ประมูลสายสีส้มถนนโล่ง! – หลัง รฟม.โม่แป้งสายสีม่วงใต้ฉลุย – จับตาแผนดึง ITD-ST แยกวงกลุ่ม BSR เปิดทาง CK-BEM กินรวบ!

273

วงการรับเหมาชี้ผลประมูลรถไฟฟ้า สายสีม่วงใต้ ไม่ผิดไปจากโผ หลัง รฟม.แบ่งเค้กรับเหมาลงตัว เตรียมปัดฝุ่นรถไฟฟ้าสายสีส้มลุยกำถั่วต่อภายใต้เกณฑ์เดียวกัน แต่หมกเม็ดตั้งเงื่อนไขตีกันต่างชาติเข้าประมูลสุดลิ่ม อ้างต้องมีผลงานสร้างอุโมงค์ใต้ดิน แถมดึง ITD-ST แยกวงกลุ่ม BSR เปิดทาง CK-BEM กินรวบ!

หลังจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประสบผลสำเร็จในการประกวดราคาก่อสร้างรถไฟฟ้า สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) จำนวน 6 สัญญา วงเงิน 82,000 ล้านบาท และเตรียมที่จะปัดฝุ่นโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ล่าช้ามากว่า 2 ปี มาดำเนินการประมูลต่อเนื่องในทันทีนั้น

แบ่งเค้กรับเหมาลงตัว!

แหล่งข่าวในวงการรับเหมาเปิดเผยว่า ผลการประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ที่ออกมา ไม่ได้ผิดไปจากคาดการณ์ของวงการรับเหมาก่อนหน้าแต่อย่างใด เพราะแม้ รฟม.จะอ้างว่าเป็นการประกวดราคานานาชาติ (International Competition Bidding : ICB) แต่เนื้อแท้ของการประมูลไม่ได้เป็นการประมูลนานาชาติแต่อย่างใด เพราะมีการกำหนดเงื่อนไขบริษัทรับเหมาที่จะเจ้าประมูลต้องผลงานก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินที่เป็น Local content กับทางการไทย และต้องเป็นผลงานที่ผ่านการตรวจรับจากคณะกรรมการตรวจรับเรียบร้อยแล้วเท่านั้น จึงทำให้มีผู้รับเหมาที่ผ่านเกณฑ์เพียง 3-4 รายเท่านั้น หลายรายต้องไปร่วมประมูลกับรายอื่น แต่ละสัญญาจึงมีกลุ่มรับเหมาเข้าประมูลเพียง 2-3 รายเท่านั้น ซึ่งก็ล้วนเป็นหน้าเดิมที่ “มองตาก็รู้ใจ” ทั้งสิ้น

เหตุนี้ ผลการประมูลที่ได้จึงไม่ผิดไปจากที่มีการฟันธงไปก่อนหน้า โดยกลุ่ม ITD ได้ไป 3 สัญญา 31,840.61 ล้านบาท กลุ่ม CK-ST (ช.การช่าง-ซิโนไทย) ได้ไป 2 สัญญาวงเงิน 35,313 ล้านบาท และยูนิค 1 สัญญา 14,982 ล้านบาท รวมทั้งโครงการต่ำกว่าราคากลางไปเพียง 157.94 ล้านบาท หรือ 0.19% ซึ่งเมื่อเทียบกับการประมูลรถไฟทางคู่ 2 สายทาง คือ ทางคู่ สายเหนือและสายอีสาน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก่อนหน้านี้ ที่มีวงเงินก่อสร้างรวม 128,378 ล้านบาท โดยแบ่งเนื้องานออกเป็น 5 สัญญา และมีกลุ่มทุนรับเหมาเข้าร่วมประมูล 4-5 ราย เช่นกันนั้น ผลประมูลที่ได้ก็ต่ำกว่าราคากลางไปเพียง ”เส้นยาแดงผ่าแปด” 106 ล้านบาท หรือ 0.08% เท่านั้น

จ่อใช้เป็นโมเดลประมูลสายสีส้ม

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า เชื่อแน่ว่า รฟม. จะนำเอา “โมเดล” นี้ไปใช้กับการประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม) ที่จะพ่วงการประมูลหาเอกชนเข้ามาบริหารจัดการเดินรถไปพร้อมกัน โดยมีวงเงินดำเนินการสูงกว่า 142,700 ล้านบาท ที่ รฟม. ได้เปิดประมูลโครงการไปตั้งแต่กลางปี 2563 แต่ต้องล้มประมูลลงไป เพราะถูกร้องเรียนและฟ้องร้องจากบริษัทารับเหมาเอกชนที่เห็นว่า มีการแก้ไขเกณฑ์ประมูลที่ไม่เป็นไปตาม TOR

ล่าสุด มีความชัดเจนแล้วว่า รฟม. จะปัดฝุ่นโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มาดำเนินการภายในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยการประมูลรอบใหม่ แม้ รฟม.จะยอมกลับไปใช้เกณฑ์ประมูลตามปกติที่ชี้ขาดกันด้วยข้อเสนอด้านราคา (Price Only) แต่จะเพิ่มดีกรีความเข้มงวดด้านเทคนิด กำหนดเงื่อนไขให้ต้องมีผลงานก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน (Local Content) โดยต้องเป็นผลงานก่อสร้างที่เปิดให้บริการแล้ว จึงจะมีสิทธิ์เข้ายื่นข้อเสนอได้ และยังกำหนดให้บริษัทรับเหมาที่จะเข้าประมูลได้ต้องผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคเกิน 85% ทำให้มีกลุ่มรับเหมาในประเทศที่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าวเหลืออยู่เพียง 2 รายเท่านั้น คือ กลุ่ม CK และ ITD

แฉปาหี่จัดประมูลนานาชาติ!

“จะเรียกว่าเป็นการประมูลนานาชาติได้อย่างไร ในเมื่อหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดให้ผู้รับเหมาที่จะเข้าประมูล ต้องมีผลงานก่อสร้างอุโมงค์ภายในประเทศที่เปิดให้บริการแล้ว ซึ่งเป็นเกณฑ์ Local content นั้น เป็นเงื่อนไขตีกันบริษัทรับเหมาต่างชาติชัดเจน

จะอ้างว่า เพื่อให้ได้ผู้รับเหมาที่มีศักยภาพ มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเพื่อเป็นหลักประกันความสำเร็จในการก่อสร้าง ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะในการประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายหัวลำโพง-บางแค ก่อนหน้านี้ รฟม. ก็จัดประมูลด้วยเกณฑ์ปกติ และไม่มีข้อกำหนดในเรื่องผลงานก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินที่ว่านี้ แต่การก่อสร้างก็สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ผู้รับเหมาเอกชนที่ไม่ได้มีประสบการณ์ก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินในเวลานั้น ยังคงสามารถก่อสร้างได้ตามแผน

แล้วเหตุใดครั้งนี้ ถึงจะกำหนดเงื่อนไขเหล่านี้ขึ้นมา เป็นการกำหนดเงื่อนไขด้านเทคนิดเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนบางรายหรือไม่”

เดินแผนลึกโดดเดี่ยว BSR

ขณะเดียวกัน มีรายงานด้วยว่า การประมูลในครั้งใหม่ที่จะมีขึ้น ผู้บริหาร รฟม.ที่คุมเกมการประมูลมีการเดินเกมเพื่อสกัดกั้นคู่แข่ง เพื่อหวังประเคนโครงการให้กับกลุ่มทุนรับเหมาที่ใกล้ชิด โดยได้เจรจากับกลุ่มทุนรับเหมายักษ์ที่จะเข้าร่วมประมูล ทั้ง ITD และกลุ่ม ST เพื่อให้แยกตัวออกมายื่นประมูลโดยตรง ทำให้กลุ่ม BSR ที่มีบริษัท บีทีเอส BTS เป็นแกนนำ และมีบริษัท ST เป็นพันธมิตรอยู่ด้วยถูกโดดเดี่ยว และต้องแสวงหาพันธมิตรรายใหม่ภายในระยะเวลาอันจำกัด

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า BTS จะดึงบริษัทรับเหมาจากต่างประเทศรายใดเข้ามาในห้วงเวลานี้ ก็ยากจะผ่านเกณฑ์และเงื่อนไข Local content ที่กำหนดให้ต้องมีผลงานก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินกับรัฐบาลไทยได้ ทำให้โอกาสที่กลุ่มดังกล่าวจะถูกพิจารณาตัดสิทธิ์มีสูง ทำให้สุดท้ายแล้วโครงการนี้ กลุ่ม CK-BEM น่าจะชนะประมูลตั้งแต่ในมุ้ง

“ต่อให้เอาบริษัทรับเหมาจากจีน อย่างไชน่าเรลเวย์ที่มีประสบการณ์ก่อสร้างรถไฟตวามเร็วสูง ไทย-จีน เข้ามาร่วมก็จะถูกพิจารณาตัดสิทธิ์ไม่ผ่านข้อเสนอด้านเทคนิคอยู่ดี เพราะรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ไม่มีมีการก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินจึงไม่ผ่านเงื่อนไขที่ว่านี้”

ที่มา : http://www.natethip.com/news.php?id=4910

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp