EIC เกาะติดตลาดขนส่งพัสดุ 2022 : เร่งปรับตัวและขยายสู่ตลาดใหม่ในวันที่การแข่งขันยังรุนแรงต่อเนื่อง

254

ตลาดขนส่งพัสดุไทยในปี 2022 มีแนวโน้มเติบโตขยายตัวต่อเนื่องตามการเติบโตของ E-Commerceที่เร่งตัวขึ้นในยุค COVID-19 และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจนกลายเป็น new normal

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตลาดขนส่งพัสดุไทย (Parcel Delivery) ในช่วงปี 2019-2021 เติบโตในระดับสูงที่ราว 38%CAGR และมีมูลค่ากว่า 9.1 หมื่นล้านบาทในปี 2021 เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์หรือ E-commerce มากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในช่วงที่มีการใช้มาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวดซึ่งส่งผลให้มูลค่าตลาด E-commerce ในปี 2019-2021 เติบโตถึงราว 46%CAGR สำหรับในปี 2022 มูลค่าตลาดขนส่งพัสดุไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ราว 17%YOY มีมูลค่าราว 1.06 แสนล้านบาท และมีปริมาณขนส่งพัสดุเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 7 ล้านชิ้นต่อวัน จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป มีความคุ้นชินและพึงพอใจในการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้นจนกลายเป็น new normal ของผู้บริโภค

สภาวะการแข่งขันและสงครามราคา (price war) ยังมีแนวโน้มรุนแรงต่อไปในปี 2022

การเข้ามาให้บริการของผู้ประกอบการขนส่งพัสดุรายใหญ่หลายรายตั้งแต่ปี 2019 ได้ส่งผลให้สภาวะการแข่งขันในตลาดขนส่งพัสดุดุเดือดและรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านราคาเพื่อขยาย/แย่งชิงส่วนแบ่งตลาด และทำให้อัตราค่าจัดส่งพัสดุเริ่มต้นลดลงจาก 35-40 บาทต่อชิ้น เหลือเพียง 15-20 บาทต่อชิ้น สำหรับในปี 2022 การแข่งขันด้านราคายังมีแนวโน้มรุนแรงต่อเนื่องจากที่ผู้เล่นรายใหญ่ยังคงใช้กลยุทธ์ด้านราคา อีกทั้ง ยังมีผู้เล่นอีกหลายรายที่เร่งขยายการให้บริการ อย่างไรก็ดี แนวโน้มการลดลงของค่าจัดส่งพัสดุจากการแข่งขันอาจจะค่อนข้างจำกัดเนื่องจากอัตราค่าจัดส่งพัสดุในปัจจุบันได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มให้บริการไม่คุ้มทุนแล้ว และมีบางรายที่ยังขาดทุนต่อเนื่องหลายปีหรือแม้กระทั่งปิดกิจการไป ยิ่งไปกว่านั้น ต้นทุนดำเนินการของผู้ประกอบการก็ปรับเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น

EIC ประเมินเทรนด์การให้บริการขนส่ง 4 เทรนด์ที่กำลังเติบโตและจะกลายเป็นโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการขนส่งพัสดุในการขยายบริการสู่ตลาดใหม่ ๆ

เนื่องจากสงครามราคาที่ดุเดือดในตลาดขนส่งพัสดุที่เป็นตลาด Red Ocean ผู้ประกอบการควรเริ่มปรับตัวและขยายบริการไปสู่ตลาดใหม่ ๆ ที่ยังเป็นตลาดที่ค่อนข้าง Blue Ocean มากยิ่งขึ้น ได้แก่ 1. เทรนด์การให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ 2. เทรนด์การให้บริการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ หรือแบบไม่เต็มคันรถ (Less than Truckload: LTL) 3. เทรนด์การให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจร และ 4. เทรนด์การให้บริการขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิแบบด่วนทั้งสินค้าแบบแช่เย็นและแช่แข็ง อย่างไรก็ดี เนื่องจากในบางตลาดมีผู้เริ่มให้บริการบ้างแล้ว ผู้ประกอบการควรพิจารณาให้รอบคอบและเลือกให้บริการในตลาดที่สามารถอาศัยจุดแข็งของตนหรือจากพาร์ทเนอร์ในการต่อยอดทำธุรกิจ

ในอนาคตข้างหน้า ธุรกิจขนส่งพัสดุยังมีความท้าท้ายที่ต้องเผชิญอีกหลายประการ และส่งผลให้ต้องเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและขยายสู่ตลาดใหม่ ๆ

ในอนาคต ผู้ประกอบการขนส่งพัสดุจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในหลายประการ ได้แก่ ต้นทุนการดำเนินการที่เพิ่มขึ้นกับกำลังซื้อที่อ่อนแอลง, การแข่งขันจากธุรกิจแอปพลิเคชันบริการขนส่งเดลิเวอรี่, และการพัฒนาด้านโลจิสติกส์สีเขียวและความยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการขนส่งควรเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดย 3 วิธีที่ผู้ประกอบการสามารถนำมาปรับใช้ได้แก่ 1. การพัฒนาความเร็วในการจัดส่งพัสดุอย่างต่อเนื่อง 2. การสร้าง strategic partnership หรือ M&A กับผู้ประกอบการต่าง ๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจ และ 3. การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้กับการดำเนินการมากยิ่งขึ้น

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp