ครม. เห็นชอบ “ในหลักการ” พร้อมเผยรายละเอียดมาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงาน

53

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติที่สำคัญ ดังนี้  

  1. เห็นชอบ “ในหลักการ” มาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานอันเนื่องมาจากปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป โดยมาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย

2.1) ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) 

การดำเนินการ: การกำหนดราคาขายปลีกราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ในเดือน เม.ย. เท่ากับ 333 บาทต่อถัง (ขนาด 15 กิโลกรัม) เดือน พ.ค. เท่ากับ 348 บาทต่อถัง และเดือน มิ.ย. เท่ากับ 363 บาทต่อถัง

วงเงินงบประมาณ: จากการประมาณการแนวโน้มราคา LPG ในตลาดโลกในช่วงดังกล่าว คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 6,380 ล้านบาท ซึ่งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเป็นผู้บริหารจัดการ

ระยะเวลาในการดำเนินการ: เดือน เม.ย.- มิ.ย. 2022

2.2) ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) สำหรับกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั่วไป  

การดำเนินการ: การให้ส่วนลดสำหรับซื้อก๊าซ LPG เพิ่มเติมอีก จำนวน 55 บาท ต่อ 3 เดือน (รวมเป็น 100 บาทต่อ 3 เดือน)

วงเงินงบประมาณ: คาดว่าจะทำให้ภาครัฐมีภาระค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 200 ล้านบาท โดยในเบื้องต้นจะใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ FY2022 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

ระยะเวลาในการดำเนินการ: เดือน เม.ย.-มิ.ย. 2022

กลุ่มเป้าหมาย: คาดมีผู้ใช้สิทธิ์ประมาณ 3.63 ล้านคน (ปัจจุบันผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีจำนวนประมาณ 13.5 ล้านคน โดยมีผู้ใช้สิทธิ์ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 45 บาท/คน/3 เดือน จำนวนประมาณ 3.0 ล้านคน)

2.3) ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) สำหรับกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั่วไปที่เป็นผู้ค้าหาบเร่แผงลอย

การดำเนินการ: การขอความร่วมมือจาก บมจ. ปตท. ในการให้ส่วนลดสำหรับซื้อก๊าซ LPG ไม่เกิน 100 บาทต่อรายต่อเดือน

วงเงินงบประมาณ: คาดว่าตามแนวทางดังกล่าวจะทำให้มีค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 1.65 ล้านบาท

ระยะเวลาในการดำเนินการ: เดือน เม.ย.-มิ.ย. 2022

กลุ่มเป้าหมาย: กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั่วไปที่เป็นผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ได้ลงทะเบียนกับ บมจ. ปตท.

2.4) ราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (NGV)

การดำเนินการ: ตรึงราคาขายปลีก NGV ในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. เท่ากับ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม โดยขอความร่วมมือจาก บมจ. ปตท.

วงเงินงบประมาณ: จากการประมาณการแนวโน้มราคาก๊าซ NGV ในช่วงดังกล่าว คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,590 ล้านบาท

ระยะเวลาในการดำเนินการ: เดือน เม.ย.-มิ.ย. 2022

2.5) ราคาค่าไฟฟ้า 

การดำเนินการ: การให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft)  ลง 22 สตางค์ต่อหน่วย ให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน

วงเงินงบประมาณ: จากการประมาณการแนวโน้มความต้องการไฟฟ้า ราคาค่าเชื้อเพลิงและอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงดังกล่าว คาดว่าจะทำให้ภาครัฐมีภาระค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 2,000 – 3,500 ล้านบาท โดยในเบื้องต้นจะใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ FY2022 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

ระยะเวลาในการดำเนินการ: เดือน พ.ค.-ส.ค. 2022

2.6) ราคาน้ำมันดีเซล  

การดำเนินการ: การบริหารราคาน้ำมันดีเซลโดยใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและภาษีสรรพสามิต โดยตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย. หลังจากนั้นในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย. ในกรณีที่ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศยังคงสูงเกินกว่าราคาที่กำหนดไว้ รัฐจะอุดหนุนราคาส่วนเพิ่มครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50)

วงเงินงบประมาณ: จากการประมาณการราคาน้ำมันดีเซลในตลาดเอเชียในช่วงเวลาดังกล่าวคาดว่าจะมีราคาเฉลี่ยประมาณ 115 – 135 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งคาดว่าภาครัฐจะมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการราคาน้ำมันดีเซล รวมประมาณ 33,140 ล้านบาท

ระยะเวลาในการดำเนินการ: เดือน เม.ย.-มิ.ย. 2022

2.7) ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 

การดำเนินการ: ให้ส่วนลดแก่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ (รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง) ที่มีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะที่จดทะเบียนเป็นผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างกับกรมการขนส่งทางบก จำนวน 5 บาทต่อลิตร ไม่เกิน 250 บาทต่อคนต่อเดือน

วงเงินงบประมาณ: จากการประมาณการค่าใช้จ่ายตามแนวทางดังกล่าว จะทำให้ภาครัฐมีภาระค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 120 ล้านบาท โดยในเบื้องต้นจะใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ FY2022 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

ระยะเวลาในการดำเนินการ: เดือน พ.ค.-ก.ค. 2022

กลุ่มเป้าหมาย: ประมาณ 157,000 ราย

2.8) ราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) 

การดำเนินการ: การขอความร่วมมือจาก บมจ.ปตท. สำหรับผู้ขับขี่รถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) ที่ลงทะเบียนภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกันให้สามารถซื้อก๊าซ NGV ในอัตรา 13.62 บาทต่อ กก. วงเงินไม่เกิน 10,000 บาท ต่อเดือน

วงเงินงบประมาณ: จากการประมาณการแนวโน้มราคาก๊าซ NGV ในช่วงดังกล่าวจะทำให้ บมจ.ปตท. จะมีภาระค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 171 ล้านบาท

ระยะเวลาในการดำเนินการ: เดือน เม.ย.-มิ.ย. 2022

กลุ่มเป้าหมาย: 17,460 ราย

2.9) อัตราเงินสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้ประกันตน 

นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33: กำหนดให้มีการลดอัตราเงินสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้ประกันตนจากเดิมฝ่ายละ 5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน เหลือฝ่ายละ 1% ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับงวดค่าจ้างเดือน พ.ค. -ก.ค.

ผู้ประกันตนตามมาตรา 39: กำหนดให้มีการลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตามมาตรา 39 จากเดิมร้อยละ 9 ของฐานค่าจ้าง 4,800 บาท (เดือนละประมาณ 432 บาท) เหลือร้อยละ 1.90 ของค่าจ้าง 4,800 บาท (เดือนละ 91 บาท) สำหรับงวดค่าจ้างเดือน พ.ค.-ก.ค.

ทั้งนี้ การดำเนินการเบื้องต้นตามแนวทางดังกล่าวจะทำให้กองทุนประกันสังคมมีรายรับจากเงินสมทบกองทุนประกันสังคมลดลงประมาณ 33,857 ล้านบาท สำหรับมาตรการของผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39

2.10) ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 โดยกำหนดให้มีการลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตามมาตรา 40 จากเดิม 70-300 บาทต่อเดือน เป็น 42-180 บาทต่อเดือน (แล้วแต่กรณี) จำนวน 6 เดือน สำหรับงวดค่าจ้างเดือน ก.พ.-ก.ค. 2022 

ทั้งนี้ การดำเนินการเบื้องต้นตามแนวทางดังกล่าวจะทำให้กองทุนประกันสังคมมีรายรับจากเงินสมทบกองทุนประกันสังคมลดลงประมาณลดลงประมาณ 1,367 ล้านบาท สำหรับมาตรการของผู้ประกันตนมาตรา 40

นอกจากนี้ ครม. จะพิจารณามาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะต่อไป โดยจะมุ่งพิจารณาให้ความช่วยเหลือการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนและผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานอันเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรปในลักษณะมุ่งเป้าได้ (ที่มา: Thaipublica, Royal Thai Government)

Our take: จากปัญหาราคาพลังงานในตลาดโลกที่สูงขึ้นที่ส่งผลอย่างมีนัยยะต่อราคาพลังงานในประเทศ ประกอบกับรัฐบาลมีแผนที่จะยุติการตรึงราคาดีเซลแบบเต็มที่ (ให้ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร) ภายในสิ้นเดือน เม.ย. (ก่อนที่จะปรับมาเป็นช่วยอุดหนุนในส่วนที่ราคาเพิ่มขึ้นเพียงครึ่งหนึ่ง ซึ่งการขนส่งทางบกกว่า 61% ใช้น้ำมันดีเซลเป็นหลัก) ดังนั้น เราคาดว่าเงินเฟ้อน่าจะเกินกรอบบนเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. ในปีนี้ (คาด 4.8% vs. กรอบนเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 3%)

อย่างไรก็ดี เรายังคงมุมมองในกรณีฐานว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมในการประชุมวันนี้ (30 มี.ค.) และตลอดช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ หากเงินเฟ้อไม่ได้เร่งตัวขึ้นอย่างมั่นคงยาวนาน กล่าวคือ เรามองว่า ธปท. น่าจะเลือกให้น้ำหนักกับเป้าหมายเงินเฟ้อในระยะ “ปานกลาง” แทนการมองเป้าหมายเพียงแค่ปีนี้ (โดยเราคาดว่าเงินเฟ้อจะชะลอลงกลับมาอยู่ต่ำกว่าระดับกรอบบนที่ 3% ในปีหน้า)

นอกจากนี้ เราเห็นธนาคารกลางอย่าง Fed และ ECB ได้ประเมินพลวัตรของเงินเฟ้อและมีความอดทนต่อการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่เกินเป้าหมายที่ 2% ไปสักระยะหนึ่ง (ราว 1 ปี) ก่อนที่จะตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก (หรือคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก) ขณะที่ในตอนนี้เงินเฟ้อของไทยได้อยู่สูงเกินกว่ากรอบเป้าหมายเป็นระยะเวลาเพียง 2 เดือน

อีกทั้งเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังต่ำกว่าระดับก่อนเกิด COVID-19 (โดยภาคการท่องเที่ยวยังคงอ่อนแอมากที่สุดในการฟื้นตัว) และในอดีต ธปท. จะเลือกปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งในระดับหนึ่ง นั่นคือในช่วงที่เศรษฐกิจกลับมายืนเหนือแนวโน้มได้ (Output gap เป็นบวก) ซึ่งคาดว่าจะยังไม่ได้เห็นในปีนี้

นอกจากนี้ ธปท. อาจรอประเมินภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อหลังมาตรการลดเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF ครบอายุ ณ สิ้นปีนี้ (ซึ่งจะทำให้ MLR ถูกปรับเพิ่มกลับขึ้นมา 40bps หรืออาจเทียบเท่ากับการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ~75bps หาก ธปท. ไม่ขยายระยะเวลาหรือหากธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ช่วยแบกรับต้นทุนในส่วนนี้) ก่อนตัดสินใจส่งสัญญาณถึงการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินในระยะต่อไป (เราคาดว่ามีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 50bps ในปีหน้า)

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp