EIC ประเมินสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ไตรมาส 4/2021 ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 90.1%

52

KEY SUMMARY

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 4/2021
ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 4 ปี 2021 อยู่ที่ 14.6 ล้านล้านบาท ขยายตัวที่ 3.9%YOY โดยชะลอลง
จากไตรมาสก่อนหน้าและเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบ 6 ไตรมาส อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของ GDP ที่ชะลอตัวลงมากทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP อยู่ที่ระดับ 90.1% ปรับตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า
โดยการขยายตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือนในระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 4 ชะลอลงในทุกหมวดสินเชื่อสำคัญยกเว้นบัตรเครดิต อย่างไรก็ตาม สินเชื่อส่วนบุคคลยังขยายตัวอยู่ในระดับสูง แสดงถึงแนวโน้มการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่ายทดแทนสภาพคล่องที่หายไปตามรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัว
 
EIC คาดปัญหาเงินเฟ้อในปี 2022 จะยิ่งกดดันหนี้ครัวเรือนไทยให้อยู่ในระดับสูง
ปัญหาภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและยังมีแนวโน้มสูงขึ้นตลอดทั้งปี 2022 จากปัจจัยด้านราคาพลังงานและอาหารยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อกำลังซื้อภาคครัวเรือน โดยภาวะเงินเฟ้อสูงในช่วงที่รายได้ฟื้นตัวช้าจากแนวโน้มตลาดแรงงานที่ยังเปราะบาง จะส่งผลกระทบต่อรายได้ที่แท้จริง กำลังซื้อ และความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลง ประกอบกับครัวเรือนบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยที่มีค่าใช้จ่ายในส่วนอาหารและพลังงานรวมกันมากกว่าครึ่งของค่าใช้จ่ายทั้งหมด  อาจจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มเติมเมื่อรายได้ไม่พอรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาที่เร่งตัว
โดย EIC คาดว่าในปี 2022 หนี้ครัวเรือนไทยจะยังคงขยายตัวสูงต่อเนื่อง และสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงเดิม
 
การช่วยเหลือจากภาครัฐยังคงจำเป็นในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน

ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ที่ผ่านมาภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อพยุงสถานะทางการเงินของภาคครัวเรือนที่อ่อนแอลงในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านโครงการปรับโครงสร้างหนี้และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ผ่านมายังเป็นเพียงมาตรการแก้ปัญหาในระยะสั้น โดยภาครัฐควรมีมาตรการจัดการเรื่องหนี้ครัวเรือนแบบยั่งยืนโดยมุ่งเน้นทั้งการจัดการหนี้ปัจจุบัน ลดการก่อหนี้ที่เกินตัวเพิ่มเติมในอนาคต รวมถึงการส่งเสริมด้านรายได้และการจ้างงาน เช่น การส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในภาคธุรกิจผ่านการอุดหนุนการจ้างงาน
และการปรับทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

 

 

KEY POINTS

หนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 4 ปี 2021 เพิ่มขึ้นแตะ 14.6 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวที่ 3.9%YOY
ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบ 6 ไตรมาส โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน (SFI)[1] และสถาบันการเงินอื่นมีการเติบโตในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่สินเชื่อจากสหกรณ์ออมทรัพย์และบริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล ขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า (ตารางที่ 1)

ตารางที่ 1 : หนี้ครัวเรือนไทยไตรมาส 4 ปี 2021 ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า

  สัดส่วน
Q4/2021
อัตราการเติบโตเฉลี่ย (%)
2015-19
อัตราการขยายตัวเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า (%YOY)
2020 2021 Q1/21 Q2/21 Q3/21 Q4/21
หนี้ครัวเรือน (แยกตามแหล่งผู้ให้กู้) 100.0% 3.9% 4.0% 4.7% 4.7% 5.1% 4.2% 3.9%
     ธนาคารพาณิชย์ 42.9% 4.1% 3.8% 4.9% 4.9% 6.0% 4.5% 4.0%
     สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน 28.0% 3.2% 5.2% 5.5% 5.5% 4.3% 3.6% 3.3%
     สหกรณ์ออมทรัพย์ 14.8% 3.5% 2.3% 2.2% 2.2% 2.4% 2.4% 2.5%
     บริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล 10.7% 4.2% 5.2% 5.6% 5.6% 7.7% 6.2% 6.4%
     โรงรับจำนำ 0.5% 4.0% -9.1% -2.2% -2.2% 0.4% 3.2% -0.1%
     สถาบันการเงินอื่น 3.0% 8.6% 4.1% 5.5% 5.5% 5.9% 8.3% 6.9%

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย

หากพิจารณาด้านประเภทสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ พบว่าการเติบโตของยอดคงค้างสินเชื่ออุปโภคบริโภคมีการชะลอลงในเกือบทุกประเภทผลิตภัณฑ์หลักยกเว้นบัตรเครดิต ท่ามกลางมาตรฐานการให้สินเชื่อภาคครัวเรือน
ในไตรมาส 4 ที่โดยรวมผ่อนคลายมากขึ้นจากแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด โดยในไตรมาส 4 ปี 2021 ยอดคงค้างของสินเชื่ออุปโภคบริโภคในระบบธนาคารพาณิชย์เติบโต 4.0%YOY ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกัน โดยสินเชื่อในประเภทหลัก ได้แก่ ยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยส่วนบุคคล และยานพาหนะ ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 95.4% ของยอดคงค้างสินเชื่ออุปโภคบริโภคในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด ล้วนมีการเติบโตในอัตราที่ชะลอลงทั้งสิ้น ในขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตพลิกกลับมาขยายตัวได้ 1.7% หลังจากที่หดตัว -0.8% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยยอดคงค้างของสินเชื่ออุปโภคบริโภคในระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 4 ปี 2021 ขยายตัวได้ในระดับที่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 ในทุกรายการ (ตารางที่ 2) ทั้งนี้ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงเป็นกลุ่มที่มีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดติดต่อกัน 3 ไตรมาส ส่งผลให้สินเชื่อส่วนบุคคลยังคงมีสัดส่วนใหญ่เป็นอันดับสอง

ตารางที่ 2 : สินเชื่ออุปโภคบริโภคในระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวชะลอลง ยกเว้นสินเชื่อบัตรเครดิตแต่การกู้สินเชื่อส่วนบุคคลยังเติบโตสูง

สัดส่วน
Q4/2021
อัตราการเติบโตเฉลี่ย (%)
2015-19
อัตราการขยายตัวเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า (%YOY)
2020 2021 Q1/21 Q2/21 Q3/21 Q4/21
สินเชื่ออุปโภคบริโภคในระบบธนาคารพาณิชย์ 100.0% 7.0% 4.4% 4.0% 5.3% 5.7% 4.2% 4.0%
สินเชื่อที่อยู่อาศัย 50.3% 7.0% 5.9% 4.4% 6.8% 6.8% 5.7% 4.4%
สินเชื่อส่วนบุคคล 22.7% 8.1% 4.8% 7.8% 5.9% 8.4% 8.2% 7.8%
สินเชื่อรถยนต์ 22.4% 6.1% 2.4% 0.1% 1.2% 1.0% 1.6% 0.1%
สินเชื่อบัตรเครดิต 4.6% 6.6% -2.1% 1.7% 6.6% 5.0% -0.8% 1.7%

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย

การเติบโตที่ยังอยู่ในระดับสูงของสินเชื่อส่วนบุคคลในระบบธนาคารพาณิชย์ และสินเชื่อจากบริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล ยังคงสะท้อนถึงแนวโน้มการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่ายทดแทนสภาพคล่องที่หายไปตามรายได้ที่ลดลงของภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดำเนินมาต่อเนื่องตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 สอดคล้องกับข้อมูล
จาก Google Trends ในส่วนของการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับ “เงินกู้” “เงินด่วน” ซึ่งอาจหมายความรวมถึงหนี้ทั้งใน
และนอกระบบ ที่ได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวทันทีในไตรมาส 2 ปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยล่าสุดแม้ดัชนีจะมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง แต่ปริมาณการค้นหาในไตรมาส 1 ปี 2022 ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อนโควิดอย่างมีนัย (รูปที่ 1) สะท้อนถึงความต้องการสินเชื่อของครัวเรือนเพื่อนำมาเป็นสภาพคล่องสำหรับการใช้จ่ายในช่วงที่รายได้ซบเซาและยังฟื้นตัวช้า ที่ยังอยู่ในระดับสูง

ปัจจัยเงินเฟ้อที่เร่งตัวในปี 2022 และรายได้ที่ฟื้นตัวช้าจากตลาดแรงงานที่ยังเปราะบางยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อภาระหนี้ครัวเรือนไทยซ้ำเติมกลุ่มผู้มีรายได้น้อย EIC คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2022 จะเร่งตัวสูงถึง 4.9% สูงสุดในรอบ 14 ปีจากปัจจัยสำคัญด้านราคาพลังงานและอาหาร โดยแม้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นหลังการเปิดเมือง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มทยอยกลับสู่ภาวะปกติและรายได้อาจปรับตัวดีขึ้น แต่ภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมายิ่งสร้างแรงกดดันต่อกำลังซื้อภาคครัวเรือนและความสามารถในการชำระหนี้ กล่าวคือ รายได้อาจเริ่มปรับตัวดีขึ้นแต่ในอัตราต่ำกว่าการเร่งตัวของรายจ่าย ทั้งนี้จากข้อมูลครึ่งปีแรกของปี 2021 พบว่าผลกระทบจากเงินเฟ้อที่มาจากราคาอาหารและพลังงานเป็นหลักจะส่งผลกระทบต่อครัวเรือนที่มีรายได้น้อยหนักกว่าโดยเปรียบเทียบ ราคาอาหารที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังรายจ่ายของครัวเรือน โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อย (ได้แก่ครัวเรือนในกลุ่ม 20% ที่มีรายได้ต่ำที่สุด) ที่มีสัดส่วนรายจ่ายด้านอาหารอยู่ที่ 41% ของรายจ่ายทั้งหมดและหากรวมรายจ่ายด้านพลังงานจะอยู่ที่ราว 50% ซึ่งสูงกว่าครัวเรือนกลุ่มอื่น ๆ โดยค่าเฉลี่ยของรายจ่ายด้านอาหารของครัวเรือนทั้งหมดอยู่ที่ 32% ของรายได้และหากรวมรายจ่ายด้านพลังงานจะอยู่ที่ราว 42% จะเห็นได้ว่าผลกระทบจากเงินเฟ้ออาจบั่นทอนกำลังซื้อของครัวเรือนรายได้น้อยมากกว่า และส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนรายได้น้อยอย่างหนักหน่วงกว่า ประกอบกับการที่ตลาดแรงงานยังคงมีความเปราะบางจากชั่วโมงการทำงานที่ลดต่ำลงมาก การไหลกลับของแรงงานไปในภาคเกษตร และแนวโน้มการทำงานอิสระที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้เกิดทั้งปัญหาระยะสั้นจากรายได้จากการทำงานลดต่ำกว่าเดิมค่อนข้างมาก และปัญหาระยะยาวจากจำนวนผู้ว่างงานระยะยาวที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการและการปรับทักษะของแรงงานลดลง ในภาวะที่ฐานะทางการเงินของธุรกิจ SMEs ยังคงเปราะบาง แนวโน้มดังกล่าวจะทำให้ค่าจ้างจากการทำงานมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ และไม่เพียงพอต่อการชดเชยค่าครองชีพ
ที่เร่งตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2021
 โดยรายได้ที่แท้จริง (หักเงินเฟ้อ) ของแรงงานทั่วประเทศทั้งปี 2021 เฉลี่ยปรับลดลง 0.7% โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครปรับลดลงถึงกว่า 10.3% อาจทำให้ครัวเรือนมีแนวโน้มต้องก่อหนี้เพิ่มเติมเพื่อชดเชยสภาพคล่องต่อเนื่องในระยะถัดไป

สำหรับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยในไตรมาส 4 ปี 2021 ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 90.1% จากการที่หนี้ครัวเรือนขยายตัวสูงกว่า GDP ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยไตรมาส 4 ปี 2021 หนี้ครัวเรือนของไทยขยายตัวที่ 1.6% จากไตรมาส 3 นำโดยการกู้ยืมเพื่อทดแทนสภาพคล่องที่ยังเติบโตสูงสะท้อนจากสินเชื่อส่วนบุคคลที่ยังเติบโตสูง ขณะที่ GDP ที่นำมาคำนวณสัดส่วนหนี้ครัวเรือน[2] ในช่วงดังกล่าวขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าที่ 1.1% ทำให้ตัวเลขสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ปรับตัวสูงขึ้นจาก 89.7% ในไตรมาส 3 มาอยู่ที่ 90.1% ในไตรมาส 4 เกินระดับ 90% เป็นครั้งแรกและถือว่าสูงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด (ณ สิ้นปี 2019 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่เพียง 79.8%) (รูปที่ 3) ขณะที่ไทยยังคงเป็นประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยจากข้อมูลของ Bank for International Settlements (BIS) ไทยเป็นประเทศที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามาตั้งแต่ปี 2011 จนถึงปัจจุบัน

 

EIC คาดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยปี 2022 ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงจากปี 2021 โดย EIC คาดว่าหนี้ครัวเรือนไทยในปี 2022 จะยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากแรงกดดันด้านราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ตลาดแรงงานอาจฟื้นตัวไม่ทันภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน รวมถึงอาจทำให้มีการก่อหนี้ใหม่เพิ่มเติมเพื่อชดเชยสภาพคล่อง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP
มีแนวโน้มที่จะยังทรงตัวในปีนี้แม้ว่าหนี้ครัวเรือนจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในด้านปริมาณ (Real GDP) และด้านของราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นจะทำให้ Nominal GDP (GDP ตามราคาปัจจุบัน) ยังขยายตัวสูงขึ้นในระดับที่ใกล้เคียงกับการขยายตัวของหนี้ครัวเรือน โดย EIC มองว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนมีโอกาสทรงตัวอยู่ในช่วง 89%-90% ต่อ GDP ในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 นี้ และจะทยอยปรับลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปีจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เริ่มทยอยดีขึ้นทั้งในด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวในช่วงหลังของปี และภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปีจากราคาพลังงานที่คาดว่าจะทยอยลดลง ทั้งนี้แม้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อาจไม่เพิ่มสูงขึ้น แต่ EIC มองว่าภาวะหนี้ครัวเรือนยังคงเปราะบางและน่ากังวล จากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ตลาดแรงงานที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ รวมถึงค่าแรงที่ครัวเรือนได้รับอาจเพิ่มขึ้นตามไม่ทันราคาสินค้าและบริการ

ในระยะต่อไปการช่วยเหลือจากภาครัฐยังคงจำเป็นในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยโดยยังจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข เนื่องจากภาระหนี้สูง
จะทำให้การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนมีข้อจำกัด สร้างแรงกดดันสำคัญต่อการบริโภคภาคเอกชนซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจของไทยในยามที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว ส่งผลต่อเนื่องให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า
ในระยะข้างหน้า แม้ที่ผ่านมาภาครัฐได้ออกมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการช่วยเหลือเพื่อพยุงสถานะทางการเงินของภาคครัวเรือนผ่านโครงการปรับโครงสร้างหนี้และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ แต่มาตรการที่ผ่านมายังเป็นเพียงมาตรการแก้ปัญหาในระยะสั้น ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การอุดหนุนด้านค่าใช้จ่ายหรือเพียงบรรเทาภาระการผ่อนชำระหนี้ต่อสถาบันการเงิน โดยภาครัฐควรมีมาตรการจัดการแบบยั่งยืนโดยมุ่งเน้นทั้งการจัดการหนี้ปัจจุบัน ลดการก่อหนี้ที่เกินตัวเพิ่มเติมในอนาคต รวมถึงการส่งเสริมในด้านรายได้และการจ้างงาน ซึ่งจะสนับสนุนความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนในปัจจุบันและในระยะข้างหน้า เช่น การส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในภาคธุรกิจ ผ่านการอุดหนุนการจ้างงาน เพื่อให้แรงงานมีรายได้ต่อเนื่อง และการมีนโยบายการเพิ่มรายได้ต่อหัวของประชากรในระยะยาวผ่านการปรับหรือเพิ่มทักษะ (Reskill-Upskill) แรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและเพื่อเพิ่มผลิตภาพ ที่จะส่งผลต่อโอกาสในการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น โดยควรเป็นความร่วมมือของทั้งเอกชนและภาครัฐ ในการกำหนดทักษะที่เป็นที่ต้องการ จัดหาแหล่งการเรียนรู้ที่เข้าถึงง่ายและเข้าถึงได้ตลอดเวลา และมีการรับรองทักษะ นอกจากนี้ ยังอาจสนับสนุนกลุ่มที่ยังขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่มีรายได้น้อยที่ขาดการแนะแนวทางการพัฒนาทักษะหรือไม่มีเวลาพัฒนาทักษะ โดยสำหรับกลุ่มนี้อาจจำเป็นต้องมีการชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากการปลีกเวลาเพื่อพัฒนาทักษะตามความเหมาะสมต่อไป

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp