มิติหุ้น-สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (ASPS) ในกลุ่มบริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASP ประเมินภาพรวมการลงทุนในช่วงไตรมาส 2 ปี 2565 โดยเชื่อว่าประเด็นความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ในเชิงสงครามทางกายภาพได้ถูกดูดซับไปในราคาหุ้นแล้ว ด้านความเสี่ยงจากสงครามทางเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายการเงินของ FED ยังที่เป็นสิ่งที่ต้องจับตา แต่กำไรบริษัทจดทะเบียนไทยปี 2565 และการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย จะทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความได้เปรียบเมื่อเทียบประเทศอื่นๆ โดย ASPS คงเป้าหมายดัชนีไว้ที่ 1810 จุด
คุณเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่ายังมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทย มองความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังมีอยู่แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าดัชนีตลาดหุ้นโลกรวมถึงไทยเราได้กลับมาสู่ก่อนจุดเกิดสงครามแล้วสะท้อนถึงนักลงทุนดูดซับต่อสงครามทางกายภาพไปแล้ว แต่สงครามทางเศรษฐกิจถือเป็นความเสี่ยงในระยะถัดไป โดยเฉพาะในฝั่งรัสเซียที่เป็นผู้ส่งออกพลังงานและวัตถุดิบตั้งต้นของหลายอุตสาหกรรม ซึ่งผลที่ตามมาจะกระทบต่อปริมาณการค้าโลกและเงินเฟ้อตามมา
ส่วนนโยบายการเงินของ FED เชื่อว่าจะเห็นการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยฯ ในการประชุมรอบถัดไปเดือน พ.ค. แต่สิ่งที่ให้น้ำหนักมากกว่าการส่งสัญญาณการปรับลดขนาดงบดุลที่ถือเป็นการดึงสภาพคล่องออกจากระบบ จากปัจจุบันขนาดงบดุลของ FED อยู่ในระดับสูงถึง 9 ล้านล้านเหรียญฯหรือคิดเป็นสัดส่วน 38.8% ต่อ GDP สหรัฐฯ หากส่งสัญญาณการปรับเร็วจนเกินไปอาจสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้น แต่อย่างไรก็ตามความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยที่จำกัดโอกาสการเร่งดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของ FED ในระดับหนึ่ง
คุณเทิดศักดิ์ กล่าวต่อว่า “หนึ่งในสัญญาณที่สะท้อนความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯในระยะถัดไปคือการเกิด Inverted Yield ในตลาดตราสารหนี้สหรัฐฯอายุ 2 และ 10 ปี ที่ในอดีตที่ผ่านมามักจะเป็นการชี้นำต่อการเข้าสู่ภาวะ Recession ในช่วง 9-14 เดือนข้างหน้า ซึ่งหากเกิดขึ้นมักจะสร้างความผันผวนต่อสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ แต่อย่างไรก็ตามในตลาดตราหนี้ไทยยังไม่เกิดภาวะดังกล่าว ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ในภาวะฟื้นตัวโดยเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยฯยังอยู่ในระดับต่ำจนถึงปลายปีทำให้แรงกดดันจะเป็นแค่ช่วงสั้นๆ”
ด้านภาพรวมกำไรบริษัทจดทะเบียนไทยปี 2565 ยังมีความได้เปรียบประเทศอื่นๆ จากหลาย Sector ที่คาดว่าจะฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำและยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากราคาน้ำมันที่ยืนในระดับสูงกว่าปกติ หนุน EPS65F มี Upside ส่วนเพิ่มราว 4 ถึง 5 บาท/หุ้น โดยฝ่ายวิจัยประเมิน EPS65F ไว้ที่ 88.9 บาท/หุ้น
หากพิจารณามุม Valuation ถือว่าน่าสนใจเพราะอยู่บนระดับ Market Earning Yield Gap (MEYG) ที่ 4.6% (สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต) ซึ่งถือว่าสูงกว่าตลาดหุ้นโลก ถือเป็นจุดดึงดูด Fund Flow ทั้งในและต่างประเทศ โดยคาดการณ์ทิศทาง SET Index เดือน เม.ย. 65 แกว่งในกรอบ 1660-1750 จุด พร้อมคงเป้า SET Index ณ สิ้นปี 65 ที่ 1810 จุด
กลยุทธ์ แนะนำสะสมหุ้นฟื้นตัวตามเศรษฐกิจในประเทศ MAJOR, AEONTS หุ้นได้แรงหนุนจากต้นทุนอิงตามราคา Commodity เริ่มชะลอลง GPSC, SAPPE และหุ้นขนาดใหญ่พื้นฐานแข็งแกร่ง SCC, LH
โอกาสและช่องทางการลงทุนในเวียดนาม
คุณกฤตยภรณ์ ธาดาสีห์ หัวหน้าฝ่ายลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ บล.เอเซีย พลัส มองว่า หากมองถึงโอกาสการลงทุนที่เติบโตได้ดีในอาเซียน เวียดนามถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวได้ 6-7% ต่อปี สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค แม้ว่าช่วงปี 2020 หลายๆ ประเทศได้รับผลกระทบเชิงลบจาก Covid-19 ส่งผลให้ GDP หดตัว ทั้งนี้ ในช่วงขณะเดียวกัน เศรษฐกิจเวียดนามแข็งแกร่งขยายตัวได้ 2.9% ซึ่งปัจจัยหลักที่สนับสนุนให้เวียดนามโตนั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่จำนวนประชากรเกือบร้อยล้านคน อายุน้อย เป็นวัยแรงงานและวัยบริโภค ช่วยเสริมภาคการบริโภคจำเป็นและฟุ่มเฟือยให้เติบโตได้ในระยะยาว
รวมถึงเวียดนามยังถือเป็นแหล่งการผลิตชั้นดี แรงงานมีประสิทธิภาพและค่าแรงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างถูก ประกอบกับ เวียดนามได้เข้าร่วมเขตการค้าเสรีมากมาย ส่งผลให้เหล่าแบรนด์ดังระดับโลกต่างตบเท้าเข้ามาลงทุนและตั้งฐานการผลิตที่เวียดนาม ไม่ว่าจะเป็น Apple Samsung หรือ Nike ก็ตาม
ในด้านของตลาดหุ้น ตลาดหุ้นเวียดนามมีลักษณะคล้ายกับตลาดหุ้นไทยในเชิงของกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก เช่น กลุ่มอสังหาฯ กลุ่มบริโภค และกลุ่มธนาคารและการเงิน ในด้านของผลตอบแทน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ดัชนีหลักของเวียดนามอย่าง VNindex ปรับตัวขึ้น 109% สูงกว่าดัชนีหุ้นโลกที่ปรับตัวขึ้น 58%
สำหรับนักลงทุนที่อาจจะยังไม่เคยลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามมาก่อน การลงทุนที่เรียกได้ว่าง่ายและสะดวกคือการลงทุนผ่าน ETF ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นโฮจิมินห์ หากต้องการลงทุนยาวล้อไปกับเศรษฐกิจเวียดนาม การลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ล้อไปกับดัชนี VN 30 (คล้ายกับดัชนี SET 50 ของไทย) ถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสม โดยเป็นการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูง 30 ตัวแรก และเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจที่นักลงทุนไทยคุ้นเคย เช่น ธนาคาร อสังหาฯ อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น
เตรียมตัวปรับพอร์ตรับความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
คุณภาดร สุขสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์การลงทุนและผลิตภัณฑ์ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า “อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ณ ปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากการใช้นโยบาย “Zero-Covid” ของประเทศจีน ที่ประกาศปิดเมืองในบางหัวเมืองเป็นระยะตลอดช่วงไตรมาส 1 และจากสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยทำให้มีการคาดการณ์ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในรอบนี้จะมีการปรับขึ้นในระดับที่เร็วกว่ารอบเศรษฐกิจที่ผ่านๆ มา เราจึงมองว่า เศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ช่วงปลายวัฎจักร แม้ว่าเศรษฐกิจยังคงเติบโตอยู่ แต่จะเติบโตในอัตราที่ช้าลง”
ดังนั้น จึงแนะนำให้เลือกลงทุนใน หุ้นกลุ่มคุณภาพขนาดใหญ่ (Quality Growth) ที่มีกำไรเติบโตต่อเนื่อง งบการเงินแข็งแกร่ง กองทุนแนะนำ MGFGA, KKP GNP-H และ TMBGQG และรวมไปถึง หุ้นกลุ่มปลอดภัย (Defensive) ที่มักทำผลตอบแทนได้ดีในช่วงปลายวักฎจักรเศรษฐกิจ เช่น SCBPGF และ KFHHCARE-A
🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้