ลับ ลวง พราง..สัมปทานท่อส่งน้ำ EEC โปร่งใส ไม่มีอะไรในกอไผ่ แน่หรือ?

417

ในทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงกลาโหม สั่งการให้กระทรวงการคลัง ตรวจสอบข้อเท็จจริง โครงการประมูลท่อส่งน้ำอีอีซีมูลค่ากว่า 25,000 ล้าน โดยให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในทุกขั้นตอนโดยเร็ว

หลังจากที่ฝ่ายค้านประกาศจะหยิบยกกรณีดังกล่าว ขึ้นอภิปรายซักฟอกไม่ไว้วางใจรัฐบาล รวมทั้งองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญประกาศยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. สอบกราวรูดผู้เกี่ยวข้องกับการประมูลโครงการนี้ จนยังผลให้กรมธนารักษ์ต้องเลื่อนการเซ็นสัญญาโครงการดังกล่าวกับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ผู้ชนะประมูลโครงการนี้ออกไป เพื่อรอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนนั้น

ทุกฝ่ายต่างหันมาให้ความสนใจโครงการประมูลท่องส่งน้ำอีอีซีนี้กันอย่างไม่กระพริบ.. เกิดอะไรขึ้นกับการดำเนินโครงการนี้ เหตุใดบริษัท อีสท์วอเตอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกร่วมทุนของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ที่เคยได้รับสัมปทานบริหารจัดการโครงการนี้จึง “ถูกลอยแพ” ไปได้  และเหตุใดกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง จึงมีความพยายามที่จะเดินหน้าเซ็นสัญญาโครงการนี้ แม้จะมีกระแสวิพากษ์ทักท้วงจากหลายฝ่ายในช่วงที่ผ่านมา

วันวาน (3 พ.ค.) นายประภาส คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานกรรมคัดเลือกฯ ได้เปิดแถลงถึงที่มาที่ไปการดำเนินโครงการนี้อย่างละเอียด พร้อมเปิดเผยสาเหตุที่ต้องเลื่อนเซ็นสัญญาสัมปทานโครงการออกไปตามใบสั่งนายกฯ เพราะสังคมและสื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้กันมาก และยังคงมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน จึงจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจให้กับทุกฝ่าย

แต่คำชี้แจงของอธิบดีกรมธนารักษ์ จะทำให้เส้นทางการดำเนินโครงการนี้ราบรื่น หรือนั่นคือ “ใบเสร็จ” การทุจริตที่เป็นหลักฐานมัดตัวผู้เกี่ยวข้องกับโครงการนี้หรือไม่?

อธิบดีกรมธนารักษ์ ได้แถลงยืนยันต่อสื่อมวลชนว่า การประมูลโครงการบริหารกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในเขตอีอีซีนั้น กรมฯ และคณะกรรมการที่ราชพัสดุได้ดำเนินการถูกต้อง ครบถ้วนตามกฎหมาย โดยเป็นการ “ประมูลตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ ปี 2562 มาตรา 29 ซึ่งกำหนดให้ การจัดประโยชน์ในที่ราชพัสดุที่มีมูลค่าไม่เกิน 5,000 ล้าน ให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ ไม่ได้เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) ปี 2562 ไม่ใช่การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ปี 2560”

ส่วนเหตุที่ต้องล้มประมูลครั้งแรก (ตามประกาศ TOR ลงวันที่ 16 ก.ค.64) เพราะเงื่อนไขประกวดราคา หรือ TOR ขาดความชัดเจน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการเปรียบเทียบข้อเสนอได้อย่างครบถ้วน เห็นได้จากบริษัท อีสท์วอเตอร์ฯ ผู้รับสัมปทานเดิมได้เสนอความสามารถในการส่งน้ำเข้ามาสูงถึง 350 ล้านลบ.เมตร/ปี เกินกว่าศักยภาพของท่อส่งน้ำที่มี และเกินกว่ารายงานผลการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศึกษาเอาไว้ ขณะที่บริษัทวงษ์สยามฯ นั้น เสนอมาตามกรอบรายงานผลการศึกษา ทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ จึงจำเป็นต้องดำเนินการยกเลิก TOR เดิม และแก้ไขให้สอดคล้องกับรายงานผลการศึกษา

ทั้งนี้ การยกเลิกประกวดราคาดังกล่าว ไม่ได้ก่อให้เกิดความได้เปรียบ-เสียเปรียบ และไม่ได้มีการตัดสิทธิ์รายใด เอกชนที่เข้าประมูลยังคงเข้ายื่นประมูลแข่งขันได้ทุกราย แถมผลพวงจากการเปิดประมูลใหม่ ยังทำให้รัฐได้ผลประโยชน์มากขึ้นหลายเท่าตัว จากเดิมที่บริษัทวงษ์สยามฯ เสนอผลตอบแทนแก่รัฐเพียง 6,000 ล้าน ขณะอีสท์วอเตอร์ เสนอ 3,000 ล้านบาท แต่ในการประมูลครั้งใหม่ รัฐได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้นมาถึง 25,000 ล้านบาท จึงไม่มีเหตุผลที่จะยกเลิกการประมูลหรือล้มโครงการอีก

ฟังคำชี้แจงของอธิบดีกรมธนารักษ์แล้วก็ให้เคลิบเคลิ้มตาม  หากทุกอย่างดำเนินการโปร่งใส ก็ไม่มีเหตุผลที่ พลเอกประยุทธ์ นายกฯ จะติดเบรกโครงการนี้

บริหารจัดการน้ำ VS จัดประโยชน์เชิงพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงการคลัง ได้ตั้งข้อสังเกตต่อถ้อยแถลงของอธิบดีกรมธนารักษ์ ที่ยืนยันนั่งยันว่า การดำเนินการจัดประกวดราคาในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามมาตรา 29 พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ ปี 2562 หาใช่การประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ  และไม่ได้เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ (พีพีพี) เนื่องจากเป็น “โครงการจัดประโยชน์เชิงพาณิชย์” ในที่ราชพัสดุที่มีกฎหมายกำกับดูแลโดยเฉพาะ และมีมูลค่าโครงการต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท จึงต้องดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ ปี 62

“นิยามโครงการ” ที่กรมธนารักษ์ และ “คณะกรรมการที่ราชพัสดุ” ระบุว่า เป็นการจัดประโยชน์ (เชิงพาณิชย์) ในที่ราชพัสดุนั้นทำให้เกิดคำถามตามมาทันทีว่า การประมูลหาเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนบริหารจัดการน้ำในเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซีนั้น กลายเป็น “กิจการเชิงพาณิชย์” ไปตั้งแต่เมื่อไร?

“การบริหารจัดการน้ำ” หรือระบบส่งน้ำ ไม่ใช่ “โครงการโครงสร้างพื้นฐาน” หรือ “กิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการของรัฐ” ตามนิยามมาตร7 (5) พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) ปี 2562 หรืออย่างไร ?

แค่ “นิยามโครงการ” ของกรมธนารักษ์และคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ก็เข้ารกเข้าพงแล้ว!!!

ที่มา: เนตรทิพย์: เจาะลึก ถึงกึ๋น ถึงแก่น แบบไม่เกรงใจ (natethip.com)

โดยเนตรทิพย์กระพริบข่าวร้อน

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp