด้วยการลดปริมาณพลาสติกที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ 58% เทียบเท่ากับทั่วโลก เพิ่มการใช้วัสดุรีไซเคิลและวัสดุหมุนเวียนในผลิตภัณฑ์ที่ถูกพัฒนา 53% เทียบกับ 54% ทั่วโลก และลดการปล่อยของเสียที่เกิดจากสิ่งอำนวยความสะดวก 52% เทียบเท่ากับทั่วโลก

 

3เอ็ม มีแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินงานผ่าน Strategic Sustainability Framework ซึ่งเป็นแผนงานที่ชี้นำแนวทางการสร้างสรรค์วิทยาศาสตร์ของ 3เอ็ม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน และแนวทางปฏิบัติเพื่อสิ่งแวดล้อมขององค์กร ตลอดจนนำวิทยาศาตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อความยั่งยืนยิ่งขึ้น เช่น 3เอ็ม กำลังมุ่งสู่เป้าหมายการลดใช้พลาสติกจากฟอสซิลบริสุทธิ์ลง 125 ล้านปอนด์ภายในปี 2568 และพัฒนาการใช้พลังงานหมุนเวียนได้มากถึง 50% ในทุกไซต์งานทั่วโลก ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2568

 

โอกาสที่วิทยาศาสตร์จะสร้างผลกระทบทางสังคม 

จากการสำรวจดัชนีสถานะวิทยาศาสตร์ประจำปี 2565 พบว่า ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีการกล่าวถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข และการเข้าใจถึงมูลเหตุของปัญหาสุขภาพคือประเด็นสำคัญอันดับต้นๆ ของผลสำรวจครั้งนี้ การรับรองการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางสังคม ถือเป็นเรื่องที่มีการเรียกร้องมากที่สุดสำหรับประชาชนในเอเชียแปซิฟิก โดย 78% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับสังคมในอีก 5 ปีข้างหน้าและการเข้าใจถึงมูลเหตุของปัญหาสุขภาพแบบใหม่ๆ ภายในกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสและถูกมองข้าม คือประเด็นที่รองลงมาคิดเป็น 73%

 

นอกจากนี้ผู้คนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยังคาดหวังอีกด้วยว่า องค์กรต่างๆ จะให้ความสำคัญในการจับมือกับอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพและหน่วยงานอื่นๆ ในเรื่องการปรับปรุงคุณภาพการพยาบาล คิดเป็น 51% และการจัดการกับสาเหตุของสุขภาพในชุมชนที่ด้อยโอกาสและถูกมองข้าม กว่า 47%

 

อุปสรรคต่อความเท่าเทียมด้านสะเต็มศึกษา  

ความหลากหลายและโอกาสในการเข้าถึงสะเต็มศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นโดย 85% ในเอเชียแปซิฟิกเห็นพ้องกันว่านักเรียนประสบกับอุปสรรคในการเข้าถึงสะเต็มศึกษาไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนหลักสูตรด้านสะเต็ม การขาดแคลนผู้สอนด้านสะเต็ม และการไม่มีอินเตอร์เน็ต (คิดเป็น 78% เทียบกับ 74% ทั่วโลก การขาดเงินทุนเพื่อเข้าถึงสะเต็มศึกษาที่มีคุณภาพ (คิดเป็น 48% เทียบกับ 47% ทั่วโลก) และพบว่านักเรียนมีภาระส่วนตัวที่ต้องรับผิดชอบมากมาย เช่น ต้องทำงานเพื่อหารายได้พิเศษ ต้องทำงานบ้านต้องช่วยดูแลสมาชิกที่เป็นเด็กในครอบครัว เป็นต้น จนไม่สามารถมุ่งศึกษาไปด้านสะเต็มได้อย่างเต็มที่  (คิดเป็น 43% เทียบกับ 37% ทั่วโลก)

 

คนส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกว่า 74% เมื่อเทียบกับ 71% ทั่วโลก ยังเชื่อว่าชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้รับโอกาสมากเท่าประชากรเชื้อชาติอื่นมักไม่ได้รับโอกาสในการเข้าถึงสะเต็มศึกษาอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงและเด็กผู้หญิงต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายตลอดเส้นทางสะเต็มศึกษา  นอกจากนี้ 83% ของคนจากทั่วทั้งภูมิภาค เห็นร่วมกันว่า มีความจำเป็นต้องดำเนินการให้มากกว่านี้เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในสะเต็มศึกษา 65% ของผู้ตอบแบบสอบถามยังเชื่อว่าผู้หญิงจะถอนตัวจากงานที่เกี่ยวข้องกับสะเต็ม เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนเพียงพอและ 62% ระบุว่าผู้หญิงรู้สึกท้อแท้ในการเรียนต่อสาขาวิศวกรรมมากกว่าสาขาวิทยาศาสตร์อื่นๆ 

 

ผู้คนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจึงเรียกร้องให้ประชาคมวิทยาศาสตร์และบริษัทต่างๆ เพิ่มความเท่าเทียมด้านสะเต็มศึกษา และเพิ่มบุคลากรด้านสะเต็ม ในทรัพยากรบุคคลของบริษัท ทั้งนี้ ผู้คนกว่า 90% เห็นว่าประชาคมวิทยาศาสตร์ควรมีบทบาทมากขึ้นในการสร้างแรงดึงดูดแรงงานที่มีความหลากหลาย (เทียบกับ 88% ทั่วโลกและ 87% เชื่อว่าบริษัทวิทยาศาสตร์จะสร้างผลกระทบเชิงบวกในสังคม ได้กว้างขึ้น หากมีความหลากหลายมากขึ้นและมีบุคลากรด้านสะเต็มเพิ่มขึ้น (เทียบกับ 84% ทั่วโลก)

 

เทคโนโลยีในอนาคตนำมาซึ่งความหวังและความไม่แน่นอน 

ผู้คนในภูมิภาคต่างตื่นเต้นกับเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดย 75% คิดว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นเทคโนโลยีที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันมากที่สุด และประมาณหนึ่งในสามของผลสำรวจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คิดเป็น 31% เทียบกับ 28% ทั่วโลก เชื่อว่ารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตนเองจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตภายในห้าปีข้างหน้า และ 79% เทียบกับทั่วโลก 71% มีแนวโน้มที่จะยอมรับการโดยสารรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตนเอง หรือไร้คนขับได้

 

อย่างไรก็ตาม 53% จากผู้ตอบแบบสอบถามยังคงกังวลว่าความก้าวหน้าของ AI ในอีกห้าปีข้างหน้าจะทำให้พวกเขาตกงาน กลับกันอีก 73% เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 64% กังวลว่าจะสามารถตามให้ทันตลาดงานที่ต้องพึ่งพาทักษะด้านดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ ได้หรือไม่  ทั้งนี้นายจ้างคือกุญแจสำคัญในการบรรเทาความกังวลเหล่านี้ เนื่องจากผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 9 ใน 10 คน เชื่อว่านายจ้างควรให้การสนับสนุนทางการเงินหรือการชำระเงินคืนสำหรับการเพิ่มทักษะความสามารถที่มีประโยชน์ต่อการทำงานเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง 3เอ็ม ได้ขยายช่องทางการเรียนรู้เสมือนจริงเพื่อพนักงาน โดยปัจจุบันพนักงานของ 3เอ็ม สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลนับพันได้อย่างง่ายดาย ตั้งแต่การฝึกอบรมทางอิเล็กทรอนิกส์ บทคัดย่อหนังสือ และวิดีโอการฝึกอบรม เพื่อช่วยยกระดับทักษะของบุคลากร

 

เราทำงานอย่างหนักทุกวันที่ 3เอ็ม เพื่อปลดล็อกพลังของผู้คน ความคิดและวิทยาศาสตร์ และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายเพื่อโลกที่ยั่งยืนและเท่าเทียมกันมากขึ้นสำหรับคนรุ่นต่อไป” จิม ฟาลเทอเสค กล่าวสรุป “การค้นพบนี้ช่วยเน้นย้ำประเด็นสำคัญที่สาธารณชน ชุมชนและองค์กรต้องร่วมกันพัฒนาต่อไป และแสดงให้เห็นว่าเรากำลังก้าวไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง

@mitihoonwealth

https://lin.ee/cXAf0Dp