กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 34.15-34.65 มองเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.5%

37

มิติหุ้น  –  กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.15-34.65 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 34.27 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 33.95-34.48 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี ท่ามกลางแรงซื้อดอลลาร์ในตลาดโลก ขณะที่ในเดือนเมษายน เงินบาทอ่อนค่าลง 2.9% เกาะกลุ่มไปกับทิศทางภูมิภาค เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา ความวิตกเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและการเร่งขึ้นดอกเบี้ยและลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งผลให้นักลงทุนปิดรับความเสี่ยง โดยเงินยูโรแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี ขณะที่ยุโรปเผชิญกับวิกฤติพลังงานและอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 7.5% ในเดือนเมษายน ส่วนเงินเยนร่วงลงสู่ระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 20 ปีครั้งใหม่หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) มีมติคงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและระบุว่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำมากต่อไปแม้เงินเฟ้อสูงขึ้น ทั้งนี้ บีโอเจคงเป้าหมายสำหรับดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% และจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีในปริมาณที่ไม่จำกัดเพื่อควบคุมเพดานผลตอบแทนที่ 0.25% ท่าทีดังกล่าวสวนทางกับธนาคารกลางชั้นนำอื่นๆที่กำลังอยู่บนเส้นทางการคุมเข้มนโยบาย ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 3,494 ล้านบาท และ 2,008 ล้านบาท ตามลำดับ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรีคาดว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 50bp สู่ช่วง 0.75-1.0% และให้รายละเอียดเกี่ยวกับการลดขนาดงบดุลของเฟดในการประชุมวันที่ 3-4 พฤษภาคม ขณะที่ตลาดจะติดตามการประเมินเงินเฟ้อและสัญญาณการปรับนโยบายในระยะถัดไป นอกจากนี้ คาดว่าการจ้างงานเดือนเมษายนของสหรัฐฯ จะชะลอลงแต่ยังอยู่ในภาวะแข็งแกร่ง อนึ่ง แม้เรามองว่าค่อนข้างยากสำหรับเฟดที่จะสร้างเซอร์ไพรส์ แต่แนวโน้มเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงนอกสหรัฐฯ อาจทำให้ดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนในระยะสั้นแม้ว่าขาขึ้นอาจจะเป็นไปอย่างจำกัดมากขึ้นก็ตาม ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ย 25bp ในการประชุมวันที่ 5 พฤษภาคม

สำหรับปัจจัยในประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการจีดีพีของไทยปี 2565 เป็นเติบโต 3.5% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 4.0% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยชะลอลง และอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ทั้งนี้ เรามีความเห็นเชิงบวกต่อการผ่อนคลายมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ในระยะนี้ การใช้นโยบายเข้มงวดของเฟดและต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นยังเป็นประเด็นฉุดรั้ง sentiment ค่าเงินบาท

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp