สถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 23 – 27 พ.ค. 65 และแนวโน้ม 30 พ.ค. – 3 มิ.ย. 65

77

ราคาน้ำมันย้อนหลัง 15 วัน

ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ล่าสุดเพิ่มขึ้น โดยได้แรงหนุนจากสหภาพยุโรป (EU) เดินหน้าพิจารณามาตรการคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซียในการประชุมสุดยอด (Summit) ในวันที่ 30-31 พ.ค. 65 ประกอบกับสหรัฐฯ เข้าสู่ฤดูขับขี่ท่องเที่ยว (เริ่มจาก Memorial Day: วันที่ 30 พ.ค. 65) โดยสมาคมรถยนต์แห่งอเมริกา (American Automobile Association: AAA) คาดการณ์จำนวนประชาชนที่เดินทาง (ระยะทาง 50 ไมล์ขึ้นไป) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5% อยู่ที่ราว 34.9 ล้านคน

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรเครือข่ายการลักลอบขนน้ำมันและฟอกเงิน ซึ่งอิหร่าน และรัสเซียสนับสนุน อาทิ บริษัท RPP LLC ในรัสเซีย, Zamanoil DMCC ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, Haokun Energy Group Co. Ltd. ในจีน, และ China Haokun Energy Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่อยู่ในฮ่องกง เป็นต้น

นักวิเคราะห์ของธนาคาร UBS นาย Giovanni Staunovo คาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะยังคงอยู่ในระดับสูง จากความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ขณะที่อุปทานน้ำมันมีแนวโน้มลดลง

กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (G7: แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ) ที่ประชุมช่วง 25 – 27 พ.ค. 65 เรียกร้องให้กลุ่ม OPEC ซึ่งจะประชุมในวันที่ 2 มิ.ย. 65 ช่วยบรรเทาภาวะอุปทานน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มตึงตัวจากการคว่ำบาตรน้ำมันของรัสเซีย เพื่อความมั่นคงทางพลังงานโลก

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • EU เผยว่าอาจคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียที่ขนส่งทางเรือไปยุโรป (1.57 ล้านบาร์เรลต่อวัน) แต่ยกเว้นการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียที่ขนส่งผ่านท่อ Druzhba สู่ยุโรป (720,000 บาร์เรลต่อวัน) ให้ประเทศสมาชิก เช่น ฮังการี และประเทศสมาชิกอื่น ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล เพื่อไม่ให้การพิจารณาล่าช้าออกไป
  • รัฐบาลจีนประกาศผ่อนปรนมาตรการ Lockdown ในเมือง Shanghai โดยเปิดให้ประชาชนสามารถใช้บริการรถไฟและรถขนส่งสาธารณะในบางเขต หลังจากปิดให้บริการมาเกือบสองเดือน และประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการลดหย่อนภาษีและคืนภาษีให้บริษัทเอกชนในปี 2565 เป็นมูลค่ารวมกว่า 3.93 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อเยียวยาหลายภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ Lockdown เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19
  • Norwegian Petroleum Directorate (NPD) ของนอร์เวย์รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน เม.ย. 65 ลดลง จากเดือนก่อน 80,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 1.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าที่ NPD เคยคาดการณ์ 10.6%

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • บันทึกการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ 0.50% ในการประชุมเดือน มิ.ย. และ ก.ค. 65

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0D