GPSC เผยผลประกอบการ Q1/65 รายได้โต 64% มั่นใจพร้อมผลิตไฟฟ้า-สาธารณูปโภค รองรับเปิดประเทศ

165

มิติหุ้น – GPSC แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1/65 รายได้เพิ่ม 64% กำไรลดลงจากปัจจัยหลักต้นทุนเชื้อเพลิงพุ่ง ทั้งก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ขณะที่ปัจจัยหนุนจากโรงไฟฟ้า IPP ที่ทำรายได้และมาร์จิ้นเพิ่ม เตรียมรับรู้รายได้เพิ่มหลัง กกพ. ปรับค่า Ft  ใหม่มีผลรอบเดือนพฤษภาคมนี้ พร้อมเดินหน้าบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนต่อเนื่องขณะที่โรงไฟฟ้าทุกแห่งพร้อมเดินเครื่องตามปกติ รองรับการขยายตัวใช้ไฟฟ้าจากการเปิดประเทศ

นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยถึงผลประกอบการไตรมาส 1/2565 บริษัทฯ มีรายได้ทั้งสิ้น 27,261 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยมีกำไรสุทธิ 313 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 84%  และเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2564  (QoQ )  ปรับตัวลดลง 855 ล้านบาท หรือ ลดลง 73% ทั้งนี้ ปัจจัยหลักมาจากผลการดำเนินงานในส่วนของกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ลดลงจากราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากจากสถานการณ์ความขัดแยงระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้มาร์จิ้นจากการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมลดลง แม้ปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมคงที่ ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายไอน้ำให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ส่วนปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลดลงเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้รับปัจจัยบวกจากผลการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าผู้ผลิตอิสระ (IPP) ที่สามารถทำรายได้และมาร์จินเพิ่มขึ้น จากการรับรู้รายได้ของค่าพลังงานไฟฟ้า (EP) ตามปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบที่เพิ่มขึ้น ตามแผนการเรียกรับไฟฟ้าของ กฟผ. และการจัดการการผลิตโดยใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลแทนก๊าซธรรมชาติ ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังได้บันทึกรับรู้กำไรสุทธิหลังหักภาษีและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง จำนวน  592 ล้านบาท จากการขายหุ้นทั้งหมด ของบริษัท อิจิโนเซกิ โซล่า พาวเวอร์1 จีเค (ISP1) ให้กับบริษัท CES Iwate Taiyoko Hatsudensho GK แล้วเสร็จ

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นจากการทำแผน  Synergy ควบรวมกิจการ หลังหักภาษีรับรู้มูลค่า จำนวน 483 ล้านบาท เป็นผลจากการบริหารจัดการการผลิตร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุนตั้งแต่ในด้านการใช้โครงข่ายไฟฟ้า-ไอน้ำ การบริหารส่วนการพาณิชย์ด้านต้นทุนการผลิต การขยายฐานลูกค้า การบริหารจัดการต้นทุนการผลิต และการบริหารจัดการหุ้นกู้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นในระดับสูง จากความไม่สงบระหว่างรัสเซีย–ยูเครน ส่งผลต่อราคาพลังงานในตลาดโลก ที่สะท้อนต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำทั้งระบบ ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีการประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (ค่า Ft) 2 ครั้ง จาก -15.32 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ก็ตาม ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้บริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตหรือ Optimization เพื่อให้การเดินเครื่องมีประสิทธิภาพ ซึ่งบริษัทฯ ยังคงเดินหน้าในการสร้างความมั่นคงในระบบการผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งมอบและไอน้ำให้กับลูกค้าทุกกลุ่มให้ได้ตามสัญญาอย่างต่อเนื่อง

นายวรวัฒน์กล่าวว่า หลังจากนี้การเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าและไอน้ำของโรงไฟฟ้าต่างๆ จะกลับเข้ามาสู่ระบบการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดรับกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศและภาคการผลิต ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ในการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา โดยยกเลิก Test & Go ปรับ Thailand pass ในการเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งขณะนี้ความพร้อมของโรงไฟฟ้าโกลว์ พลังงาน ระยะที่ 5 ได้กลับมาเดินเครื่องตามปกติตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2565 โดยอยู่ระหว่างดำเนินการด้านประกันภัยที่ยังคงเหลือ ซึ่งคาดว่าจะสามารถรับรู้ทั้งหมดได้ในปี 2565 ส่วนโรงไฟฟ้าเก็คโค่วันได้กลับมาเดินเครื่องตามปกติแล้วเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ขีดความสามารถการผลิตไฟฟ้าโดยรวมของบริษัทฯ เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าในการสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยความร่วมมือในกลุ่ม ปตท. และนอกกลุ่ม ปตท. โดยเมื่อเร็วๆนี้  บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GRSC) ที่ GPSC ถือหุ้น 100%  ได้มีการชำระค่าหุ้นของ Avaada Energy Private Limited (AEPL) รวมเป็นจำนวนเงิน 1,875 ล้านรูปีอินเดีย หรือเทียบเท่า 841 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นจาก 41.62 %เป็น 42.93 % ของทุนทั้งหมดของ AEPL เป็นที่เรียบร้อย

นอกจากนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติโอนสินทรัพย์ที่เกี่ยวกับธุรกิจแบตเตอรี่ ให้แก่ บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (NUOVO PLUS) ซึ่งเป็นการร่วมทุนที่ GPSC ถือหุ้น 49% และบริษัท อรุณพลัส จำกัด (ARUN PLUS) ถือหุ้น 51% โดย GPSC จะเข้าไปดำเนินการการพัฒนา การขาย และการลงทุนในธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ในอนาคต ผ่าน NUOVO PLUS ประกอบด้วย โรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงานกำลังการผลิตเริ่มต้น 30 MWh ต่อปี ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง และ หุ้นสามัญร้อยละ 100 ในบริษัท GPSC-SG Holding Company ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งถือหุ้น 11.1% ในบริษัท Anhui Axxiva New Energy Technology Co., Ltd. สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งประกอบธุรกิจโรงงานผลิตแบตเตอรี่กำลังการผลิต 1 GWh ต่อปี รวมถึง สัญญาและข้อตกลงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจแบตเตอรี่ EV ตามนโยบายภาครัฐและกระแสโลกสู่พลังงานสะอาด

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp