วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน

101

ราคาน้ำมันดิบปรับลด หลังตลาดกังวลว่าอุปสงค์อาจชะลอตัวลงจากการที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

– ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ปรับลด เนื่องจากตลาดกังวลว่าอุปสงค์อาจชะลอตัวลง จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ยกว่า 0.75% นับว่าเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดของธนาคารกลางสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 2537 ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (DXY) พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2545 การที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันซึ่งส่วนใหญ่ซื้อขายเป็นเงินสกุลดอลลาร์แพงขึ้นด้วยสำหรับผู้ที่ถือเงินสกุลอื่น ซึ่งอาจทำให้อุปสงค์ลดลงได้

– สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เผยสต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดสัปดาห์ ณ วันที่  10 มิ.ย. 65 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.9 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะปรับตัวลดลง  1.3 ล้านบาร์เรล ในขณะเดียวกัน การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ  ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 100,000 บาร์เรลต่อวันในสัปดาห์ที่แล้ว สู่ระดับ 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ เม.ย. 63

+ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร  (OPEC+) กำลังประสบปัญหาการผลิตให้ได้ตามโควต้า โดยล่าสุดทางกลุ่มได้รับผลกระทบจากวิกฤตทางการเมืองที่ทำให้การผลิตของลิเบียลดลง โดยนักวิเคราะห์คาดว่า เนื่องจากการผลิตของกลุ่มโอเปกยังลดลงจากระดับที่ประกาศไว้ ซึ่งจะส่งผลให้อุปทานขาดดุลประมาณ  1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงครึ่งหลังของปี

ราคาน้ำมันเบนซิน – ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางราคาน้ำมันดิบดูไบ หลัง ได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในมาเลเซีย จากการคลายข้อจำกัดการเดินทางในเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ราคายังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซินในมาเลเซียที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

ราคาน้ำมันดีเซล – ปรับเพิ่มขึ้นสวนทางราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังตลาดคาดว่า ความต้องการใช้น้ำมันในภูมิภาคจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากการเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทาง อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากการส่งออกน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากเกาหลีใต้และไต้หวัน

หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ. ไทยออยล์

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp