มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท สานต่อความสำเร็จ “โครงการพัฒนาอาชีพตำบลปากรอ” สร้างอาชีพมั่นคงเกษตรกร ผลักดันชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

19

มิติหุ้น – เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท สานต่อความสำเร็จ “โครงการพัฒนาอาชีพตำบลปากรอ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา” ด้วยการนำ “ศาสตร์พระราชา” พัฒนาสู่ “สงขลาโมเดล” เพื่อขับเคลื่อนการดำรงชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการลดรายจ่าย สร้างรายได้ ส่งเสริมการออม ใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างชุมชนเข็มแข็งและยั่งยืน

นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ ผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะกรรมการบริหาร  บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ ในฐานะกรรมการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท  เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาอาชีพตำบลปากรอ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เกิดจากดำริของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ที่ต้องการแก้ปัญหาความยากจน เนื่องจากตำบลปากรอ มีสภาพพื้นที่ติดทะเลสาบสงขลา เกษตรกรประกอบอาชีพประมง มีพื้นที่ทำนาบางส่วน และอยู่ห่างจากอำเภอหาดใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งเศรษฐกิจและท่องเที่ยวสำคัญของภาคใต้ ส่งผลให้ราษฎรในพื้นที่ยากจนที่สุดในจังหวัด จึงให้ภาคราชการเป็นตัวหลักในโครงการพัฒนาด้านต่างๆ และระดมความร่วมมือจากภาคประชาชนและองค์กรเอกชน ดำเนินการตามแนวทาง “เศรษฐกิจพอเพียง”

“มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ได้ร่วมเป็นคณะกรรมการการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพตำบลปากรอ  จังหวัดสงขลา เพื่อเป็นต้นแบบของการพัฒนาชุมชนที่มีภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม  และเป็นตัวอย่างในภาคใต้ตอนล่าง เน้น 3 แนวทางการพัฒนา อาชีพ  การศึกษา  และสุขภาพอนามัย  โดยเฉพาะการส่งเสริมอาชีพที่หลากหลายให้สอดคล้องกับภูมิสังคม เกิดเป็นอาชีพทดแทนการทำประมงในทะเลสาบสงขลา ควบคู่กับการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อระบบนิเวศที่ยั่งยืน พร้อมขับเคลื่อนการดำรงชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เน้นลดรายจ่าย สร้างรายได้ ส่งเสริมการออม และใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า” นายจอมกิตติกล่าว

การดำเนินงานเริ่มจากการตั้งคณะทำงานระดับชุมชน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาตำบล โดยเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาจังหวัด พร้อมทั้งวางแผนพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา มีองค์กรท้องถิ่นและชาวชุมชนร่วมกันขับเคลื่อน พร้อมสร้างกระบวนการเรียนรู้ สนับสนุนปัจจัยการผลิต ยกระดับคุณภาพชีวิต ควบคู่กับการพัฒนากลุ่มในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน เพื่อการพึ่งพาตนเอง โดยชุมชนเพื่อชุมชน ปัจจุบันโครงการปากรอฯ มีการดำเนินกิจกรรมที่หลากหลาย  ทั้งตลาดชุมชนออนไลน์ วิสาหกิจชุมชน การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การท่องเที่ยวชุมชน เยาวชนมัคคุเทศก์น้อย ผู้สูงอายุปันสุขบ้านน่าอยู่ ปลูกไม้เศรษฐกิจ ปลูกป่าชายเลน ปุ๋ยชีวภาพชุมชน และเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ สู่การเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ พึ่งพาตนเอง มีความเข้มแข็ง และสุขพอเพียง

“โครงการปากรอฯ มุ่งเน้นการนำ “ศาสตร์พระราชา สู่สงขลาโมเดล” มาดำเนินการอย่าง ด้วยเป้าหมาย “สร้าง 4 ดี” คือ 1. คนดี ทั้ง เยาวชน เกษตรกรและผู้สูงอายุ 2. พลเมืองดี ด้วยการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ การทำจิตอาสาพระราชทาน และขับเคลื่อนคุณค่าทางสังคม 3. อาชีพดี ด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ขับเคลื่อนตลาดชุมชนและออนไลน์ พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน และ 4. สิ่งแวดล้อมดี ด้วยการสร้างฟาร์มทะเลชุมชน การปลูกไผ่ และผลิตปุ๋ยไส้เดือนชุมชน โดยการสร้างต้นแบบกลุ่มอาชีพในแต่ละด้าน ด้านละ 50 คน เพื่อสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ สะท้อนการตอบแทนคุณแผ่นดิน” นายจอมกิตติ กล่าว

สำหรับการสร้างกลุ่มอาชีพ  5 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กลุ่มตาลโตนด จำนวนเกษตรกร 50 ราย เกษตรกรได้รับการพัฒนาบุคลิกภาพชีวิตโดยน้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ 2. กลุ่มทำนาข้าวอินทรีย์ เกษตรกร 50 ราย สามารถลดต้นทุนการผลิตและยกระดับสู่การทำนาอินทรีย์ 3. กลุ่มเลี้ยงสัตว์น้ำ เกษตรกร 50 ราย ผลิตเพื่อบริโภคเองในครัวเรื่อนและจำหน่ายในชุมชน 4. กลุ่มเกษตรผสมผสาน เกษตรกร 40 ราย ปลูกพืชที่หลากหลายทั้งไม้ผล พืชผัก และเลี้ยงสัตว์ 5. กลุ่มแปรรูปผลผลิตการเกษตร เกษตรกร 50 ราย สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์การเกษตร โดยมี 4 แนวทางการขับเคลื่อนโครงการอาชีพ ได้แก่ 1. รับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ  2. สร้างกระบวนการเรียนรู้และเกษตรกรร่วมวางแผนการพัฒนาตนเองตามแนวทางเศรฐกิจพอเพียง 3. ดำเนินการพัฒนาตามแผนงานที่กำหนดไว้ ได้แก่ การจัดการด้านการผลิต ด้านการพัฒนาลดรายจ่าย/ลดต้นทุนการผลิต การจัดการด้านการตลาด ครการแปรรูป การบันทึกข้อมูลบัญชีครัวเรือน และ 4. การสนับสนุนปัจจัยการผลิตและการแปรรูป.

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp