วิเคราะห์ตลาดโทรคมนาคมไทย ตลาดค้าเสรีโทรคมนาคมไทย ผู้เล่นต้องทัดเทียม-ทั้งเงินทุน-ลูกค้า

254

มิติหุ้น – การแสสังคมการตลาด กำลังจับตาวิเคราะห์มองภาพตลาดโทรคมนาคมไทยในอนาคตที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว…โดยเฉพาะผู้บริโภคจะได้ประโยชน์สูงสุดจากตลาดผู้เล่นน้อยรายแบบใด?…ทั้งด้านราคา และคุณภาพ ระหว่าง 1.ตลาดแบบผู้นำเดี่ยว 2.ตลาดแบบผู้นำทัดเทียม

แหล่งข่าวจากวงการนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เปิดเผยว่า ท่ามกลางกระแสข่าวควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างสองค่ายมือถือ เบอร์สอง ‘ทรู’ สังกัดเครือซีพี และเบอร์สาม ’ดีแทค’ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.

หลายคนมีความกังวลเกี่ยวกับประเด็นการผูกขาด เนื่องจากคาดหวังให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยเป็นตลาดในอุดมคติ ที่มีการแข่งขันสมบูรณ์ คือมีผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมาก โดยไม่มีผู้ซื้อหรือผู้ขายรายใดมีอิทธิพลต่อการกำหนดราคา (Non-Dominant Market) เพราะเชื่อว่า ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์สูงสุดทั้งด้านราคา และคุณภาพ

แต่ในความเป็นจริง อุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทยไม่ได้ถูกออกแบบมาเช่นนั้น เนื่องจากประเทศไทยมีการประมูลใบอนุญาตจัดสรรคลื่นความถี่ที่มีราคาแพงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทะลุแสนล้านบาท ส่งผลให้ต้นทุนในการประกอบธุรกิจสูงมาก

ขณะที่อายุขัยของเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จาก 2G – 3G – 4G สู่ 5G ระยะเวลาการคืนทุนจึงไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง สภาพโดยธรรมชาติของธุรกิจโทรคมนาคมจึงต้องการผู้แข่งขันในตลาด ที่มีกำลังทรัพย์ในการลงทุนสูงและสามารถแบกรับความเสี่ยงได้มากและยาวนาน จึงทำให้ตลาดโทรคมนาคมไทยมีผู้เล่นน้อยราย

และที่สำคัญคือแม้จะมีผู้ให้บริการน้อยรายแต่การแข่งขันค่อนข้างรุนแรง จึงไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ทั้งนี้ เพราะการแข่งขันกันในตลาดผู้ขายน้อยรายมีความเข้มข้น ดุเดือด และรุนแรงมากขึ้นทุกที

ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ประเทศไทยที่เป็นตลาดผู้เล่นน้อยราย อุตสาหกรรมโทรคมนาคมในหลายประเทศทั่วโลกก็มีผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายหลักเพียง 2-3 รายเช่นกัน ขณะที่การแข่งขันด้านการให้บริการโทรคมนาคมของไทยเป็นอย่างเข้มข้น เนื่องจากค่าบริการ ทั้งค่าโทรและค่าเน็ต มีราคาถูกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ไม่สัมพันธ์กับต้นทุนที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเช่นกัน ทำให้ขนาดส่วนแบ่งตลาดในด้านมูลค่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยต้องให้รายได้ชนะต้นทุนที่สูงลิ่ว

ดังนั้น หากผู้เล่นในตลาดไม่สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดได้ใหญ่พอ ก็จะไม่สามารถมีรายได้ที่ครอบคลุมกับต้นทุนที่สูงขึ้น จะต้องออกจากตลาดไปในที่สุด ด้วยเหตุนี้ในหลายประเทศจึงพยายามส่งเสริมการแข่งขันที่ใกล้เคียงกันของผู้เล่นในตลาด เพื่อรักษาสภาพการแข่งขัน มิใช่ ให้ตลาดมีผู้นำเดี่ยวในด้านผลกำไรจากการดำเนินการที่ได้เปรียบจากส่วนแบ่งมูลค่าตลาดอยู่เสมอ ตลาดในอุดมคติที่มีการแข่งขันสมบูรณ์มีความเป็นไปได้ในหลายอุตสาหกรรม แต่สำหรับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั่วโลกจึงอาจเป็นข้อยกเว้น

ตลาดผู้ขายน้อยราย คือ ตลาดที่มีผู้ขายหรือผู้ประกอบการตั้งแต่สองรายขึ้นไป ปริมาณสินค้าของผู้ขายแต่ละรายมีสัดส่วนค่อนข้างมาก ส่วนสินค้าในตลาดอาจมีลักษณะคล้ายกันหรือต่างกัน แต่สามารถใช้ทดแทนกันได้ เช่น ตลาดผลิตปูนซีเมนต์ รถยนต์ ยางรถยนต์ เหล็กกล้า เหมืองแร่ และ น้ำอัดลม ที่หลายตลาดมีผู้เล่นน้อยราย แต่การแข่งขันยังคงสูงลิ่ว ตัวอย่าง โคคาโคล่ากับเป๊ปซี่ ไมโครซอฟท์กับแอปเปิ้ล Canon กับ Nikon และ Visa กับ MasterCard ล้วนยากที่จะบอกว่าแบรนด์ไหนดีกว่ากัน เพราะเป็นคู่แบรนด์ที่ฟาดฟันกันชนิดหายใจรดต้นคอ

เมื่อตลาดเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว (Market Saturation) นั่นหมายถึง ผู้นำตลาดที่ครองส่วนแบ่งรายได้มากที่สุด จะมีบทบาทอย่างมากในการกำหนดทิศทางของตลาด สำหรับผู้นำเดี่ยวในตลาดสามารถเปลี่ยนแปลงปัจจัยการผลิตและขนาดการผลิตได้ เนื่องจากมีกำไรสะสมมาก มี Economy of Scale ทำให้ผู้แข่งขันที่เหลือไม่สามารถรับภาวะการณ์ขาดทุนได้ หรือ อุตสาหกรรมที่ต้องลงทุนสูง

ในขณะที่ทางด้านคู่แข่งขันไม่สามารถรับการลงทุนมูลค่าสูงๆ ได้ ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในด้านขนาดและทุนของบริษัท ตลาดที่ผู้แข่งขันน้อยราย จึงไม่สามาถแข่งขันกับผู้นำเดี่ยวได้ ซึ่งตลาดที่มีผู้เล่นน้อยราย แบ่งออกได้เป็นสองกรณีหลักๆ คือ 1 มีผู้นำเดี่ยว 2. มีผู้นำทัดเทียม 2 ราย

กรณีที่ 1: ตลาดที่มีผู้นำเดี่ยวจะมีอำนาจเสมือนการผูกขาด เนื่องจากผู้แข่งขันอีก 2-3 รายที่เหลือ ไม่สามารถรักษาส่วนแบ่งมูลค่าตลาดได้

การมีอำนาจเสมือนการผูกขาด ก็คือ ตลาดที่มีผู้แข่งขันน้อยราย โดยมีผู้เล่นที่มีความได้เปรียบมากที่สุด ทั้งในด้านจำนวนลูกค้าและส่วนแบ่งมูลค่าตลาด เพียง 1 ราย ซึ่งคู่แข่งรายที่เหลือแข่งขันด้วยได้ยาก ผู้ขายที่เป็นผู้นำเดี่ยวจึงมีอำนาจในการกำหนดราคา สินค้าหรือปริมาณผลผลิตได้ตามต้องการ หรือเรียกว่า ‘Price Maker’

กรณีที่ 2: ตลาดที่มีผู้นำทัดเทียม 2 ราย คือ ตลาดที่มีผู้เล่นน้อยราย แต่มีผู้เล่นรายหลักที่มีศักยภาพใกล้เคียงกัน ทั้งด้านเงินทุน และส่วนแบ่งมูลค่าการตลาด ทำให้มีกำลังในการเพิ่มทุน เพิ่มทรัพยากร สำหรับทำการแข่งขันได้อย่างทัดเทียมกัน ซึ่งส่งผลดีต่อผู้บริโภคที่จะได้ประโยชน์จากการแข่งขันของผู้เล่นทั้งสองราย ในการนำเสนอสินค้า และบริการที่มีการแข่งขันกันทั้งด้านคุณภาพและราคา ที่ไม่มีรายใดที่จะได้เปรียบหรือทิ้งอีกรายหนึ่งได้ไกล จึงส่งผลให้ตลาดเข้าสู่ภาวะสมดุลได้จริง

กล่าวโดยสรุป จากตัวอย่างของตลาดที่มีผู้นำทัดเทียมกัน 2 ราย ที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่า โลกการค้าเสรีโทรคมนาคมการแข่งขันไม่ได้ลดลงเลย ตรงกันข้ามยิ่งทำให้เกิดการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง ต่างงัดกลยุทธ์มาครองใจลูกค้า ต่างฝ่ายไม่สามารถชะลอหรือหยุดนิ่งได้ เพื่อรักษาส่วนแบ่งมูลค่าการตลาดและการแย่งชิงลูกค้ามาใช้บริการให้มากที่สุด

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp