NOSTRA LOGISTICS แนะ 5 แนวทางแก้ปัญหาต้นทุนงานขนส่ง ส่งตัวช่วย Telematics & TMS เพิ่มผลกำไรยั่งยืน กู้วิกฤตน้ำมันแพง

48

มิติหุ้น – นอสตร้า โลจิสติกส์ ผู้พัฒนาโซลูชันและแพลตฟอร์มด้านการบริหารจัดการงานขนส่งโลจิสติกส์ และระบบบริหารจัดการขนส่งอัตโนมัติ หรือ NOSTRA LOGISTICS TMS เผยสถานการณ์น้ำมันราคาแพงและผันผวน ต้นทุนพุ่ง ส่งผลโดยตรงต่อกำไรและผลประกอบการของงานขนส่ง แนะ 5 แนวทางลดค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนการใช้รถขนส่งที่ผู้ประกอบการสามารถทำได้ทันที พร้อมส่งตัวช่วย NOSTRA LOGISTICS Telematics อุปกรณ์เซนเซอร์ที่ช่วยติดตามสถานะต่าง ๆ ของรถที่มากกว่าจีพีเอส มาพร้อมกับ NOSTRA LOGISTICS TMS เพื่อวางแผนจัดสรรการใช้รถขนส่ง การจัดสินค้าบนรถ รวมถึงการวางแผนเส้นทางที่ดีที่สุด สู่การเพิ่มผลกำไรยั่งยืน กู้วิกฤตน้ำมันแพง

นางวรินทร สีสุขดี ผู้อำนวยการส่วนผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ บริษัท จีไอเอส จำกัด เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำมันราคาแพงและผันผวน ส่งผลกระทบรุนแรงต่อต้นทุนและผลกำไรของงานขนส่ง โดยตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดีเซลเดิมที่ลิตรละ 29 บาท พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประวัติการณ์ กระทั่งปัจจุบันอยู่ที่ราคาลิตรละ 31.94 บาท ทำให้ผู้ประกอบการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ วางแผนจะปรับขึ้นค่าขนส่งสินค้าอีก​ร้อยละ 20 ซึ่งหากมีการปรับขึ้นค่าขนส่งสินค้าจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อซัพพลายเชนทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบร้านค้าและประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามเสนอมาตรการในการพยุงราคา หรือคงเพดานราคาน้ำมันดีเซล แต่เป็นการเยียวยาและบรรเทาสถานการณ์ในระยะสั้นเท่านั้น ผู้ประกอบการขนส่งและโลจิสติกส์จึงต้องเร่งหาแนวทางการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงด้านราคาพลังงานที่เกิดขึ้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน

“นับตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมการขนส่งทั่วโลก ทำให้ผู้ประกอบการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ปรับตัวด้วยการสร้างซัพพลายเชนรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหาความพร้อมของงานขนส่ง และใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยบริหารจัดการ รวมทั้งควบคุมซัพพลายเชนและการขนส่งตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง แต่เดิมต้นทุนด้านการขนส่งถือว่าเป็นต้นทุนที่สูงที่สุดในระบบโลจิสติกส์ซัพพลายเชน กระทั่งปัจจุบัน ปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงมาก สร้างภาระทางต้นทุนงานขนส่งให้สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว นับเป็นความท้าทายครั้งใหม่ของผู้ประกอบการขนส่งและโลจิสติกส์ที่จำเป็นต้องปรับตัวอีกครั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาและเพื่อความอยู่รอดในระยะยาว” นางวรินทรกล่าว

เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว นอสตร้า โลจิสติกส์ แนะ 5 แนวทางลดค่าใช้จ่ายการใช้รถขนส่งที่ผู้ประกอบการสามารถเริ่มต้นทำได้ทันที ดังนี้ 1. ตรวจสอบและบำรุงรักษาสภาพรถเสมอ เช่น ตรวจสอบสีและระดับน้ำมันเครื่อง ตรวจเช็คคุณภาพของยางรถให้อยู่ในสภาพที่เหมาะกับการใช้งาน ทั้งขนาดโครงสร้างและดอกยาง การวัดลมยางที่เหมาะสมกับการขนส่ง การปรับศูนย์ล้อ ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านี้จะส่งผลโดยตรงต่อการสึกหรอของยางที่มีผลต่ออัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน 2. วางแผนเส้นทางก่อนออกเดินทาง เช่น การเลือกเส้นทางที่สั้นที่สุดหรือดีที่สุดในการเดินทาง เลือกขับเส้นทางที่ขนาดเลนขับเหมาะกับขนาดของรถบรรทุกเพื่อความสะดวกในการขนส่ง เช็คเส้นทาง สะพาน หรือทางกลับรถใต้สะพานที่มีกำหนดเพดานความสูงของยานพาหนะ เพื่อลดอุบัติเหตุหรือทำให้ต้องเสียเวลาย้อนเส้นทางกลับ และหลีกเลี่ยงเส้นทางที่จราจรติดขัด 3. บรรทุกสินค้าให้เหมาะสมกับรถ ควรควบคุมน้ำหนักการบรรทุกสินค้า โดยทำตามคำแนะนำของผู้ผลิตรถ เพราะการบรรทุกน้ำหนักเกินอัตราจะทำให้ดอกยางสึกหรอ โครงผ้าใบบริเวณขอบยางหัก และยางบวมล่อนระเบิดได้ง่าย รวมทั้งสิ้นเปลืองน้ำมัน 4. จัดการรอบการวิ่งงานให้มีประสิทธิภาพ จัดสินค้าที่จะขนส่งไปในเส้นทางเดียวกันไปด้วยกัน แต่ให้ระมัดระวังขนาดการบรรทุกไม่ให้เกินพิกัดน้ำหนักรถบรรทุก และควรจัดลำดับการส่งสินค้าก่อน-หลังตามเส้นทางการขับรถ เพื่อจัดรอบการวิ่งงานให้น้อยลงและคุ้มค่า และ 5. ขับรถถูกวิธีด้วยความเร็วที่เหมาะสม ไม่ขับรถเร่ง กระชาก หรือเร็วเกินกำหนด และหยุดแวะพักเพื่อลดระดับความร้อนของเครื่องยนต์ รักษาอัตราความเร็วในการขับรถให้คงที่ การเร่งหรือลดความเร็วอย่างกะทันหันล้วนมีผลต่อการสึกหรอของเบรก ยาง และเครื่องยนต์ การใช้น้ำมันที่สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น รวมถึงผู้ขับขี่รถบรรทุกต้องหยุดพักรถเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ในทุก ๆ 4 ชั่วโมงของการขับขี่ ตามพระราชบัญญัติขนส่งทางบก พ.ศ.2522

นอกจากนี้ นอสตร้า โลจิสติกส์ ได้ส่งเทคโนโลยีที่เป็นเครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวกกับผู้ประกอบการขนส่ง ได้แก่ เทคโนโลยี NOSTRA LOGISTICS Telematics อุปกรณ์เซนเซอร์ที่ช่วยติดตามสถานะต่าง ๆ ของรถที่มากกว่าจีพีเอส ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์เซนเซอร์เทเลเมติกส์ที่รถขนส่ง ช่วยตรวจสอบสถานะของรถ เช่น การใช้น้ำมัน อุณหภูมิของเครื่องยนต์ หรือแม้แต่ตู้ขนส่งสินค้าในกรณีรถห้องเย็น อีกทั้งพฤติกรรมการขับรถ ป้องกันการขับขี่ที่ผิดปกติ และมีการแจ้งเตือนคนขับ เช่น ใช้ความเร็วมากเกินกำหนด เบรกหรือเร่งกะทันหัน การหลับใน การหาว หรือการละสายตาในขณะขับรถ เป็นต้น สามารถติดตั้งกล้องเพื่อติดตามและบันทึกพฤติกรรมต่างๆโดยระบบจะทำการตัดคลิปตามพฤติกรรมที่กำหนดไว้ โดยไม่ต้องย้อนกลับมาดูภาพที่บันทึกไว้ตลอดรอบการขนส่ง ข้อมูลการขับรถเหล่านี้จะถูกจัดเก็บเข้าสู่ระบบ และนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมการขับรถ รวมถึงข้อมูลการใช้งานเครื่องยนต์ เพื่อช่วยปรับปรุงพฤติกรรมการขับขี่ให้ปลอดภัยขึ้น ควบคุมการใช้น้ำมัน และวางแผนการบำรุงรักษารถที่เหมาะสม ผู้ประกอบการสามารถกำหนดตัวชี้วัดและเปรียบเทียบผลจากรายงาน เพื่อประเมินการขับรถของพนักงานขับรถได้โดยสะดวก เช่น กำหนดอัตราการลดใช้น้ำมัน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมี เทคโนโลยี NOSTRA LOGISTICS TMS สำหรับวางแผนจัดสรรการใช้รถขนส่ง การจัดสินค้าบนรถ รวมถึงการวางแผนเส้นทางที่ดีที่สุดให้กับรถขนส่งแต่ละคัน การติดตามสถานะการเดินทาง การแจ้งเตือนความล่าช้า การเช็คอินเมื่อส่งสินค้าสำเร็จ และการจัดการงานเอกสารการเงิน ครบจบในเครื่องมือเดียว จุดเด่นของ TMS คือ มี Vehicle Routing Problem (VRP) หรือ Resource Optimization ที่ใช้เทคโนโลยี GIS สามารถใช้เงื่อนไขข้อจำกัดในการคำนวณเส้นทางและจัดลำดับการจัดส่งสินค้าได้อย่างแม่นยำ และมี Maintenance Management เป็นเครื่องมือที่สามารถทำเช็คลิสต์รายการเครื่องยนต์ เพื่อตรวจสอบและดูแลบำรุงรักษารถ

ทั้งนี้ ประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีช่วยบริหารจัดการดังกล่าว คือผู้ประกอบการสามารถมองเห็นสถานะการทำงานในแต่ละจุดได้แบบองค์รวม สามารถตรวจสอบต้นทางและสาเหตุของปัญหา ระบุการแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วขึ้น โดยผู้ประกอบการขนส่งสามารถควบคุมการบริหารจัดการตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงการส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกค้าปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ควบคู่ไปกับการลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนการขนส่งทางบกที่สูงที่สุดจากต้นทุนทุกประเภท นางวรินทร กล่าวทิ้งท้าย

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp