วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน

94

ราคาน้ำมันดิบผันผวน จากอุปทานตึงตัว ท่ามกลางความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอย

-/+ ราคาน้ำมันดิบผันผวน หลังตลาดกังวลอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว หากสหภาพยุโรปมีมติเป็นเอกฉันท์ในการคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตหลักในการจัดส่งน้ำมันดิบและเชื้อเพลิงให้กับยุโรป อย่างไรก็ตามการลงคะแนนเสียงยังคงล่าช้า เนื่องจากฮังการียังไม่เห็นด้วยกับคำสั่งห้ามดังกล่าว เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศมากเกินไป

– รายงานประจำเดือน พ.ค. ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันของโลกในปี 65 เป็นเดือนที่สองติดต่อกัน โดยอ้างถึงผลกระทบจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และการระบาดของโควิด-19 ในจีน โดยคาดว่าอุปสงค์ของโลกจะเพิ่มขึ้นเพียง 3.36 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 65 ซึ่งลดลง 310,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม OPEC ยังคงคาดว่าอุปสงค์น้ำมันของโลกจะสูงกว่า 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในไตรมาสสามของปีนี้

– ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดัน จากความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์ที่ลดลงจากจีน เนื่องจากความพยายามที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเมืองเซี่ยงไฮ้อยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์กว่าหกสัปดาห์แล้ว แม้ว่าครึ่งหนึ่งของเมืองจะได้รับสถานะ “zero COVID” แต่ก็ยังไม่มีการประกาศยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์แต่อย่างใด นอกจากนี้ตลาดคาดว่าจีนอาจจะประกาศล็อกดาวน์กรุงปักกิ่ง ในเร็วๆนี้อีกด้วย

ราคาน้ำมันเบนซิน – ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ จากน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลงแตะระดับ 222.7  ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน อีกทั้งความต้องการใช้น้ำมันเบนซินที่เพิ่มขึ้นจากศรีลังกา

ราคาน้ำมันดีเซล – ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากอุปสงค์น้ำมันดีเซลจากฝั่งยุโรปที่ชะลอตัวลง อีกทั้งราคาน้ำมันดีเซลยังได้รับแรงกดดันจากการส่งออกน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นของอินเดียและเกาหลีใต้

หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ. ไทยออยล์

 

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp