WHA โชว์Q1/65 กวาดกำไรปกติ 653.2 ลบ.โต 255.4% ส่งซิก Q2 จ่อปิดดีลลูกค้าทั้งธุรกิจโลจิสติกส์และนิคมอุตสาหกรรม

219

 

มิติหุ้น-บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ “ WHA Group ” ประกาศผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/2565 มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไร 2,182.2 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 656.1 ล้านบาท โดยเป็นรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 2,164.6 ล้านบาท และกำไรปกติ 653.2 ล้านบาท จากการเติบโต ใน 4 กลุ่มธุรกิจ ด้าน Group CEO  “จรีพร จารุกรสกุล” ส่งซิกไตรมาส 2/2565 เตรียมเสิร์ฟข่าวดี ปิดดีลลูกค้ารายใหญ่กลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ จ่อเช่าโครงการ Built-to-Suit อีกประมาณ 35,000 ตารางเมตร พร้อมเจรจาลูกค้ารายใหญ่อีกหลายดีล สนใจซื้อที่ดินรวม 2,000-3,000 ไร่ ขณะที่แผนขายทรัพย์สินให้กับกองทรัสต์ WHART- HREIT ปีนี้รวม 200,000 ตารางเมตร มูลค่าประมาณ 5,300 ล้านบาท

 บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “WHA Group” รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2565 มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรและกำไรสุทธิ ทั้งสิ้น 2,182.2 ล้านบาท และ 656.1 ล้านบาท ตามลำดับ โดยหากพิจารณาถึงผลประกอบการปกติ บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 2,164.6 ล้านบาท และกำไรปกติ 653.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48.8% และ 255.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2564 สะท้อนผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งจากแพลตฟอร์ม 4 กลุ่มธุรกิจ

โดยกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ โชว์ผลงานอย่างโดดเด่น ไตรมาส1/2565 เปิดโครงการและลงนามสัญญาเช่าโครงการ Built-to-Suit และโรงงาน/คลังสินค้าสำเร็จรูป เพิ่มเติมจำนวน 23,843 ตารางเมตร และมีสัญญาเช่าระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนสูงรวมจำนวน 88,608 ตารางเมตร ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาสแรก บริษัทฯ มีพื้นที่คลังสินค้าภายใต้การถือครองและบริหารทั้งหมด 2,573,282 ตารางเมตร ขณะที่ธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม โชว์ฟอร์ม ไตรมาสแรก จำหน่ายสินทรัพย์ประเภทดาต้า เซ็นเตอร์ 2 แห่ง โกยกำไรจากการจำหน่ายดาต้า เซ็นเตอร์ ทั้งสิ้นจำนวน 344.6 ล้านบาท

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของ 4 กลุ่มธุรกิจว่า ธุรกิจโลจิสติกส์ ในไตรมาสแรกบริษัทฯ รับรู้รายได้จากธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ทั้งสิ้น  228.5  ล้านบาท  โดยมีการเปิดโครงการและลงนามสัญญาเช่าโครงการ Built-to-Suit และโรงงาน/ คลังสินค้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น จำนวน  23,843 ตารางเมตร นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ทำสัญญาเช่าระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนสูง รวมจำนวน 88,608 ตารางเมตร ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาสแรก บริษัทฯ มีพื้นที่คลังสินค้าภายใต้การถือครองและบริหาร ทั้งหมด 2,573,282 ตารางเมตร

“ไตรมาสที่ผ่านมา โครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ เทพารักษ์ กม.21 ศูนย์โลจิสติกส์แบบมิกซ์ยูส ซึ่งให้บริการคลังสินค้าและโรงงานแบบ Built-to-Suit พื้นที่ขนาดตั้งแต่ 5,000 ถึง 100,000 ตารางเมตร มีลูกค้ารายแรกของโครงการ อย่าง บริษัท เคอรี่ โลจิสติคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ลงนามในสัญญาเช่าคลังสินค้าแบบ Built-to-Suit ขนาดพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร โดยปัจจุบันเคอรี่ โลจิสติคส์ มีพื้นที่คลังสินค้าที่เช่ากับบริษัทฯ รวมทั้งสิ้นแล้วกว่า 18,000 ตารางเมตร ซึ่งโครงการดังกล่าวตอบโจทย์การขนส่งระหว่างคลังสินค้าของเคอรี่ ไปยังท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ชลบุรี เนื่องจากโครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ เทพารักษ์ กม.21 เป็นโครงการที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ ตั้งอยู่บนพื้นที่ยุทธศาสตร์ สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย ใกล้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ”

นอกจากนี้ ภายในไตรมาส 2/2565 บริษัทฯ คาดว่าจะสามารถปิดดีลลูกค้ากลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ           รายใหญ่ ที่จะลงนามสัญญาเช่าโครงการ Built-to-Suit อีกประมาณ 35,000 ตารางเมตร ส่งผลให้บริษัทฯ จะมีสัญญาเช่าโครงการ Built-to-Suit และโรงงาน/ คลังสินค้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น ไม่ต่ำกว่า 50,000 – 60,000  ตารางเมตร ในช่วงครึ่งปีแรก สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของธุรกิจโลจิสติกส์ที่ดีอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ มาใช้ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัทฯ ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าสามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มาปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ดียิ่งขี้น พร้อมลดต้นทุนการดำเนินงานสู่ประสิทธิผลที่สูงขึ้น โดยบริษัทฯ ได้เริ่มยกระดับมาตรฐานภาคอุตสาหกรรมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ด้วยการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลอันล้ำสมัย จากการปรับใช้บิ๊กดาต้า คลาวด์คอมพิวติ้ง AI IoT ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และบล็อกเชน เพื่อให้มั่นใจว่า บริษัทฯจะสามารถเติบโตได้ในระยะยาว และในอนาคต คลังสินค้าและโรงงานต่างๆ ก็จะมีการติดตั้งนวัตกรรมอันล้ำสมัย

อาทิ วิทยาการหุ่นยนต์ ระบบจัดเก็บและเบิกจ่ายสินค้าแบบอัตโนมัติ (AS/RS) รถลำเลียงสินค้า อัตโนมัติ (AGV) และระบบการจัดการคลังสินค้าอัจฉริยะ (Smart Warehouse) ตลอดจนบริษัทฯ ยังมีแผนการต่อยอดความร่วมมือกับบริษัทสตาร์ทอัพที่บริษัทฯ ได้เข้าลงทุนตั้งแต่ปีที่แล้ว อาทิ Giztix และ Storage Asia เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการใหม่ๆ รวมถึงพัฒนาความสัมพันธ์กับพันธมิตรทางธุรกิจและบริษัทสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

 ส่วนโครงการอาคารสำนักงาน WHA Tower มีกลุ่มลูกค้าทยอยเช่าพื้นที่เพิ่มขึ้น อาทิ GIZTIX เช่าพื้นที่ ขนาดพื้นที่เช่า 1,110 ตร.ม. โดยมีอายุสัญญาเช่า 5 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2565  และ Veger เช่าพื้นที่ ขนาดพื้นที่เช่า 1,096 ตรม. มีอายุสัญญา 6 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ 10 มีนาคม 2565

สำหรับแผนการเตรียมขายทรัพย์สิน และ/หรือ สิทธิการเช่าทรัพย์สินให้กับกองทรัสต์ WHART และ HREIT บริษัทฯตามเป้าหมายที่วางไว้ในปีนี้ 200,000 ตารางเมตร มูลค่าประมาณ 5,300 ล้านบาท โดยบริษัทฯ มีแผนเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมผู้ถือหน่วยของกอง WHART และ HREIT เพื่อขออนุมัติในช่วงไตรมาส 2/2565 ต่อไป

 ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม บริษัทฯ รับรู้รายได้จากธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในไตรมาส 1/2565 รวม 694.0 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 เนื่องจากมีรายได้จากการโอนที่ดินปรับตัวสูงขึ้น สอดคล้องกับภาพรวมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและทิศทางการลงทุนของประเทศไทยที่จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากนโยบายเปิดประเทศ มาตรการปลดล็อคการเดินทาง Test & Go ส่งผลให้ลูกค้าชาวต่างชาติสะดวกในการเดินทางเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้น

โดยไตรมาสแรก บริษัทฯมียอดขายที่ดินรวม 36 ไร่ ซึ่งเป็นในประเทศไทยทั้งหมด ส่วนในเวียดนามได้มีการเซ็นต์ MOU ไปแล้ว 124 ไร่ ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 1/2565 บริษัทฯ มียอดขายที่รอการโอนกรรมสิทธิ์ (Backlog) ให้กับลูกค้ากว่า 400 ไร่ และคาดว่าจะสามารถปิดดีลการขายที่ดินกับลูกค้ารายใหญ่ได้อีกอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาส 2

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงได้รับความสนใจจากกลุ่มนักลงทุนจีน ที่สนใจเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีการทำสัญญาซื้อขายที่ดินอุตสาหกรรมขนาด 200 ไร่ กับลูกค้ารายใหญ่ และยังมีการเจรจากับลูกค้ารายใหญ่อีกหลายรายที่มีความต้องการที่ดินรวมกันมากกว่า 2,000 -3,000 ไร่ ซึ่งปัจจุบัน บริษัทฯ มีนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ในประเทศไทย ทั้งสิ้น 11 แห่ง

โดยล่าสุดบริษัทฯ เปิดตัว “นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36” ขนาดพื้นที่จำนวน 1,281 ไร่ บนทำเลที่ตั้งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 ได้รับการพัฒนาเพื่อต้อนรับนักลงทุนจากทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และอุตสาหกรรมการบิน อิเล็กทรอนิกส์ และโลจิสติกส์ ฯลฯ

สำหรับเขตอุตสาหกรรมที่ประเทศเวียดนาม ในไตรมาส 1/2565  บริษัทฯ มียอดเซ็น MOU รวมทั้งสิ้น 124 ไร่ สอดคล้องกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการผลิตและการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงยอด FDI ของประเทศเวียดนามที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทฯ ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี และมีจำนวน Enquiry ที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทฯ จึงเร่งพัฒนาเฟส 2 คิดเป็นพื้นที่กว่า 2,200 ไร่ โดยมีการเริ่มดำเนินการก่อสร้างในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ พื้นที่รวมทั้งเฟส 1 เฟส 2 และส่วนต่อขยายของเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน เหงะอาน จะมีพื้นที่รวมทั้งสิ้นกว่า 11,550 ไร่

 ล่าสุด เขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน 1 – เหงะอาน และหัวลี่ กรุ๊ป – ไต้หวัน ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงสัญญาการแบ่งเช่าที่ดิน ณ สำนักงานใหญ่ของคณะกรรมการประชาชนประจำจังหวัด       เหงะอาน สำหรับโครงการผลิตและแปรรูปรองเท้า เพื่อการส่งออกของหัวลี่ กรุ๊ป ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน 1 – เหงะอาน โดยโครงการก่อสร้างดังกล่าวคาดว่าจะเริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม 2565 และจะเปิดดำเนินการได้ในเดือนมิถุนายน 2566

นอกจากนี้ บริษัทฯ มุ่งมั่นเดินหน้าพัฒนาเขตอุตสาหกรรมใหม่อีก 2 แห่ง ได้แก่ โครงการ “WHA Smart Technology Industrial Zone – Thanh Hoa” ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองหลักของจังหวัด มุ่งตอบโจทย์ความต้องการจากนักลงทุนด้านเทคโนโลยีมูลค่าสูง ในขณะที่โครงการ “WHA Northern Industrial Zone – Thanh Hoa” ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ใกล้กับศูนย์ปิโตรเคมี Nghi Son มุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายอุตสาหกรรมขั้นกลางและปลายน้ำ โดยคาดว่าการก่อสร้างจะเริ่มดำเนินการในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ

ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) กับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อยกระดับความร่วมมือด้าน “การดูแลสุขภาพในภาคอุตสาหกรรม” โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและส่งเสริมความตระหนักรู้และความเข้าใจด้านสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีในภาคอุตสาหกรรม  ซึ่งข้อตกลงในครั้งนี้มีระยะเวลา 5 ปี โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มของบริษัทฯ ในการจัดหาสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ และมีความปลอดภัยสำหรับผู้ที่ทำงานในโรงงาน และพนักงานในศูนย์โลจิสติกส์และนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอในประเทศไทย”

 ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มฯ กล่าวเพิ่มเติมถึง ธุรกิจสาธารณูปโภค ว่า ผลประกอบการของธุรกิจน้ำในไตรมาส 1/2565 มีการเติบโตอย่างโดดเด่น ทำให้บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภคเท่ากับ 622.0 ล้านบาท โดยมีปริมาณยอดขายและบริหารน้ำทั้งหมด ในประเทศไทย และต่างประเทศรวม 36 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 11% โดยเป็นสัดส่วนปริมาณยอดจำหน่ายน้ำในประเทศเท่ากับ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  สะท้อนการเติบโตของปริมาณการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มลูกค้าเดิม โดยเฉพาะลูกค้าหลัก ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมีและกลุ่มโรงไฟฟ้า ที่มีปริมาณการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ยังมีปริมาณยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value-Added Products) ในไตรมาส 1/2565 มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้น้ำเพิ่มเติมจากลูกค้ากลุ่มโรงไฟฟ้า ได้แก่ Gulf SRC และ GPSC   ขณะที่ธุรกิจน้ำในประเทศเวียดนาม โครงการ ดวง ริเวอร์ เซอร์เฟส วอเตอร์แพลนท์ (Duong River Surface Water Plant: SDWTP) ในไตรมาส 1/2565 บริษัทฯ มียอดจำหน่ายน้ำรวมตามสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับ  6 ล้านลูกบาศก์เมตร เติบโต 24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อันเป็นผลมาจากความต้องการใช้น้ำที่ทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งจากลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่

“บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม ควบคู่ไปกับการพัฒนา Smart Utilities Service Platform และ Innovative Solution เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง อาทิ การให้บริการน้ำรีไซเคิล และน้ำปราศจากแร่ธาตุแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย (มาบตาพุด) โดยล่าสุดได้มีการลงนาม ในสัญญาซื้อขายน้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) กับลูกค้ารายแรก ด้วยกำลังการผลิตกว่า 0.8 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และคาดว่าจะเริ่มจำหน่ายน้ำให้กับลูกค้าได้ในไตรมาส 4/2565”

 นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ร่วมลงนามในสัญญากับบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เพื่อบริหารจัดการน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจากระบบบำบัดน้ำเสียมาผลิตเป็นน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified Water) เป็นโครงการที่ 2 เพื่อให้บริการแก่ GULF ในการนำน้ำไปใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้าตาสิทธิ์ 3 และ 4 ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 1 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้อายุสัญญาซื้อขายน้ำระยะเวลา 15 ปี โดยบริษัทฯจะเริ่มส่งมอบการให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565

 โดยมีปริมาณการผลิตน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified Water) เพื่อให้บริการแก่โรงไฟฟ้า จำนวน 1.4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยมีแผนเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 3/2565 เช่นเดียวกับสำหรับธุรกิจสาธารณูปโภคในประเทศเวียดนาม บริษัทฯ คาดว่ายอดขายและบริหารจัดการน้ำเสียจะเติบโตเพิ่มขึ้น ด้วยแผนการขยายธุรกิจสาธารณูปโภคควบคู่ไปกับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ อาทิ เขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน เหงะอาน เฟสที่ 2 และเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ทัญฮว้า จำนวน 2 แห่ง ที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ

ในส่วนของ ธุรกิจไฟฟ้า บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรปกติจากการดำเนินงานจากการลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทร่วมค้าไม่นับรวมกำไร/ ขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน และรายได้จากธุรกิจพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในไตรมาส 1/2565  เท่ากับ 92.8 ล้านบาท ปรับตัวลดลงโดยมีปัจจัยหลักมาจากส่วนแบ่งกำไรปกติจากโรงไฟฟ้า GHECO-One ที่ลดลง เนื่องจากสาเหตุสำคัญจากประกาศระงับการส่งออกถ่านหินของประเทศอินโดนีเซีย ส่งผลทำให้ราคาถ่านหินปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงโรงไฟฟ้ามีการหยุดซ่อมบำรุงจำนวน 18 วัน และส่วนแบ่งกำไรปกติจากกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ปรับตัวลดลง โดยมีสาเหตุหลักจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่การประกาศปรับอัตราค่าไฟฟ้าของภาครัฐยังไม่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาส1 ที่ผ่านมา โดยจะมีการปรับอัตราค่าไฟฟ้าตามรอบการปรับปกติในเดือนพฤษภาคมและเดือนกันยายนนี้

ขณะเดียวกัน ในส่วนของธุรกิจไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีการเติบโตอย่างโดดเด่น ซึ่งในไตรมาสแรก บริษัทฯ เซ็นสัญญาโครงการโซลาร์รูฟท็อป เพิ่มจำนวน 5 สัญญา กำลังการผลิตรวมประมาณ 13 เมกะวัตต์ รวมเป็นจำนวนเซ็นต์สัญญาสะสม 105 เมกะวัตต์ โดย 1 ใน 5 โครงการดังกล่าว ได้แก่ โครงการเมกาบางนา จำนวน 9.88 เมกะวัตต์ ที่คาดว่าจะพร้อมจ่ายไฟในช่วงปลายปี 2565 นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) เพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับลูกค้าเพิ่มเติมอีก 3 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 1/2565 บริษัทฯ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ โดยรวมทั้งหมดจากโรงไฟฟ้าทุกประเภท (Contracted Capacity) ตามสัดส่วนการถือหุ้นแตะ 655 เมกะวัตต์

ล่าสุด โครงการ Solar Farm ของบริษัท ซุปเปอร์แนป (ประเทศไทย)” ผู้ให้บริการดาต้า เซ็นเตอร์ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับ เทียร์ 4 ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าที่สุดในภูมิภาคอาเซียนบนพื้นที่รวม 10,000 ตารางเมตร ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้วในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยโครงการดังกล่าวสามารถลดต้นทุนด้านการใช้พลังงานไฟฟ้าให้กับซุปเปอร์แนป (ประเทศไทย) และลูกค้าตลอดอายุการใช้งาน พร้อมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ถึง 18,250 ตัน

พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการลดคาร์บอน ภายในองค์กรผ่านการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าทดแทน โดยจะเห็นได้ว่าบริษัทฯ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศจากโครงการพลังงานพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าวเพิ่มขึ้น เป็น 26,378 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในปี 2564 หากเทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมทั้งหมดของกลุ่มบริษัทฯ ในช่วงเวลาเดียวกัน จำนวน 19,250 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จึงถือได้ว่ากลุ่มบริษัทฯ สามารถบรรลุการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ได้แล้วภายในปี 2564 อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาจากภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศเพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ซึ่งกลุ่มบริษัทฯ อยู่ระหว่างการทำแผนระยะยาวเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งจะประกาศแผนงานโดยละเอียดและระยะเวลาที่ชัดเจนต่อไป

นอกจากนี้ บริษัทยังคงมุ่งเน้นกลยุทธ์ด้านการเป็นผู้นำด้านธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงาน ควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ผ่านการร่วมมือกับพันธมิตรจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) “PTT” และบริษัท เซอร์ทิส จำกัด “Sertis” พัฒนาระบบ Peer-to-Peer Energy Trading Platform ภายใต้ชื่อว่า “RENEX” นี้ขึ้นมา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยใช้เทคโนโลยี Blockchain ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยในการทำธุรกรรม และอำนวยความสะดวกการซื้อขายพลังงาน ระหว่างผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม โดยได้รับความร่วมมือจาก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โครงการนี้มีผู้ประกอบการชั้นนำในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ เข้าร่วมเป็นผู้ซื้อขายพลังงาน จำนวนมากถึง 23 บริษัท ทั้งนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมขั้นสุดท้ายในการให้บริการซื้อขายเชิงพาณิชย์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มขึ้นภายในไตรมาส 2/2565

ด้าน ธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม สำหรับไตรมาส 1/2565 ถือเป็นธุรกิจที่สร้างผลงานได้เป็นอย่างดี โดยบริษัทฯ ได้จำหน่ายสินทรัพย์ประเภทดาต้า เซ็นเตอร์ (ธุรกิจศูนย์บริการระบบข้อมูลสารสนเทศ) 2 แห่ง และมีกำไรจากการจำหน่ายดาต้า เซ็นเตอร์ ทั้งสิ้นจำนวน 344.6 ล้านบาท โดยบริษัทฯยังคงมุ่งมั่นที่จะนำเสนอนวัตกรรมทางด้านดิจิทัลใหม่ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ และตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างครบวงจร โดยบริษัทฯ วางแผนจะใช้เงินลงทุนในธุรกิจดิจิทัล ประมาณ 4,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 4-5 ปี เพื่อปรับการดำเนินธุรกิจให้เป็นรูปแบบ Tech Company ด้วยการต่อยอดในธุรกิจเดิมที่บริษัทมีอยู่ทั้งในด้านของธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม และธุรกิจไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภค เช่น ธุรกิจดิจิทัลเฮลธ์แคร์, EV Value Chain และระบบ Energy Trading เป็นต้น

 ล่าสุดบริษัท ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือในการส่งเสริมและพัฒนาดิจิทัลเฮลธ์แคร์ กับบริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน)  เพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการและโซลูชันการดูแลสุขภาพสำหรับพนักงานและลูกค้าทั้งหมดในนิคมอุตสาหกรรม โลจิสติกส์เซ็นเตอร์ และอาคารสำนักงานของดับบลิวเอชเอ ผ่านแพลตฟอร์ม WHAbit ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันใหม่ของบริษัทฯ ร่วมกับบริการ Samitivej Virtual Hospital ของโรงพยาบาลสมิติเวช ซึ่งในบันทึกความร่วมมือ (MOU) ครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันสำรวจ ศึกษาขั้นตอนและกระบวนการทำงานที่จำเป็นตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้น เพื่อส่งมอบโซลูชันการบริการดูแลสุขภาพผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดที่เชื่อมต่อกับช่องทางออฟไลน์ รวมถึงการปรึกษาแพทย์ทางไกล (Telemedicine) การตรวจสุขภาพ (Health Check-up) คลินิกกลุ่มโรค NCD (กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) สมาร์ทคลินิก การจ่ายยา การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) และบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนั้นบริษัทฯ ยังเดินหน้าสนับสนุนกลุ่มลูกค้าและนักลงทุนที่ต้องการนำเทคโนโลยี 5G เข้ามาพัฒนาธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง ด้วยแผนการลงทุนร่วมกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมชั้นนำ สำหรับการวางแผนติดตั้งเครือข่ายและกระจายสัญญาณเครือข่ายทั้ง 3G, 4G และ 5G ควบคู่ไปกับการติดตั้งโครงข่ายสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (FTTx) ภายในนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มบริษัทฯ ให้ครบทั้ง 11 แห่งภายในปีนี้ เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G ในอนาคต

  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า บริษัทฯ ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ในการเสนอขายหุ้นกู้ ครั้งที่ 2/2565 มูลค่ารวม 6,500 ล้านบาท หลังจากที่เปิดเสนอขายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนที่มีต่อบริษัทฯ ทั้งนี้เป็นผลมาจากแผนการขยายธุรกิจที่มีความต่อเนื่อง  รวมถึงโครงสร้างทางการเงินที่มีความแข็งแกร่ง สำหรับเม็ดเงิน ที่ได้จากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ บริษัทฯ จะนำเงินไปชำระคืนหนี้เดิม และ/หรือ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติให้จ่ายเงินปันผลรวมสำหรับผลประกอบการปี 2564 ที่ 0.1002 บาทต่อหุ้น โดยเป็นเงินปันผลระหว่างกาลที่ได้จ่ายให้ผู้ถือหุ้นไปแล้วจำนวน 0.0267 บาทต่อหุ้น และเงินปันผลที่  จะจ่ายเพิ่มเติมอีก 0.0735 บาทต่อหุ้น โดยมีกำหนดการจ่ายเงินปันผลในวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 นี้

@mitihoonwealth

https://lin.ee/cXAf0Dp