วิเคราะห์ TOD เมืองฉงชิ่ง มหานครแห่งการขนส่ง บนเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21

31

มิติหุ้น – เมื่อพูดถึงเมืองฉงชิ่ง ประเทศจีน หลายคนอาจยังไม่รู้จักเท่ากับเมืองใหญ่อย่าง เซียงไฮ้ ปักกิ่ง แต่เมือง     ฉงชิ่ง เป็นเมืองที่มีความสำคัญในการพัฒนาประเทศจีน เพราะเป็น 1 ใน 12 เมืองใหญ่ ที่ขึ้นตรงกับรัฐบาลกลาง และเป็น 1 ใน 4 เมืองสำคัญของจีน เซี่ยงไฮ ปักกิ่ง ฉงชิ่ง เทียนจิน ที่รัฐบาลกลางจีนตั้งให้เป็น      มหานครปกครองโดยตรง และเพื่อไม่ให้ ฉงชิ่ง เติบโตอย่างไร้ทิศทาง (Urban Sprawl) รัฐบาลจีนจึงได้นำแนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะ ตามแนวทาง TOD (Transit Oriented Development)อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อตอบรับการพัฒนาเส้นทางรถไฟภายในเมือง

เมืองฉงชิ่ง เป็นเมืองต้นทางในการส่งสินค้าไปยังทวีปยุโรป ตามโครงการที่รัฐบาลจีนต้องการจะทำให้สำเร็จคือ “One belt one road” หรือ เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ทำให้ช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ ผ่านมาฉงชิ่งเป็นเมืองใหญ่ที่มีอัตราการเติบโตของประชากรอย่างก้าวกระโดด

ทางรัฐบาลจีนจึงได้ว่าจ้างบริษัทต่างชาติ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะเมืองฉงชิ่ง โดยปกติแล้วหากนำแนวทาง TOD ไปพัฒนาในเมืองใหญ่ มักจะมีปัญหาติดขัดในเรื่องการเวนคืนที่ดินเพื่อการพัฒนา ข้อกำหนดกฎหมายการวางผังเมือง และกฎเทศบาลเมือง ที่อาจไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะตามแนวทาง TOD แต่ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ใช่ปัญหาของเมืองฉงชิ่ง

พวกเขาเลือกทางแก้ไขปัญหาของโจทย์นี้ด้วยการเน้นเรื่องบริหารจัดการพื้นที่แบบผสมผสาน (Mixed use) ร่วมกับการใช้รถไฟฟ้าระบบรางเดี่ยว ที่มีความยืดหยุ่น ต้นทุนไม่สูงมากนัก เหมาะสมกับพื้นเมืองฉงชิ่ง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภูเขาสูง มาเป็นแนวทางบริหารจัดการระบบขนส่งสาธารณะหลักของเมืองนี้

ความสำเร็จของเมืองฉงชิ่งที่ใช้แนวทาง TOD ปรากฏบน สถานีหลีจื่อป้า (Liziba station) ในเส้นทาง CRT สายที่ 2 (Chongqing Rail Transit) สถานีแห่งนี้มีเส้นทางรถไฟวิ่งผ่านทะลุตัวอาคาร ซึ่งเป็นทั้งที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า และสถานีรถไฟ เข้ากับหลักการบริหารจัดการพื้นที่แบบผสมผสาน ตามแนวทาง TOD อย่างมาก

เย่ เทียนยี่ (Ye Tianyi) หัวหน้าทีมออกแบบของสถานีหลีจื่อป้า และอาจารย์สอนวิชาวิศวกรรมโยธามหาวิทยาลัยฉงชิ่ง เล่าถึงการออกแบบสถานีแห่งนี้ว่า หลายคนคิดว่าสถานีหลีจื่อป้าแห่งนี้ สร้างภายหลังจากอาคารที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จแล้ว แต่ที่จริงแล้วเราออกแบบและสร้างทั้งตัวสถานีและอาคารที่อยู่อาศัยทั้งหมดในเวลาเดียวกัน

โดยความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดในการออกแบบคือ การจัดการความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างราง กับโครงสร้างอาคารที่อยู่อาศัย แม้ว่าภายนอกรางรถไฟกับตัวอาคารดูเหมือนจะถูกรวมเข้าด้วยกัน แต่ที่จริงแล้วมีการแยกโครงสร้างรางรถไฟ ออกจากโครงสร้างอาคารที่อยู่อาศัยอย่างชัดเจน

5 ชั้นแรกของสถานีหลีจื่อป้า ออกแบบให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ ชั้นที่ 6 เป็นชั้นสำนักงาน ชั้นที่ 7 เป็นชั้นสถานี ชั้นที่ 8 เป็นชั้นชานชาลา และจากชั้นที่ 9 ถึง 19 เป็นอาคารที่พักอาศัย ผู้พักอาศัยสามารถเดินจากห้องพักลงมาขึ้นสถานีรถไฟไปทำงานได้ที่ชั้น 7 หรือเดินมาซื้อของที่ร้านค้าในชั้น 1 – 5 ก็ได้

ภายในตัวอาคารจะมีเสาสำหรับรางรถไฟทั้งหมด 6 เสา ระหว่างเสารางรถไฟกับผนังอาคารที่อยู่อาศัย ได้เว้นช่องว่างไว้อย่างน้อย 20 ซม. เพื่อลดเสียงและแรงสั่นสะเทือนจากรถไฟถึงตัวอาคารที่พัก นอกจากนี้รถไฟฟ้าแบบรางเดี่ยวนั้นขับเคลื่อนด้วยล้อยางแบบสูบลม ซึ่งจะส่งเสียงดังเพียง 75 เดซิเบลเท่านั้น ประชาชนที่อยู่อาศัยในตัวอาคารจึงไม่ถูกรบกวนด้วยเสียงและแรงสั่นสะเทือนจากรถไฟฟ้าเวลาวิ่งผ่าน สามารถใช้ชีวิตในพื้นที่สถานีได้อย่างมีความสุข

“สถานีหลีจื่อป้า ไม่เพียงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเมืองฉงชิ่ง แต่ยังเป็นโมเดลการออกแบบที่ผสมผสานระหว่างสถานีรถไฟกับที่อยู่อาศัยในพื้นที่จำกัดให้กับเมืองต่างๆ ในประเทศจีนและทั่วโลกได้อีกด้วย” เย่ หัวหน้าทีมออกแบบกล่าว

ปัจจุบันเมืองฉงชิ่ง มีเส้นทางรถไฟภายในเมืองทั้งหมด 10 เส้นทาง 198 สถานี มีระยะทางรวม 402 กม. จำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 2 ล้านคน จากประชากรในเมืองทั้งหมด 30 ล้านคน มีเส้นทางรถไฟจะครอบคลุมพื้นที่ราว 80 เปอร์เซ็นต์ของเมือง

มีแผนขยายเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินและบนดินอีกหลายสายจนถึงปี พ.ศ.2578 รวมทั้งการนำระบบการจัดการอัจฉริยะ เพื่อจูงใจประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น ตามแผนการพัฒนาระบบขนส่ง 3 มิติครอบคลุมเมืองฉงชิ่ง ที่ชื่อว่า Chongqing Mega Transportation 2021 – 2035

คาดการณ์ว่าหลังจากการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าเสร็จสิ้นจะช่วยดึงดูดให้ชาวฉงชิ่งหันมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ตามแนวทาง TOD เพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของเมืองที่จะกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของเอเชียแห่งศตวรรษที่ 21 ต่อไป

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp