KTB เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.73 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อย จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.71 บาทต่อดอลลาร์

49

 

มิติหุ้น-โดย พูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB

บรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงและผู้เล่นส่วนใหญ่ยังคงต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ เงินดอลลาร์ เงินเยนญี่ปุ่น และพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว ท่ามกลางความกังวลการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อของธนาคากลางและผลกระทบจากมาตรการ Lockdown ของจีน ซึ่งภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดนั้น ได้ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ต่างผันผวนหนัก

ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.13% ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq สามารถรีบาวด์กลับมาปิดตลาดที่ +0.06% ได้ จากแรงซื้อหุ้นเทคฯ ใหญ่บางตัว อาทิ Amazon +1.48%, Facebook +1.32% ในจังหวะที่มีการย่อตัวลงหนัก นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Healthcare ที่นักลงทุนเริ่มทยอยสะสมมากขึ้น สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คงแนะนำให้ ลงทุนในหุ้นกลุ่ม Healthcare ซึ่งข้อมูลในอดีตสะท้อนว่า หุ้นกลุ่ม Healthcare นั้นสามารถให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นได้ในช่วงที่ตลาดการเงินมีความไม่แน่นอนสูง จากความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอหรือแม้กระทั่งในสภาวะ Stagflation อีกทั้งระดับราคาปัจจุบันของหุ้นกลุ่ม Healthcare ก็อยู่ในระดับที่ถูกกว่าตลาดหุ้นโดยรวม

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรปพลิกกลับมาปรับตัวลง -0.94% จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจอาจชะลอตัวมากกว่าคาด หลังเศรษฐกิจอังกฤษในไตรมาสที่ 1 ขยายตัวเพียง +0.8% จากไตรมาสก่อนหน้า แย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ความกังวลผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรพลังงานกับรัสเซียก็ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นยุโรปอยู่ ซึ่งความกังวลแนวโน้มเศษฐกิจชะลอมากกว่าคาดได้สะท้อนผ่านแรงขายหุ้นกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มพลังงาน Enel -2.4%, Total Energies -2.0%  กลุ่มการเงิน Allianz -3.3%, Santander -1.5% เป็นต้น

ในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวมได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดยังคงต้องการถือบอนด์ระยะยาวเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 2.86% อย่างไรก็ดี ความกังวลแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อก็เป็นปัจจัยที่กดดันไม่ให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงไปมาก และเราเชื่อว่านักลงทุนบางส่วนอาจใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวลดลงในการทยอยขายทำกำไร (Sell on Rally) หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงจากเกือบ 3.20% ทั้งนี้ ในระยะสั้นที่ตลาดยังคงเผขิญความผันผวน เรามองว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัวในกรอบ sideways ในโซน 2.80%-2.90%

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) สามารถปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 104.8 จุด โดยเงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความผันผวนในตลาด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงแรงของสกุลเงินฝั่งยุโรป อาทิ เงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1.038 ดอลลาร์ต่อยูโร และ 1.220 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ตามลำดับ ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปชะลอมากกว่าคาดและเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะ Stagflation ได้ นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ยังคงเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำ แม้ว่าตลาดการเงินจะยังคงปิดรับความเสี่ยงก็ตาม โดยราคาทองคำปรับตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,822 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ (Consumer Sentiment) ที่สำรวจโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน ซึ่งคาดว่าอาจปรับลงเล็กน้อยสู่ระดับ 64 จุด ในเดือนพฤษภาคม ตามความกังวลผลกระทบเศรษฐกิจจากภาวะเงินเฟ้อสูงและการทยอยขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทว่าปัจจัยหนุนยังคงเป็นตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่อยู่ในภาวะแข็งแกร่ง ดังจะเห็นได้จากยอดการจ้างนอกภาคเกษตรกรรมและค่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้น

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลดังกล่าว ตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าเฟด หลังอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอลงมากเท่าที่ตลาดคาดหวัง โดยตลาดจะรอจับตาว่าบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดจะมีมุมมองต่อแนวโน้มนโยบายการเงินเฟดอย่างไร โดยเฉพาะโอกาสในการเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงเพื่อคุมเงินเฟ้อ

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีโอกาสที่จะผันผวนในฝั่งอ่อนค่าตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินฝั่งเอเชีย ทั้งนี้ ต้องจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะฟันด์โฟลว์ในฝั่งหุ้นว่า จะเริ่มเห็นการกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยในจังหวะย่อตัวของนักลงทุนต่างชาติหรือไม่ หรือ ตลาดหุ้นไทยจะยังคงเผชิญแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติต่อ โดยหากแรงขายสินทรัพย์จากนักลงทุนต่างชาติไม่รุนแรงมากนัก การอ่อนค่าของเงินบาทอาจจำกัดในระยะสั้นนี้ ในขณะที่ผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงใกล้ระดับ 34.75-34.80 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้โซนดังกล่าวอาจพอเป็นแนวต้านในช่วงนี้ได้

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.65-34.80 บาท/ดอลลาร์